ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสุนทรภู่
เรื่องที่ค้นพบใหม่เกี่ยวกับ “สุนทรภู่”
เรื่องที่ค้นพบใหม่เกี่ยวกับ “สุนทรภู่”
“สุนทรภู่” เป็นกวีของไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีผลงานนิพนธ์ไว้มากมาย จนได้รับการเรียกขานต่างๆ เช่น รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กวีเอกของไทย บรมครูกลอนตลาดแห่งกรุงสยาม เป็นต้น ซึ่งชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นการยกย่องในความเป็นเลิศและความสามารถในกวีนิพนธ์ของท่านทั้งสิ้น ผลงานของท่านมีทั้งประเภทนิราศ นิทาน สุภาษิต เสภา บทละครและบทเห่กล่อม และด้วยผลงานเหล่านี้นี่เองที่ทำให้องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๒๐๐ปีเกิดของท่านเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ ที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าท่านเป็นสามัญชนคนแรกของไทยที่ได้รับเกียรตินี้
ชีวประวัติและผลงานเดิมของท่านได้รับการเผยแพร่จนเป็นทราบกันโดยทั่วไป อย่างไรก็ดี จากการศึกษาค้นคว้าชีวิตและผลงานของสุนทรภู่มาเป็นเวลานานถึง ๓๘ ปี (พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๓๓ )ปรากฏว่านายเทพ สุนทรศารทูล ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมท่านหนึ่ง ได้นำเสนอ “ชีวประวัติของพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์)” เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๓ ที่ผ่านมา อันเป็นวิทยานิพนธ์โดยพิสดารเผยแพร่ประวัติของท่านสุนทรภู่ที่เพิ่งพบใหม่หลายประการ ซึ่งหากใครสนใจในรายละเอียดก็ไปค้นอ่านได้ แต่ในโอกาส “วันสุนทรภู่” ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ อันเป็นวันครบรอบ ๒๑๙ ปีเกิด ที่จะถึงนี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมจะคัดลอกบางเรื่องมาบอกกล่าวเพื่อเป็นความรู้และประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องราวของท่านสุนทรภู่ต่อไป ดังนี้
-ตำแหน่งของสุนทรภู่ เป็น หลวงสุนทรโวหาร มิใช่ ขุนสุนทรโวหารตามที่เคยว่ากัน เพราะในทำเนียบนามบรรดาศักดิ์ไม่มีตำแหน่ง ขุน มีแต่ หลวง
-บิดาสุนทรภู่ชื่อ ขุนศรีสังหาญ (พลับ) ตำแหน่งปลัดกรมขวาศักดินา ๓๐๐ไร่
-จากการค้นคว้าได้พบว่า บทกวีเดิมที่มิใช่สุนทรภู่แต่งมี ๕ เรื่อง แต่เป็นผลงานของศิษย์ของท่าน คือ สุภาษิตสอนหญิง เป็นของนายภู่ จุลละภมร นิราศพระแท่นดงรัง เป็นของเสมียนมี มีระเสน นิราศวัดเจ้าฟ้า ของนายพัด ภู่เรือหงส์ (ลูกชายสุนทรภู่) นิราศอิเหนา ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ และบทละครเรื่องพระอภัยนุราช เป็นของพระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล) นอกจากนี้นายเทพ ยังพบผลงานใหม่ของท่านสุนทรภู่อีก ๕ เรื่องคือ เพลงยาวรำพรรณพิลาป(แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งกล่าวว่าเป็นเพลงยาวสังวาสที่ยาวที่สุดในโลก-เพลงยาวสังวาสคือเพลงยาวที่แต่งเกี้ยวกัน) เพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ ตำรายาอัฐกาล(ตำราบอกฤกษ์ยามเดินทาง) สุบินนิมิตคำกลอน และตำราเศษนารี(เป็นตำราบอกลักษณะนารีถึงคุณลักษณะ และวาสนานารีสำหรับชายหนุ่มเลือกคู่)
ที่กล่าวว่าสุภาษิตสอนหญิงมิใช่สุนทรภู่แต่ง แต่เป็นของนายภู่ จุลละภมร ศิษย์สุนทรภู่นั้น นายเทพให้ข้อสังเกตว่าเพราะชื่อภู่เหมือนกัน แต่เรื่องที่นายภู่แต่งจะมีบทไหว้ครูทุกเรื่อง ผิดกับท่านสุนทรภู่ที่แต่งกลอนจะไม่เคยมีบทไหว้ครูเลย
-เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่กลัวภัยที่เคยได้ล่วงเกินพระองค์มาก่อน จึงได้หนีไปบวชที่วัดอรุณฯ ในนามหลวงสุนทรโวหารนอกราชการ ไม่เคยถูกถอดยศหรือปลดตำแหน่งใดเลย และตลอดระยะเวลาที่บวชอยู่ ๒๗ พรรษา รัชกาลที่ ๓ ก็ไม่เคยแตะต้องข้องแวะกับสุนทรภู่ นอกจากนี้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ ยังให้ความอุปการะแก่สุนทรภู่ด้วยซ้ำ ซึ่งหากพระองค์ถือโทษโกรธเคืองสุนทรภู่ ดังที่หลายคนอ่านบทกลอนของสุนทรภู่แล้วเข้าใจผิด ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน สุนทรภู่คงจะไม่พ้นพระราชอาญาแล้ว แต่พระองค์ทรงพระคุณธรรมประเสริฐยิ่ง จึงไม่เคยลงโทษสุนทรภู่แต่อย่างใดเลย
นอกจากนี้ นายล้อม เพ็งแก้ว นักวิชาการแห่งเมืองเพชรบุรีก็เคยเสนอบทความเรื่อง สุนทรภู่ : บรรพชนเป็น“พราหมณ์เมืองเพชร” โดยศึกษาจากนิราศเมืองเพชรฉบับตัวเขียน อันถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ และยังไม่มีข้อยุติ เพราะแต่เดิมมีการสันนิษฐานว่า สุนทรภู่น่าจะเป็นชาวเมืองแกลง จังหวัดระยองทางเชื้อสายพ่อ
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จากชีวประวัติของสุนทรภู่ หากจะเว้นในเรื่องเมาสุรา ซึ่งถือว่าเป็นข้อบกพร่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนแล้ว เราจะพบว่าผลงานกวีนิพนธ์ของท่านนั้นมีความโดดเด่น มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ข้อวิเศษของท่านที่ต่างจากกวีอื่นคือ กระบวนกลอนและสำนวนกลอนอย่างปากตลาดที่หาผู้ใดเสมือนได้ยาก ท่านนับเป็นกวีคนแรกที่ตั้งแบบกลอนสุภาพขึ้น จนผู้อื่นนำไปเป็นแบบอย่างและแต่งกันแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ ท่านเป็นผู้ริเริ่มเล่นสัมผัสใน ทำให้กลอนสุภาพมีความไพเราะเพราะพริ้งมากขึ้น และถือเป็นแบบอย่างต่อมาจนปัจจุบัน
กวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ นอกจากจะมีความไพเราะแล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยก่อนได้ดี โดยเฉพาะการสอดแทรกสุภาษิตคำคมทั้งทางโลกและทางธรรม อันเป็นข้อคิดและคติสอนใจแก่ผู้อ่านที่เป็นสัจธรรมและยังร่วมสมัยอยู่เสมอ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมาเป็นบางเรื่อง ดังนี้
เพลงยาวถวายโอวาท สุนทรภู่แต่งถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาและเจ้าฟ้าอาภรณ์ เป็นสุภาษิตสอนใจ ซึ่งเป็นที่จดจำและมีผู้นำไปกล่าวอ้างกันอยู่เสมอด้วยว่ามีคติสอนใจที่ดี เช่น “คำโบราณท่านว่าเหล็กแข็งกระด้าง เอาเงินง้างอ่อนตามความประสงค์” หรือ “อันข้าไทได้พึ่งเขาจึงรัก แม้ถอยศักดิ์สิ้นอำนาจวาสนา เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา แต่วิชาช่วยกายจนวายปราณ” หรือ “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ” เป็นต้น
นิราศเมืองเพชร เป็นคำกลอนนิราศที่มีอรรถรสไพเราะ และมีคุณค่าในเชิงเนื้อหาสาระอีกเรื่องหนึ่ง นิราศนี้ท่านได้แต่งเมื่อเดินทางไปเพชรบุรี ในเนื้อเรื่องบอกว่าท่านรับอาสาไปหาสิ่งของไปถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่บอกว่าเป็นสิ่งใด โดยได้ล่องเรือจากหน้าวัดผ่านบางหลวง บางหว้า บางบอนออกแม่น้ำกลองจนถึงเพชรบุรี แวะไปไหว้พระนอนเขาวัง กับหนูนิล หนูพัดผู้บุตรได้เปลื้องแพรเพลาะห่มถวายพระพุทธไสยาส์ วรรณกรรมเรื่องนี้กล่าวกันว่ามีความไพเราะและยังแทรกคติธรรมอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านอีกด้วย เช่น ”ถึงบางบอนบอนที่นี่มีแต่ชื่อ เขาเลื่องลือบอนข้างบางยี่ขัน อันบอนต้นบอนน้ำตาลย่อมหวานมัน แต่ปากคันแก้ไขมิใคร่ฟังฯ” หรือ “ถึงย่านซื่อสมชื่อด้วยซื่อสุด ใจมนุษย์เหมือนกระนี้แล้วดีเหลือ” เป็นต้น
พระอภัยมณี เป็นนิทานคำกลอน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของท่าน มีความยาวถึง ๖๔ ตอนหรือ ๙๔ เล่มสมุดไทย ซึ่งนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานมูลนิธิสุนทรภู่ได้เคยกล่าวไว้ว่า พระอภัยมณี ถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก เพราะมีความยาวถึง ๑๒,๗๐๖ บทในขณะที่บทประพันธ์เรื่องอีเลียต ( Iliad)) และโอเดดซี (Odyssey)ของฝรั่งที่ว่ายาวที่สุด ยังมีเพียง ๑๒,๕๐๐ บทเท่านั้น อีกทั้ง เนื้อหาในเรื่องยังเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงภูมิรู้อันไพศาลและจินตนาการอันล้ำยุคล้ำสมัยของท่าน ซึ่งอันที่จริงเรื่อง”พระอภัยมณี”เพียงเรื่องเดียว ก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงอัจฉริยภาพของท่านสุนทรภู่ในหลายๆด้านแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้เวลาจะผ่านเลยมาร่วม ๒๐๐ ปีจนปัจจุบัน ผลงานวรรณกรรมของท่านก็ยังเป็นที่สนใจ และมีผู้ศึกษา ค้นคว้านำมาเผยแพร่อยู่เสมอในรูปแบบต่างๆอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นละครเวที หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก ภาพยนตร์ หนังสือ หรือหนังการ์ตูน เป็นต้น สมดังที่ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น “กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” กวีของไทยที่เราควรภาคภูมิใจ