Advertisement
พระราชวังจันทร์ พิษณุโลก
พระราชวังจันทร์ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิษณุโลก บนฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระราชวังเมืองพิษณุโลกที่เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชสมภพที่พระราชวังแห่งนี้
ทางด้านทิศใต้มีวัดวิหารทอง และวัดศรีสุคต ซึ่งน่าจะเป็นวัดประจำพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ เป็นวัดประจำพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
เมืองพิษณุโลก เป็นเมืองที่ตั้งคร่อมสองฝั่งแม่น้ำน่านหรือเป็นลักษณะเมืองอกแตกที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง จากแนวกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือไปออกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ เป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ เมืองพิษณุโลกในทางประวัติศาสตร์มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นอีกสองชื่อ คือสองแควกับชัยนาท
เมืองสองแคว เป็นชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยยุคต้น เพราะมีแม่น้ำไหลผ่านเมืองสองสายคือแม่น้ำน่านกับแม่น้ำน้อย เป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรสุโขทัย โดยเฉพาะในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแควถึง 7 ปี(พ.ศ.1905-1912)
เมืองชัยนาท ชื่อที่ปรากฏในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ เมื่อพ.ศ.2060 และในหนังสือลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้นหลัง พ.ศ.2031 นอกจากนี้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงสมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา(พ.ศ.1952-1967) ให้โอรสคือเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาท ต่อมาเจ้าสามพระยาได้ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ.1967-1991)
เมืองชัยนาทที่ระบุในเอกสารดังกล่าวข้างต้น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้แสดงหลักฐานที่ชี้ให้เห็นจนเป็นที่ยอมรับว่า ชัยนาทเป็นชื่อหนึ่งของพิษณุโลก หาใช่เมืองชัยนาทในเขตจังหวัดชัยนาทปัจจุบัน
นายพิเศษ เจียจันทน์พงษ์ ได้กล่าวให้เหตุผลไว้ว่า เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออกที่มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง คือเมืองสองแคว เป็นเมืองที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคต้นๆ โบราณสถานสำคัญที่กำหนดอายุในสมัยสุโขทัย ได้แก่ พระอัฏฐารศในพระวิหารเก้าห้อง ทางด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดเจดีย์ยอดทอง ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศตะวันออก
ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านคือเมืองชัยนาท ที่เจ้าสามพระยาได้สถาปนาขึ้นพร้อมกับพระราชวังจันทน์ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจทางการปกครอง นอกจากนี้ยังพบว่าโบราณสถานสำคัญฝั่งตะวันตก ได้แก่วัดวิ หารทอง วัดศรีสุคตและวัดโพธิ์ทอง ล้วนมีรูปแบบที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ส่วนชื่อเมืองพิษณุโลกนั้นน่าจะเรียกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.1991-2031) ภายหลังจากทรงลาผนวชเมื่อ พ.ศ.2008 และโปรดฯ ให้ก่อกำแพงเมือง เพื่อเชื่อมเมืองทั้งสองสมัยบนสองฝั่งแม่น้ำให้เป็นเมืองเดียวกัน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงวังจันทน์เมืองพิษณุโลก ในสาสน์สมเด็จลายพระหัตถ์ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2481 ว่า คำว่าวังจันทน์ น่าจะมาจากคำว่า ตำหนักจันทน์หรือเรือนจันทน์ ในสมัยโบราณเรือนที่อยู่อาศัยทำด้วยไม้ทั้งสิ้น แต่สำหรับเรือนของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายที่ศักดิ์สูง เรือนจะสร้างด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม คำว่าวังจันทน์ จึงน่าจะมาจากวังตำหนักจันทน์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงครองเมืองพิษณุโลก เสด็จประทับที่วังจันทน์มาก่อน ต่อมาทรงสร้างวังสำหรับประทับเวลาที่เสด็จลงมากรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารเรียกวังที่สร้างใหม่ว่า วังใหม่ จนสมัยเมื่ออพยพผู้คนเมืองเหนือลงมากรุงศรีอยุธยา พวกชาวเมืองเหนือที่ตามเสด็จเรียกวังใหม่ว่า วังจันทน์ เหมือนวังที่เคยประทับที่เมืองพิษณุโลก วังจันทน์เมืองพิษณุโลกจึงเป็นต้นเค้าชื่อเรียกวังจันทน์เกษมของกรุงศรีอยุธยา
เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์พิษณุโลก ปรากฏหลักฐานในหนังสือจดหมายระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พ.ศ.2444 คราวเสด็จเมืองพิษณุโลก เกี่ยวกับการหล่อพระพุทธชินราชที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ทรงกล่าวถึงวังเมืองพิษณุโลกว่า
“..มีกำแพงสองชั้น ด้านทิศตะวันออกคงจะเป็นหน้าวัง ส่วนนอกกำแพงวังด้านทิศตะวันตกมีสระใหญ่ เรียกหนองสองห้อง และมีรับสั่งให้ขุนศรีเทพบาลทำแผนที่วัง...”
ในปี พ.ศ.2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินราช และทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลองที่เมืองพิษณุโลก มีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ไว้ว่า
“มีกำแพงวังสองชั้น กำแพงวังชั้นนอกทรุดโทรมเหลือพ้นดินเล็กน้อย กำแพงวังชั้นในยังเหลือถึง 2 ศอกเศษ ในวังยังมีฐานซึ่งเข้าใจว่าเป็นพระที่นั่ง โดยยาว 22วา กว้าง 7วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เหมือนพระที่นั่งจันทรพิศาล เมืองลพบุรี ฝีมือจะเป็นครั้งกรุงเก่า”
ขุดแต่ง–อนุรักษ์–พัฒนา
ภายหลังสงครามอะแซหวุ่นกี้ ในปี พ.ศ.2318 พระราชวังจันทน์คงถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรมและพัง ทลายลงตามลำดับ แต่ความสำคัญและความทรงจำของผู้คนเกี่ยวกับพระราชวังเมืองพิษณุโลกยังคงมีอยู่ตลอด
ในปี พ.ศ.2474 กระทรวงศึกษาธิการได้ย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจากฝั่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มาตั้งในบริเวณพระราชวังจันทน์ กระทั่งในปี พ.ศ.2479 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระราชวังจันทน์ และในปี พ.ศ.2537 ประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาจำนวนพื้นที่ 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์ และย้ายโรงเรียนพิษณุโลกฯ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เงินงบประมาณที่อนุมัติ 403,034,900 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในส่วนของกรมศิลปากรจำนวน 261 ล้านบาทเศษ และงบประมาณในส่วนของกรมสามัญศึกษาจำนวน 141 ล้านบาทเศษ
สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรพิษณุโลกจัดทำแผนแม่บทโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์ และย้ายโรงเรียนพิษณุโลกฯ ในปี พ.ศ.2546 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานอนุรักษ์พัฒนาพระราชวังจันทน์และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวทางการดำเนินงานโยกย้ายบ้านเรือนราษฎร ที่ทำการราชการ สำรวจขุดค้นขุดแต่งโบราณคดี บูรณะโบราณสถาน ควบคุมการใช้ที่ดินในเขตพระราชวังและพื้นที่แวดล้อม ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์มีความกลมกลืนและสอดคล้องกับโบราณสถาน เป็นต้น
จากการขุดค้นโบราณคดีบริเวณพื้นที่โรงเรียนพิษณุโลกฯ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2535 มาถึงปัจจุบันพบว่าพระราชวังนี้มีการก่อสร้างซ้อนทับ 3 สมัย ภาพรวมสมัยที่ 1 ร่องรอยเป็นแนวเขื่อนก่ออิฐ บริเวณพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ หลักฐานมีไม่มาก เนื่องจากระดับพื้นใช้งานอยู่ต่ำกว่าระดับแนวโบรารสถานในสมัยหลัง
สมัยที่ 2 อยู่ในช่วงหลังสมัยที่ 1 ขอบเขตพระราชวังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแกนทิศเหนือ-ใต้ เบนไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย พระราชวังหันหน้าไปทางตะวันออกสู่แม่น้ำน่าน กำแพงด้านนอกขอบเขตโดย รวม185 เมตร ยาว300 เมตร กำแพงหนา 1 เมตร นอกจากนี้พบแนวกำแพงกั้นแบ่งพื้นที่พระราชวังออกเป็น 3 ส่วน ชั้นนอก กลางและใน เช่นเดียวกับพระราชวังโบราณกรุงศรีอยุธยา และพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี
สมัยที่ 3 อยู่ในช่วงสุดท้ายพระราชวัง ซากสิ่งก่อสร้างเห็นได้ชัดที่สุด คือแนวกำแพงวังสองชั้น กำแพงชั้นนอกขอบเขตกว้าง 192.5 เมตร ยาว 267.5 เมตร ก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบคลุมพื้นที่พระราชวัง ตามแนวกำแพงมีกรอบรูปที่เรียกว่าทิมดาบ ขนาดความยาว 7 เมตรเป็นระยะต่อ เนื่องกันไป นอกจากนี้ยังพบช่องประตูด้านตะวันออกและตก ตรงกับประตูกำแพงชั้นนอก ด้านหน้าทิศเหนือก่อเป็นมุขยื่นออกมา อาคารหลังนี้น่าจะตรงกับพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวว่าเหมือนพระที่นั่งจันทรพิศาล เมืองลพบุรี
โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ เช่น กระเบื้องมุงหลังคาดินเผาแบบกาบกล้วย แผ่นดินเผาสำหรับปูพื้นตะปูจีน(ยึดเครื่องไม้) ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ จากแหล่งเตาเผาบ้านเตาไห เตาตาปะขาวหายพิษณุโลก เตาแม่ น้ำน้อยสิงห์บุรี เตาทุเรียงเมืองสุโขทัย และเตาเผาเมืองศรีสัชนาลัย เครื่องถ้วยราชวงศ์หยวน-หมิง-ชิง เป็นต้น
ปีงบประมาณ 2552 ทำการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ในเขตพระราชวัง ขุดค้นขุดแต่งโบราณคดีบริเวณวัดวิหารทอง กำแพงเมืองพิษณุโลกบริเวณวัดโพธิญาณ รื้อย้ายบ้านเรือนราษฎรในเขตโบราณสถานจำนวน 137 หลัง และสร้างอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ 1 หลัง
พระราชวังจันทน์เมืองพิษณุโลก นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นหลักฐานทางกายภาพที่สัมผัสได้ แสดงถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์และยาวนานของเมืองพิษณุโลก อันนอก เหนือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม หมายถึงคนในถิ่นด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนทุกระดับ
รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองพิษณุโลก
สัญจร/อนันต์ ชูโชติ
ผอ.สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย
แหล่งข้อมูลจาก สยามรัฐ
Advertisement
เปิดอ่าน 24,258 ครั้ง เปิดอ่าน 3,710 ครั้ง เปิดอ่าน 30,797 ครั้ง เปิดอ่าน 22,915 ครั้ง เปิดอ่าน 26,810 ครั้ง เปิดอ่าน 28,848 ครั้ง เปิดอ่าน 79,668 ครั้ง เปิดอ่าน 15,741 ครั้ง เปิดอ่าน 17,643 ครั้ง เปิดอ่าน 1,316,720 ครั้ง เปิดอ่าน 23,467 ครั้ง เปิดอ่าน 18,451 ครั้ง เปิดอ่าน 39,088 ครั้ง เปิดอ่าน 113,574 ครั้ง เปิดอ่าน 49,283 ครั้ง เปิดอ่าน 21,141 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 17,695 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 1,316,720 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 20,763 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 189,267 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 20,187 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 17,643 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 111,272 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 18,291 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,465 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,470 ครั้ง |
เปิดอ่าน 3,839 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,126 ครั้ง |
|
|