Advertisement
ดัน “น้ำพริกก้นถ้วย” ท้าชนอาหารขยะฟาสต์ฟูด
กระแสบริโภคนิยมที่เน้นในเรื่องของความสะดวก สบาย รวดเร็ว เพราะต้องแข่งขันกับเวลาที่เกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนพื้นที่อาหารของชุมชนถูกรุกรานทำลายด้วยการทำเกษตรกรรม โดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น ลุกลามกัดกินเข้าไปถึงห่วงโซ่อาหาร และทำลายสุขภาพของคนในชุมชนโดยไม่รู้ตัว
อีกทั้งเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่หลงลืมอาหารพื้นถิ่นหันไปนิยมกินอาหารสำเร็จรูป ทั้งๆ ที่อาหารพื้นบ้านมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “มหกรรมน้ำพริก อาหารปลอดภัย ครอบครัวบ้านถืมตอง” ขึ้น ณ บ้านถืมตอง อ.เมือง จ.น่าน เพื่อฟื้นความรู้ในเรื่องอาหารพื้นบ้านอย่างน้ำพริกและผักที่เป็นเครื่องเคียงให้กับแต่ละครอบครัว พร้อมทั้งร่วมกันค้นหาสาเหตุว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงไม่ชอบกินน้ำพริก
“ อนงค์ อินแสง” ผู้ประสานงานโครงการศูนย์ครอบครัวเข้มแข็งฯ เปิดเผยว่า สาเหตุที่นำเรื่องของน้ำพริกมาใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ เนื่องเพราะน้ำพริกนั้นสามารถเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและสังคมของชุมชนได้ในหลายมิติ
“น้ำพริกเชื่อมโยงได้กับทั้งสภาพภูมิศาสตร์ เช่นน้ำพริกปลาทูเค็ม น้ำพริกถั่วเน่า น้ำพริกปลาร้า ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการถนอมอาหาร เนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้นั้นสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบตามธรรมชาติในท้องถิ่นตามช่วงเวลา หรือฤดูกาลต่างๆ เช่น ช่วงปลายฝนต้นหนาว พืช ผัก สัตว์ อุดมสมบูรณ์ การหาวัตถุดิบอย่าง กบ เขียด ปลา จึงไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้ น้ำพริกก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับความเชื่อและประเพณีด้วยเช่นการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสมัยก่อน เมื่อหนุ่มถามว่าวันนี้กินข้าวกับอะไร หากสาวเจ้ามีใจก็จะตอบว่ากินน้ำพริก หง่าหอม ซึ่งเป็นคำผวนมาจากหง่อมหา ที่แปลว่า คิดถึง รวมไปถึงสื่อให้เห็นถึงความเอื้ออาทรของคนในชุมชนเช่นคำว่าพริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้”อนงค์ ระบุ
ด้าน “สีดา สีหนาท” ชาวบ้านถืมตองที่เข้าร่วมในเวทีที่จัดขึ้น บอกว่า ได้ชวนลูกหลานเข้ามาร่วมในกิจกรรมเพื่อหาคำตอบว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงไม่ชอบกินน้ำพริกและได้พบคำตอบว่าน้ำพริกมักจะมีรสเผ็ด เด็กๆ ไม่ชอบกลิ่นของวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงที่นำมาใช้ อีกส่วนหนึ่งไม่ชอบกินผัก จึงหันไปหาอาหารสำเร็จรูปที่หากินง่ายรสชาติถูกปากมากกว่า
เราก็มีการปรับปรุงสูตรน้ำพริกให้เผ็ดน้อยลง และใส่อาหารที่เขาชอบลงไปอย่างหมูหรือปลา อย่างน้ำพริกปลาทูที่แต่เดิมใช้ปลาเค็มย่างที่มีกลิ่นแรงก็เปลี่ยนมาใช้ปลาทูนึ่งแทน บางสูตรก็มีการใส่ไข่เพิ่มเข้าไป เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของเขา และยังทำให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวอย่างคนเฒ่าคนแก่ที่ทานเผ็ดไม่ได้สามารถทานน้ำพริกร่วมกันได้” แม่สีดา กล่าว
“สุเรียน วงศ์เป็ง” คณะทำงานโครงการศูนย์ครอบครัวเข้มแข็งฯ เล่าว่า เวทีนี้ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านการทำน้ำพริกของแต่ละครอบครัว วิธีการถนอมอาหาร รวมไปถึงสูตรของแต่ละบ้าน รวมถึงทำให้เกิดการปรับปรุงสูตรน้ำพริกใหม่ๆ ขึ้นมาจากสูตรน้ำพริกดั้งเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 30 กว่าชนิด เพิ่มขึ้นมากกว่า 80 ชนิด
“สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนผ่านน้ำพริก ก็คือ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น จากการที่เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมทำน้ำพริกกับพ่อหรือแม่ แต่ละครอบครัวได้มีการพูดคุยและร่วมวงรับประทานอาหารร่วมกัน ตัวเด็กเองก็ได้พบว่าน้ำพริกมีสารอาหารที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากมายกว่าที่คิด และยังเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของสมาชิกทุกคนในครอบครัว” นายสุเรียน ระบุ
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเวทีน้ำพริกของบ้านถืมตอง ก็คือ การที่สมาชิกในชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งหากมีการใช้สารเคมีก็จะไม่มีวัตถุดิบเหล่านี้มาใช้ในการประกอบอาหาร หรือทำน้ำพริก ทำให้เกิดการกันพื้นที่ป่าสาธารณะตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้เป็นธนาคารอาหารของชุมชน
“น้ำพริกมีประโยชน์มากมาย วัตถุดิบแต่ละอย่างที่ใช้ก็เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยให้แต่ละบ้านประหยัดรายจ่ายลงได้ เพราะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ผัก ปู เห็ด ปลา ก็หาได้จากหัวไร่ปลายนา บางอย่างก็สามารถปลูกเองได้และปลอดสารพิษ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อ ในด้านหนึ่งก็จะช่วยในเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัย ช่วยสานความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและครอบครัวกับชุมชน ซึ่งบทเรียนที่ได้จากเวทีนี้ทำให้ชาวบ้านได้รู้ว่าเค้าสามารถหาอาหารได้จากธรรมชาติโดยแทบไม่ต้องซื้อ และถ้าเขาร่วมกันอนุรักษ์ป่ารักษาน้ำวัตถุดิบก็จะไม่มีวันหมดมีให้หาเก็บหากินได้ไปตลอด”อนงค์ กล่าวสรุป
หมายเหตุ: ข้อมูลจาก : ASTV ผู้จัดการออนไลน์"
ที่มา : http://www.samunpri.com/
วันที่ 25 มิ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,184 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,159 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 51,924 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,336 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,556 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,141 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,185 ครั้ง |
|
|