หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดกซึ่งได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบและการเพิกถอนผู้จัดการมรดก ตลอดถึงการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน และการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก นอกจากนี้ได้บัญญัติถึงกรณีมรดกที่ไม่มีผู้รับและอายุความมรดก เพราะผู้จัดการมรดกถือเป็นตัวแทนของทายาททุกคนในอันที่จะรวบรวมทรัพย์มรดก ทั้งจัดแบ่งทรัพย์มรดกและมอบทรัพย์มรดกแก่ทายาท โดยต้องชำระหนี้กองมรดกก่อน(ถ้ามี) มิใช่ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกจะทำได้ตามอำเภอในตนเองโดยโอนทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยลำพังและไม่แจ้งหรือปรึกษาบรรดาทายาทก่อนทั้งที่กฎหมายกำหนดบทบาทของผู้จัดการมรดกไว้แล้วในที่นี้จะขอกล่าวแต่เฉพาะที่เห็นว่าจำเป็นและควรรู้เท่านั้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. หน้าที่ผู้จัดการมรดก
1. หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว (ม.๑๗๑๖)
2. หน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก (วันฟังคำสั่งศาลหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว ตามข้อ ๑) (ม.๑๗๒๘)
3. ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน ๑ เดือน หากไม่เสร็จภายใน ๑ เดือน ผู้จัดการมรดกร้องขอต่อศาลอนุญาตขยายเวลาอีกได้ แต่ต้องขอขยายก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน (ม.๑๗๒๙)
4. บัญชีทรัพย์มรดกต้องมีพยาน ๒ คน และต้องเป็นทายาทที่มีส่วนได้เสียในกองมรดก (ม.๑๗๒๙ วรรค ๒)
(ข้อสังเกต* คำว่าบัญชีทรัพย์มรดกซึ่งจัดทำขึ้นโดยผู้จัดการมรดกหมายถึง บัญชีทรัพย์ซึ่งผู้จัดการมรดกที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลเป็นผู้ทำ หาใช่บัญชีทรัพย์ที่ยื่นพร้อมคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกไม่เพราะขณะทำบัญชีทรัพย์ถือว่ายังไม่มีหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๙๒-๑๒๙๓/๒๕๑๒)
- มาตรา ๑๗๒๘, ๑๗๒๙ เป็นบทบังคับให้ทำบัญชีทรัพย์มรดกไม่ใช่บทบังคับให้ทำบัญชีรับและจ่ายทรัพย์มรดก
- บัญชีทรัพย์มรดกต้องมีรายการแสดงว่าเป็นทรัพย์สิน, สิทธิเรียกร้องอะไรบ้างเงินมูลค่าเท่าใดและแจ้งจำนวนเจ้าหนี้ว่ามีใครบ้าง เป็นเงินรวมเท่าใด
5. ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายในกำหนดเวลาและตามแบบที่กำหนดหรือบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้ (ม.๑๗๓๑)
6. ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่ และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาล หรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้วเว้นแต่ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ม.๑๗๓๒)
7. ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดกเว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ (ม.๑๗๒๑)
8. ผู้จัดการมรดกจะทำพินัยกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล (ม.๑๗๒๒)
9. ผู้จัดการมรดกต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง (ม.๑๗๒๓)
10. ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าให้เป็นลาภส่วนตัวย่อมไม่ผูกพันทายาท เว้นแต่ทายาท เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย (ม.๑๗๒๔ วรรค ๒)
11. ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มรส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร (ม.๑๗๒๕)
12. ทายาทจะต้องบอกทรัพย์สินมรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก (ม.๑๗๓๕)
13. ผู้จัดการมรดกต้องจัดแบ่งสินมรดกและมอบโดยเร็วโดยชำระหนี้กองมรดก (ถ้ามี) เสียก่อน (ม.๑๗๔๔)
2. ความรับผิดชอบของผู้จัดการมรดก
1. ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบต่อทายาทในฐานะผู้จัดการและตัวแทนของทายาท (ม.๑๗๒๐) กล่าวคือ
1.1 เมื่อทายาทมีความประสงค์จะทราบความเป็นไปของการที่ได้มอบหมายแก่ผู้จัดการมรดกนั้นในเวลาใด ๆ ซึ่งสมควรแก่เหตุ ผู้จัดการมรดกก็ต้องแจ้งให้ทายาททราบอนึ่ง เมื่อการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ผู้จัดการมรดกต้องแถลงบัญชีด้วย (ม.๘๐๙)
1.2 เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ผู้จัดการมรดกได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นผู้จัดการการมรดกนั้น ท่านว่าผู้จัดการมรดก ต้องส่งให้แก่ทายาทจนสิ้น
อนึ่ง สิทธิทั้งหลายที่ผู้จัดการมรดกขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทำการแทนทายาทนั้น ผู้จัดการมรดกก็ต้องโอนให้แก่ทายาทจนสิ้น (ม.๘๑๐)
1.3 ถ้าผู้จัดการมรดกเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ทายาท หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจของทายาทนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ผู้จัดการมรดกต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้ (ม.๘๑๑)
1.4 ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของผู้จัดการมรดกก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นผู้จัดการมรดกก็ดี หรือเพราะทำการโดนปราศจากอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิด (ม.๘๑๒)
1.5 ถ้าผู้จัดการมรดกกระทำอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดีหรือทำนอกเหนืออำนาจก็ดี ย่อมไม่ผูกพันทายาท เว้นแต่ทายาทจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าทายาทไม่ให้สัตยาบันผู้จัดการมรดกย่อมต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ (ม.๘๒๓)
2. เมื่อศาลเห็นสมควรโดยลำพัง หรือเมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอศาลอาจสั่งให้ผู้จัดการมรดก
1. หาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของทายาทตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
2. แถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของทายาท (ม.๑๗๓๐ ประกอบ ม.๑๕๙๗)
3. การเพิกถอนผู้จัดการมรดก
ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งให้ถอนผู้จัดการมรดกเพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล (ม.๑๗๒๗)
4. ข้อควรระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้น ผู้จัดการมรดกต้องมีจิตสำนึกว่าเป็นการจัดการแทนทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกในกรณีเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือจัดการแทนผู้รับพินัยกรรมในกรณีที่มีการทำพินัยกรรม มิใช่กระทำเพื่อตัวผู้จัดการมรดกเอง ผู้ที่เป็นผู้จัดการมรดกได้จึงต้องเป็นผู้เสียสละและมีความซื่อสัตย์สุจริตเพราะถ้ากระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น เบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนเองแล้งก็จะเป็นการกระทำผิดอาญาข้อหายักยอกทรัพย์มรดก ซึ่งมีโทษถึงขั้นติดคุกได้
กรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งเป็นการดำเนินการคุ้มครองสิทธิ เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำร้องแล้ว หากมีปัญหาในการจัดการมรดก ผู้จัดการมรดกสามารถขอรับคำปรึกษาจากสำนักงานอัยการได้ เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะต้องคอยแนะนำช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านกฎหมายอยู่แล้ว
-------------------------------------------