เชื่อหรือไม่... จากอดีตนักโทษ พลิกชีวิตเป็น... สุดยอดกวีเอกแห่งกรุงสยาม สุนทรภู่
สุนทรภู่ ชื่อนี้พวกเราชาวไทยรู้จักกันดี เพราะท่านเป็นสุดยอดกวีเอกแห่งกรุงสยาม ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานบทประพันธ์ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนที่มีชื่อเสียงมากมายไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่ทรงคุณค่า เนื่องจากบทประพันธ์ของท่านนั้น สะท้อนสภาพของสังคมไทย ในยุคนั้นได้อย่างชัดเจน ทำให้งานนิพนธ์ของสุนทรภู่ ไม่ได้รับความนิยมอยู่แค่ ในยุคสมัยของท่านเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน และจากผลงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงยกย่องให้เป็น “บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก”
สุนทรภู่ หรือพระยาสุนทรโวหาร มีนามเดิมว่า ภู่ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ที่พระราชวังหลัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟบางกอกน้อย) ส่วนบิดาไม่ทราบชื่อ รู้แค่ว่าเป็นชาวบ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ส่วนมารดาเป็นข้าหลวงในพระราชวังหลัง แต่ได้เลิกรากับบิดา ตั้งแต่ท่านเกิดแล้ว ท่านได้รับการศึกษาขั้นแรก ที่พระราชวังหลังและวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) จากนั้นจึงได้เข้ารับราชการ ในตำแหน่งเสมียนระวางกรมพระคลังสวน ด้วยกำลังอยู่ในวัยหนุ่ม ท่านได้ต้องใจผู้หญิงคนหนึ่งชื่อว่า จัน ท่านจึงได้เขียนเพลงยาวส่งให้นางจัน จนบิดามารดาของนางจันจับได้ แล้วนำความไปกราบทูลกรมพระราชวัง ทำให้ท่านและนางจัน ถูกต้องโทษจำคุกในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อพ้นโทษออกมา จึงเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง จ.ระยอง
ด้วยความที่ท่าน เป็นคนชอบการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ท่านได้เข้ารับราชการอีกครั้ง ในกรมพระอาลักษณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และด้วยความสามารถในโคลงกลอนของท่าน รวมถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเรื่องโคลงกลอนเป็นอย่างมาก (ซึ่งพระองค์เองก็ทรงเป็นกวีเอก ที่ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกัน) ท่านจึงเป็นที่โปรดปราน ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นอย่างมาก จนได้รับการแต่งตั้งเป็น ขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษา และคอยรับใช้ใกล้ชิดพระองค์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุก เนื่องจากเมาสุราอาละวาด และทำร้ายผู้ใหญ่ แต่ติดคุกอยู่ได้ไม่นานก็พ้นโทษ เพราะความสามารถในทางกลอนจึงเป็นที่พอพระราชหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ ได้ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร จึงได้ออกบวชและจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) แล้วได้ลาสิกขาในปี พ.ศ. 2369 ขณะที่ออกบวช ท่านได้เดินทางไปหลายแห่ง ท่านจึงได้แต่งนิราศไว้หลายเรื่อง อาทิ นิราศสุพรรณ, นิราศวัดเจ้าฟ้า และนิราศภูเขาทอง
เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความที่สุนทรภู่ ได้แต่งโคลงกลอน เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ท่านจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง และรับราชการได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2398 สำหรับผลงานของสุนทรภู่นั้น มีอยู่มากมายจำนวนหลายเรื่องด้วยกัน แต่เท่าที่ยังมีปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่
- ประเภทนิราศ อาทิ นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศเมืองสุพรรณ, นิราศภูเขาทอง, นิราศพระประธม, นิราศเมืองเพชร
- ประเภทนิทาน อาทิ เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องสิงหไกรภพ, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องพระไชยสุริยา
- ประเภทสุภาษิต อาทิ สวัสดิรักษา และเพลงยาวถวายโอวาท
- ประเภทบทเสภา อาทิ เรื่องขุนช้างขุนแผน, เรื่องพระราชพงศาวดาร
- ประเภทบทเห่กล่อม อาทิ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี
จะเห็นได้ว่าผลงานของท่านนั้น ยังเป็นที่ยกย่องของคนทั่วไปมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นผลงานที่มีความไพเราะ สนุกสนาน และแฝงด้วยคติสอนใจ อีกทั้งยังมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ในเรื่องของสภาพบ้านเมือง ที่สะท้องถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของคนในสมัยนั้น ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการนำผลงานนิพนธ์ของท่านหลายเรื่อง มาใส่ไว้ในบทเรียนให้เยาวชนได้ศึกษาต่อไป นอกจากนี้ หลังจากที่ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้สุนทรภู่ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในปี พ.ศ. 2529 แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2530 รัฐบาลไทยได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น วันสุนทรภู่ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ แก่สุนทรภู่ที่สร้างสรรค์ผลงานนิพนธ์อันทรงคุณค่า แก่แผ่นดินไว้เป็นจำนวนมาก
และในวันสุนทรภู่ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2552 นี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงสุดยอดกวีเอกแห่งกรุงสยาม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป ร่วมกันยกย่องเชิดชูเกียรติ และเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของท่าน เนื่องจากผลงานของท่านแต่ละชิ้นนั้น สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย ที่สะท้อนความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี สามารถเป็นแบบอย่างเรื่องของการใช้ภาษาไทย ให้แก่อนุชนรุ่นหลังที่มีความสนใจ ในด้านการแต่งบทประพันธ์ ต่อไปในอนาคต
ขอบคุณที่มา variety.mcot.net