“ผู้ต้องหา” หมายความว่า บุคคลที่ถูกตำรวจจับกุมและดำเนินคดี
หน้าที่ของผู้ต้องหา
1. ตอบคำถามเจ้าพนักงานตามความจริง
2. ต้องยอมให้จับและควบคุม ถ้าขัดขืนหรือต่อสู้จะมีความผิด
3. ต้องยอมให้ค้นตัวแต่ถ้าเป็นหญิงต้องให้ผู้หญิงด้วยกันค้นเพื่อหาหลักฐาน แต่การค้นต้องมีสาเหตุ
4. ยอมให้ตำรวจยึดของที่ค้นเป็นของกลางจนกว่าศาลจะตัดสิน หรือยึดไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
สิทธิของผู้ต้องหา
1. มีสิทธิไม่ให้ตำรวจควบคุมเกินความจำเป็น
2. เมื่อเจ้าพนักงานแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้วผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ตำรวจจะบังคับให้การไม่ได้แต่ตำรวจจะบันทึกไว้ว่า “ผู้ต้องหาไม่ยอมให้การ”
3. ตำรวจต้องแจ้งข้อหาให้ทราบ และผู้ต้องหามีสิทธิโต้แย้งให้ตำรวจแจ้งข้อหาให้ทราบ
4. สิทธิที่จะแจ้งให้ญาติหรือบุคคลอื่นที่ผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการจับกุม โดยจะแจ้งทางโทรศัพท์ หรือโดยหนังสือ หรือโดยบุคคลไปบอกให้ก็ได้
5. มีสิทธิให้ทนาย หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ
6. มีสิทธิได้รับการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
7. มีสิทธิได้รับการประกันตัวต่อพนักงานสอบสวน
8. มีสิทธิตรวจ หรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวน หรือเอกสารประกอบคำให้การสอบสวน
9. ในคดีอาญามีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความตามที่กฎหมายบัญญัติ
10. ถ้าพนักงานสอบสวนฝากขังหรือผัดฟ้องต่อศาลผู้ต้องหามีสิทธิขอประกันตัวต่อศาล และขอประกันตัวทุกครั้งที่ตำรวจหรืออัยการขอฝากขัง
การประกันตัวผู้ต้องหา
คำขอประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามหลักเกณฑ์ ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในกฎหมาย และต้องแจ้งเหตุผลให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยทราบโดยเร็ว
หลักทรัพย์ในการขอประกันตัว
ò โฉนดที่ดิน, น.ส.3,น.ส.3 ก. และต้องไม่มีภาระผูกพันใด ๆ
ò สมุดเงินฝากประจำ
ò ตั๋วแลกเงินธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย
ò เช็คธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย