ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

12 จุดเด่นคำกลอน..บทเพลงจาก..นิราศของบรมครูกลอน


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 7,192 ครั้ง
Advertisement

12 จุดเด่นคำกลอน..บทเพลงจาก..นิราศของบรมครูกลอน

Advertisement

  520624pu60

ในโอกาสวันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันครบรอบ ปีเกิดของท่านสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นของไทย และถือว่าเป็น “วันสุนทรภู่” ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำลักษณะพิเศษของคำกลอนของท่านจากหนังสือ ชีวประวัติพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์) ของนายเทพ สุนทรศารทูล ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ที่ได้ศึกษาค้นคว้าประวัติของท่านสุนทรภู่มานานถึง 35 ปีเต็มมาเสนอให้ท่านผู้อ่าน และผู้ที่สนใจบทกวีได้ทราบว่า เหตุใดกวีนิพนธ์ โดยเฉพาะกลอนแปดของสุนทรภู่จึงมีความโดดเด่น และเป็นที่จับใจแก่ผู้อ่านตลอดมา แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าสองร้อยปีก็ตาม แต่แนวทางที่ท่านเขียนไว้ ก็ยังเป็นแบบอย่างแก่กวีรุ่นหลังมาจนทุกวันนี้ และท่านยังเป็น “บรมครูกลอนแปด” ที่ยังหาผู้เทียบเคียงได้ยากจนแม้ปัจจุบัน  
 
จากการศึกษาของนายเทพ สุนทรศารทูล ได้กล่าวว่า ลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ของคำกลอนของสุนทรภู่ ที่ทำให้กวีนิพนธ์ของท่าน ต่างจากกวีท่านอื่นๆ มีอยู่ด้วยกัน 12 ประการ คือ  
1. หลั่งไหล        
2. ไว้สง่า      
3. ภาษาตลาด    
4. สัมผัสพราว       
5. กล่าวความหลัง         
6. ฟังแจ่มแจ้ง 
7. แสดงอุปไมย 
8. ใช้คำตาย  
9. ระบายอารมณ์
10. คำคมสุภาษิต  
11. แนวคิดของกวี
12. ลีลาการเดินกลอน

 

1.หลั่งไหล จะเห็นได้ว่า คำกลอนของท่านสุนทรภู่ จะมีลักษณะหลั่งไหลเหมือนสายน้ำไหล ไม่ติดขัด  ไม่สะดุด ไม่หยุดชะงัก ไม่ขาดสาย  ไม่มีลักษณะกลอนพาไป หรือพยายามพากลอนไปอย่างฝืนๆ เหมือนกวีที่ไม่ชำนาญ แต่ท่านจะแต่งตรงพุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายให้เข้าใจความได้อย่างชัดเจน  เช่น
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์  มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด  ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน"

2. ไว้สง่า ท่านจะแต่งกลอนอย่างโอ่อ่า ภูมิฐาน แบบครูกลอนครูกวี  ไม่ไหว้ครู ไม่มีการออกตัว ไม่เคยถ่อมตัว  มักขึ้นต้นคำกลอนอย่างโอ่โถง  เช่น
“แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมุตินิยายมา  ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง  จักสำแดงความประดิษฐ์คิดถวาย
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย                  ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน”

3. ภาษาตลาด ภาษาในกลอนของท่านจะใช้ภาษาตลาด หรือภาษาที่ชาวบ้านใช้พูดกันอยู่  ไม่ใช่ภาษาสูงหรือภาษาราชการ  ทำให้ฟังเข้าใจง่าย  แต่มิใช่เป็นภาษาที่หยาบ  เช่น
“แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ  ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา   รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”  หรือ
“ยกกระบัตรคัดช้อนทุกเช้าเย็น  เมียที่เป็นท่านผู้หญิงนั่งปิ้งปลา”
คำว่า “คัดช้อน” หมายถึง “คัด” ที่แปลว่า คัดคันยอ ได้แก่การยกยอที่ดักกุ้งริมคลอง และ “ช้อน”คือ ใช้ตะแกรงช้อนกุ้ง คำว่า คัดช้อน จึงหมายถึง ยกยอช้อนกุ้ง ซึ่งเป็นภาษาชาวบ้าน และเมียที่เป็นท่านผู้หญิง ก็หมายถึง เมียหลวงยกกระบัตรเมืองแกลง ที่ยังไม่ใช่คุณหญิง และยังไม่ได้เป็นท่านผู้หญิง แต่ชาวบ้านชาวเมือง มักจะเรียกยกย่องเช่นนั้น ท่านจึงนำมาเรียกบ้างว่า “เมียที่เป็นท่านผู้หญิง”นั่งปิ้งปลา

4. สัมผัสพราว ลักษณะคำกลอนของท่าน จะมีทั้งสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร สัมผัสสระหรือสัมผัสเสียง สัมผัสซ้าย สัมผัสขวา แพรวพราวเต็มไปหมด บางครั้งท่านถือเสียงเป็นสำคัญ จนทำให้บางคนตำหนิว่า กลอนของท่านความอ่อนไปก็มี  เช่น
“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ    ประเสริฐสุดซ่อนใส่ไว้ในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก  จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”

5. กล่าวความหลัง  เนื่องจากท่านเป็นคนมีความรัก ความหลังฝังใจ ทำให้อดไม่ได้ที่จะกล่าวพาดพิง ถึงความรักความหลังของตนในการแต่งกลอนทุกเรื่อง แม้แต่สุภาษิตที่น่าจะมีแต่คำสอนล้วนๆ ท่านก็ยังอดแวะเวียนกล่าวถึงความหลังจนได้  เช่น
“อันหม่อมฉันที่ดีและที่ชั่ว  ถึงลับตัวแต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว  เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองละคร”

6. ฟังแจ่มแจ้ง คำกลอนของท่านจะแจ่มแจ้ง กระทัดรัด ชัดเจน ไม่พร่ามัว และพิถีพิถันในการเลือกใช้ถ้อยคำ  เพราะท่านเป็นกวีที่รุ่มรวยคำ จึงเลือกใช้คำได้อย่างเหมาะเจาะ เช่น
“ถึงคลองนามสามสิบสองคดคุ้ง  ชวากวุ้งเวียนซ้ายมาฝ่ายขวา
ให้หนูน้อยคอยนับในนาวา  แต่หนึ่งมาถ้วนสามสิบสองคด
อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่  เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด  ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”

7. แสดงอุปไมย  ซึ่งท่านจะถนัดมากในเชิงอุปไมยโวหาร  โดยกล่าวคำนี้ขึ้นเป็นหลักก่อนแล้วยกเอาสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบ ทำให้คำกล่าวมีน้ำหนัก และมองเห็นภาพได้ชัดเจนหรือเห็นเป็นเหตุเป็นผล  มิใช่แบบอุปมาโวหาร อันหมายถึง ยกเอาสิ่งนี้ไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น  ซึ่งการแต่งอุปไมยโวหารจะแต่งได้ยากกว่า แต่ท่านสุนทรภู่มักจะใช้  อันแสดงให้เห็นถึงภูมิรู้ของท่านที่มีอย่างกว้างขวาง  เช่น
“ประเพณีตีงูให้หลังหัก  มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง  อันเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า  ต่อภายหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย  จะทำภายหลังยากลำบากครัน”

8. ใช้คำตาย ท่านสุนทรภู่ จะถนัดใช้คำตายลงท้ายกลอน  และใช้ได้อย่างไม่ติดขัด  แสดงให้เห็นถึงความเป็นกวีที่ยอดเยี่ยม หาคนเทียบไม่ได้ เพราะแต่งยาก  ซึ่งกวีมักจะอวดฝีปากกันตรงการใช้คำตายนี่แหละ  เช่น
“ซึ่งครั้งนี้พี่พาเจ้ามาไว้   หวังจะได้สนทนาวิสาสะ
ให้น้องหายคลายเคืองเรื่องธุระ  แล้วก็จะรักกันจนวันตาย”

9. ระบายอารมณ์  คำกลอนของสุนทรภู่จะอบอวลด้วยอารมณ์ศิลปิน ทำให้มีชีวิตชีวา เข้าถึงใจคน และกินใจ เพราะระบายอารมณ์อันแท้จริงออกมา ไม่เสแสร้งแกล้งว่า จนดูดัดจริต และช่างเปรยเปรย ซึ่งคำกลอนของท่านมักจะเป็นอารมณ์รัก อารมณ์หลง อารมณ์สงสาร อารมณ์น้อยใจในโชคชะตาของตนเอง เช่น
“นิจจาเอ๋ยกายเราก็เท่านี้  ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนาวเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา”

10. คำคมสุภาษิต  กวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ มักจะสอดแทรกสุภาษิตคำคมอยู่เสมอ  ทำให้ท่านได้ยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ เพราะคำสุภาษิตที่ยกมามักจะกินใจคน  เพราะท่านช่างสังเกตความเป็นจริงของชีวิต แล้วนำมาผูกเป็นถ้อยคำขึ้นอย่างกระทัดรัด สอดคล้องทั้งถ้อยคำสำนวน  และมีความไพเราะ  เช่น
“เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก   แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
 ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน    แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”

11. แนวคิดของกวี แนวคิดของกวีมักเกิดจากประสบการณ์ชีวิต การศึกษาสังคม และชะตาชีวิตของกวีนั้นๆ ซึ่งท่านสุนทรภู่เองก็มีแนวคิดในเรื่องความไม่แน่นอน  ความไม่ซื่อตรงของมนุษย์  และวาจาของมนุษย์นั้นก่อให้เกิดคุณหรือโทษได้  เช่น
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์     มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร     จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”

12. ลีลาการเดินกลอน  โดยทั่วไปคำกลอนจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความรู้สึกนึกคิดของกวีที่เป็นความอหังการ  มมังการ (ความทะนงตน / ความถือว่าเป็นของตน)  ซึ่งกวีบางคนอาจจะรู้สึกว่าตนยังต่ำต้อย ไม่ค่อยเก่งกาจอะไรนัก  ยังไม่มั่นใจในตัวเอง จึงต้องมีการไหว้ครู หรือแต่งกลอนตามแบบครู เดินกลอนไปตามแบบแผน  มีการถ่อมตน ยึดเอาครูอาจารย์เป็นที่พึ่ง แต่ท่านสุนทรภู่นั้นมีความอหังการ มมังการในทางบทกลอน  จึงว่ากลอนอย่างโอ่โถง ไว้สง่า  ภาคภูมิ เชื่อมั่นในตนเองอย่างเต็มที่  แต่งกลอนฉาดฉาน เดินกลอนอย่างสง่า  เช่น
“สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตรฝัน
พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์  จึงจดวันเวลาด้วยอาวรณ์
แต่งไว้เหมือนเตือนใจจะให้คิด  ให้นิมิตรเมื่อภวังค์วิสังหรณ์
เดือนแปดจันทร์ทิวาเวลานอน  เจริญพรภาวนาตามบาลี”

จะเห็นว่า ไม่มีใครเดินกลอนอย่างสง่าเหมือนเช่นท่าน อีกทั้งมักจะแสดงความรู้ประกอบไว้อย่างผ่าเผย  ไม่อ้อมค้อม  เช่น
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า  พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี                 ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว....”

ทั้งหมดนี้ คงจะทำให้เราได้เห็นความพิเศษ ที่ทำให้ท่านสุนทรภู่ ได้รับการกล่าวขานด้วยนามต่างๆ เช่น รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  กวีเอกของไทย และบรมครูกลอนตลาดแห่งกรุงสยาม เป็นต้น  อันล้วนเป็นการยกย่อง ในความสามารถของท่าน ซึ่งเป็นความน่าภาคภูมิใจของเราชาวไทยที่มีกวี ที่ไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในโลก

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

อัพเดทโดย : ศศิวิมล 

 : www.mcot.net

อัพเดตเมื่อ 2006-06-26 เวลา 02:48:27
ขอกล่าวถีง.........นิราศครูกลอนสุนทรภู่ .....ไว้ด้วยนะคะ...

                                                             นิราศถ้อยร้อยความตามรอยสาร

เรียนรู้รสบทครูภู่เกริกกานท์                          ติดรสตาลหวานล้นจนแกะรอย

แกะเมืองแกลงแหล่งแรกเริ่มแตกหนุ่ม            เดินดงดุ่มตามบิดามิล้าถอย

ได้พบปะหลายปีที่รอคอย                              แต่เลื่อนลอยเพราะมารดาต้องมาไกล

"ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พลัดพราก"             สามชีวิตจำจากด้วยเงื่อนไข

ฝากเรื่องราวพัทยาคราพงไพร                         ก่อนศิวิไลซ์เปลี่ยนชัฏเป็นพัทยา

ไปพระบาทวาดคำจำแจ่มจิต                          ฝากแง่คิดด้วยตาลผ่านภาษา

หากคบคนคำหวานพาลเจ็บมา                        ต้องรักษาช้ำฟกเหมือนตกตาล

 ภูเขาทองมองเศร้าคราวตกอับ                     คนแวดล้อมลี้ลับเสียงขับขาน

สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธมาลย์                        สิ้นโปรดปรานอุปถัมภ์คอยค้ำจุน

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์                           มีคนรักรสถ้อยคอยเกื้อหนุน

แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายคุณ                           จะเป็นบุญบาปเกาะเพราะพูดจา

นิราศวัดเจ้าฟ้าพาสงสัย                                 สุนทรภู่เขียนหรือไม่ใคร่ค้นหา

หรือหนูพัดหัดตามรอยบิดา                              คราอำลานิเวศเชตุพน

 พอออกเรือเมื่อตะวันสายัณห์ย่ำ                   ละอองน้ำค้างย้อยเป็นฝอยฝน

ตะลึงเหลียวเปลี่ยวเปล่าเมื่อคราวจน             มีแต่คนร้างลาพาเร้ารอน

"ถึงต้องง้าวหลาวแหลนสักแสนเล่ม              ให้ติดเต็มตัวฉุดพอหลุดถอน

แต่ต้องตาพาใจอาลัยวรณ์                          สุดจะถอนทิ้งขว้างเสียกลางคัน"

นิราศอิเหนาร้างเร่เสน่หา                               พระพายพรากบุษบาพาโศกศัลย์

เฝ้าติดตามถามองค์เทพเทวัญ                          เจ็ดเดือนผันผ่านไปไม่พบพาน

"เสียงสินธุดุดั้นลั่นพิลึก                                สะท้านสะทึกโถมฟาดฉาดฉาดฉาน

ที่น้ำโจนโผนพังดังสะท้าน                           บ้างพุซ่านสาดสายสุหร่ายริน

คะนึงถึงนุชบุษบาแม้นมาเห็น                       จะลงเล่นลำธารละหานหิน

ฝูงปลาทองท่องไล่เล็มไคลกิน                       กระดิกดิ้นดูงามตามกระบวน

ปลาเนื้ออ่อนอ่อนกายขึ้นว่ายเกลื่อน               ไม่อ่อนเหมือนเนื้อน้องประคองสงวน

ปลานวลจันทร์นั้นก็งามแต่นามนวล               ไม่งามชวนชื่นเช่นระเด่นดวง"

นิราศสุพรรณสรรโคลงสี่มีลูกเล่น                     สัมผัสในโดดเด่นเน้นทุกห้วง

 "จำใจจากพรากนุชดุจแตกทรวง                 ฟ้าฟาดดวงใจสลายใต้โทษกร"

"สงสารสายเนตรน้องนองชล                        ลเนตรพี่เพียงฝอยฝนทุกข์ค่อน"

"บอนปากยากจะแก้ไม่สิ้นลิ้นบอน"               "เนื้ออ่อนห่อนซู่เนื้อนวลน้องหญิงงาม"

นิราศประธมคมคำสรร                                  "ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ

ลงนาวาคลาเคลื่อนออกเลื่อนลำ                    พอเสียงย่ำยามสองกลองประโคม

น้ำค้างย้อยพรอยพรมเป็นลมว่าว                  อนาถหนาวนึกเคยได้เชยโฉม

มาลับเหมือนเดือนดับพยับโพยม                  ยิ่งทุกข์โทมนัสในใจรัญจวน  "

  "น้ำค้างพรมลมชายระบายโบก                 หอมดอกโศกเศร้าสร้อยละห้อยหวน

เหมือนโศกร้างห่างเหเสน่ห์นวล                    มาถึงสวนโศกช้ำระกำทรวง

เห็นรักน้ำคร่ำคร่าไม่น่ารัก                          จะเด็ดหักเสียก็ได้เขาไม่หวง

แต่ละต้นผลลูกดังผูกพวง                            ก็โรยร่วงเปล่าหมดไม่งดงาม

เหมือนรักคนคนรักทำยักยอก                      จะเก็บดอกเด็ดผลคนก็ขาม

แม้นยางลูกถูกหัตถ์ก็กัดลาม                       เหมือนรำรามรักรายริมชายพงฯ"

 นิราศเมืองเพชรเกร็ดชวนคิดปริศนา              เรื่องเวลาย้อนหายังพาหลง

ไปทำไมกับใครให้งวยงง                                ก็ยังคงทิ้งปริศนาอย่างท้าทาย

 เพียงเกริ่นกล่าวคราวอาสาพาคิดย้อน              "โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย

ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย                 พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน

อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ                        ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน"

 นิราศรักคมถ้อยรอยถิ่นตาล                            คมคำขานลีลาภาษางาม

"ลำเจียกเอ๋ยเคยชื่นระรื่นรส                         ต้องจำอดออมระอาด้วยหนาหนาม

ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม                   คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย

จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง                           ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย

โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย                           ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ"

เล่าเรื่องลิงยิ่งมองเห็นเช่นเดี๋ยวนี้                     ลิงวิ่งรี่เสนอหน้ามาอะโข

 เกาะกอดแม่ท้องกิ่วหิวพุงโร                          ทั้งเล็กโตแย่งยื้อจากมือเลย

"โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งบุตร                     เพราะแสนสุดเสน่หานิจจาเอ๋ย

ที่ลูกอ่อนป้อนนมนั่งชมเชย                        กระไรเลยแลเห็นน่าเอ็นดู"

เรื่องของปูครูเล่าเร้าใจล้น                            เหมือนได้ยลชิดใกล้ได้เห็นอยู่

ระบบนิเวศเชี่ยวชาญเช่นกานท์ครู                    สุนทรภู่คือนักปราชญ์ศาสตร์ครบครัน

"โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ                              เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน

ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน                          เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา

แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ             เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา

ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า                           อุตส่าห์เฝ้าฟูมฟักเพราะรักเมีย

ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ                       เมียมันคาบคีบเนื้อเป็นเหยื่อเสีย

จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย                          ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ

สมเพชสัตว์ทัศนาพฤกษาสล้าง                    ล้วนโกงกางกุ่มแกมแซมแสม

สงัดเหงาเปล่าเปลี่ยวเมื่อเหลียวแล               เสียงแอ้แจ้จักจั่นหวั่นวิญญาณ์ฯ

  ถึงคลองนามสามสิบสองคดคุ้ง                  ชะวากวุ้งเวียนซ้ายมาฝ่ายขวา

ให้หนูน้อยคอยนับในนาวา                          แต่หนึ่งมาถ้วนสามสิบสองคด

อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่                        เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด

ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด                        ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคนฯ"

กว่าสองร้อยขวบปีที่ครูพราก                            คมคำฝากกินใจในทุกหน

รอยนิราศหยาดหยดรสหวานล้น                        ไร้รอยชนชาญเห็นเช่นเฉกครู

ขอคุณครูนักปราชญ์นิราศรัก                            สู่ห้วงพักสรวงสวรรค์ชั้นเพริศหรู

รักพรั่งพร้อมล้อมนางฟ้าโฉมตราตรู                   อย่าหดหู่เช่นบั้นปลายก่อนวายชนน์

จงสุขศานต์ขับเพลงพิณ ณ ถิ่นสรวง                 เทพทั้งปวงหลงใหลในเวหน

เหล่าอัปสรพร้อมพรั่งดั่งต้องมนต์                     ขอมรรคผลสู่ฉิมพลีวิมานเอย

หมวดหมู่: ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม บันเทิง
คำสำคัญ: วันสุนทรภุ่  ครูภาทิพ
สัญญาอนุญาต: ซีซี: แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน Cc-by-nc-sa

 

: www.mcot.net


เพลง...น้ำใจน้ำค้าง

คำร้อง สุนทรภู่/ทำนอง สง่า อารัมภีร
ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ขับร้อง


น้ำใจนาง เหมือนน้ำค้าง ในร่มพฤกษ์
เมื่อยามดึก ดั่งจะรอง ออกดื่มได้
ครั้นยามรุ่ง สุรีย์ฉาย ก็หายไป
โอ้หนอใจ เลือนไป ไม่คืนมา

เหมือนกระแส แควเดียว ที่เชี่ยวหนอ
มาเกิดก่อ เกาะถนัด สกัดหน้า
ต้องแยกคลอง ออกเป็นสอง ทางคงคา
นี่หรือคน จะมิน่า เป็นสองใจ

เพลง"น้ำใจน้ำค้าง" มาจากกลอนนิราศพระบาท ของสุนทรภู่
เพลง...รสตาล

คำร้อง วังสันต์/ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ขับร้อง

เจ้าของตาล รสหวาน ขึ้นปีนต้น
เพราะดั้นด้น อยากลิ้ม ชิมรสหวาน
ครั้นได้รส สดสาว จากจาวตาล
ก็ซาบซ่าน หวานซึ้ง ตรึงถึงทรวง
ไหนจะยอม ให้เจ้าหล่น ลงเจ็บอก
เพราะอยากวก ขึ้นลิ้ม ชิมของหวง
อันรสตาล หวานละม้าย คล้ายพุ่มพวง
พี่เจ็บทรวง ช้ำอก เหมือนตกตาล
เพลง"รสตาล" จากบทกลอนนิราศพระบาทของ สุนทรภู่
เพลง...คำมั่นสัญญา
คำร้อง/ทำนอง สุรพล โทณะวณิก
ชรินทร์ นันทนาคร  ขับร้อง

ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร
ไม่สิ้นสุด ความรัก สมัครสมาน
แม้นเกิดใน ใต้หล้า สุธาธาร
ขอพบพาน พิศวาส มิคลาดคลา
แม้เนื้อเย็น เป็นห้วง มหรรณพ
พี่ขอพบ ศรีสวัสดิ์ เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัว ตัวพี่ เป็นภุมรา
เชยผกา โกสุมภ์ ปทุมทอง
แม้เป็นถ้ำ อำไพ ใคร่เป็นหงส์
จะร่อนลง สิงสู่ เป็นคู่สอง
ขอติดตาม ทรามสงวน นวลละออง
เป็นคู่ครอง พิศวาส ทุกชาติไป
เพลง"คำมั่นสัญญา" นำมาจากกลอนนิทานเรื่อง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
ปรีชา บุณยเกียรติ นำมา ขับร้อง เป็นคนแรก

-ขอบคุณที่มาของบทความ         ครูติ๋ว

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 1756 วันที่ 25 มิ.ย. 2552


12 จุดเด่นคำกลอน..บทเพลงจาก..นิราศของบรมครูกลอน12จุดเด่นคำกลอน..บทเพลงจาก..นิราศของบรมครูกลอน

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

 4 Angles แห่งบ้านไม้หอม

4 Angles แห่งบ้านไม้หอม


เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง
คำว่า "พอ"

คำว่า "พอ"


เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง
นี่ก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบ

นี่ก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบ


เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง
ตื่นเช้าระวังเครียด

ตื่นเช้าระวังเครียด


เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง
โปรดเลือกเบอร์

โปรดเลือกเบอร์


เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

20 ไอเดียง่ายๆ ช่วยคุณเผาผลาญแคลอรี

20 ไอเดียง่ายๆ ช่วยคุณเผาผลาญแคลอรี

เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
อ่านแล้วทำใจให้สบาย
อ่านแล้วทำใจให้สบาย
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย

เหตุที่อกหักผิดหวังในความรัก
เหตุที่อกหักผิดหวังในความรัก
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย

ชายไม่มีสมอง กับ เกียรตินิยมอันดับ1
ชายไม่มีสมอง กับ เกียรตินิยมอันดับ1
เปิดอ่าน 7,150 ☕ คลิกอ่านเลย

"23 ตุลา      ปิยมหาราชรำลึก "  พวงมาลา และ พระคาถาบูชาองค์สมเด็จพระปิยะมหาราช
"23 ตุลา ปิยมหาราชรำลึก " พวงมาลา และ พระคาถาบูชาองค์สมเด็จพระปิยะมหาราช
เปิดอ่าน 7,167 ☕ คลิกอ่านเลย

 ใส่ใจต่อการกิน.....อาหารเช้า
ใส่ใจต่อการกิน.....อาหารเช้า
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย

เวลาทำบุญ....อธิษฐานตามนี้.....ที่ทำให้เกิดผลดีแก่ตัวเรา
เวลาทำบุญ....อธิษฐานตามนี้.....ที่ทำให้เกิดผลดีแก่ตัวเรา
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ASEAN
ASEAN
เปิดอ่าน 14,759 ครั้ง

ตามไปดูการศึกษานอกหลักสูตร : ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คำตอบสุดท้ายจะออกมาอย่างไร
ตามไปดูการศึกษานอกหลักสูตร : ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คำตอบสุดท้ายจะออกมาอย่างไร
เปิดอ่าน 11,356 ครั้ง

หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน
หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน
เปิดอ่าน 28,210 ครั้ง

เคล็ดเด็กเก่งวิชา เรขาคณิต-พีชคณิต
เคล็ดเด็กเก่งวิชา เรขาคณิต-พีชคณิต
เปิดอ่าน 20,117 ครั้ง

ทำไมมีจุดแดงบนหน้าผากสตรีอินเดีย
ทำไมมีจุดแดงบนหน้าผากสตรีอินเดีย
เปิดอ่าน 74,917 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ