Advertisement
❝ เรื่องเล่า ❞
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับกวีเอก สุนทรภู่
กวีไทย กวีโลก ผู้ยิ่งใหญ่
|
... เมื่อสุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ สุนทรภู่ได้ทำความชอบในหน้าที่ กล่าวคือ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ของพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตอนนางสีดาผูกคอตาย ว่า
"เอาภูษาผูกศอให้มั่น
แล้วพันกับกิ่งอโศกใหญ่
หลับเนตรจำนงปลงใจ
อรไทก็โจนลงมา
บัดนั้น
วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา
ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต
ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนลงตรงไป
ด้วยกำลังว่องไวทันที
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง
ที่ผูกศอองค์พระลักษมี
หย่อนลงยังพื้นปฐพี
ขุนกระบี่ก็โจนลงมา"
...พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นว่ากว่า หนุมานจะเข้าไปแก้ไขได้นานมาก เกรงนางสีดาจะตายเสียก่อน จึงทรงพระนิพนธ์ใหม่ให้หนุมานแก้ไขได้โดยไว ว่า
"จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด
เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งอโศกใหญ่"
...แล้วก็มาติดว่า หนุมานจะแก้นางสีดาได้โดยไวได้อย่างไร เหล่ากวีที่ปรึกษาไม่มีใครที่แต่งให้ พอพระราชหฤทัยได้ จึงให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งว่า
"ชายหนึ่งผูกศออรไท
แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น
วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย"
...ดังนี้ เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะเมื่อนำบทละครไปซ้อมแล้ว บทละครของสุนทรภู่ที่แต่งถวายนั้น เข้ากับกระบวนเล่นได้สะดวกดี จึงทรงโปรด... อีกครั้ง เมื่อทรงนิพนธ์บทชมรถทศกัณฑ์ ว่า
"รถที่นั่ง
บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล
ยอดเยี่ยมเที่ยววิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง
เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน
พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุล"
...ทรงนึกที่จะต่อให้สมกับรถที่ใหญ่โตไม่ออก จึงมีรับสั่งให้ สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งว่า
"นทีตีฟองนองระลอก
คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลขันขุ่น
เขาพระสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน
อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท
สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน
คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"
...รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรด และนับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วย อีกคนหนึ่ง และทรงตั้งให้เป็นที่ขุนสุนทรโวหารในกรมอาลักษณ์ พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่อยู่ใต้ท่าช้าง และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าฯ เป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็ทรงโปรดฯ ให้ลงเรือพระที่นั่ง เป็นพนักงานอ่านเขียน ในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน แต่สุนทรภู่เสพสุราเป็นประจำ ครั้งหนึ่งเมาสุราไปหามารดา มารดาว่ากล่าวกลับขู่เข็ญ ญาติผู้ใหญ่เข้ามาห้ามปรามกลับถูก สุนทรภู่ตีเอาบาดเจ็บ จึงถูกถวายฎีกา ถูกกริ้วและรับสั่งให้ นำตัวไปขังคุก ซึ่งก็ได้แต่งเสภาพรรณาถึงลักษณะคุกในเรื่อง
ขุนช้างขุนแผน ว่า
"ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้
ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเป็น
ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช
อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมูลก็คุ้นเคย
เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ"
...เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระนิพนธ์บทละคร ติดขัดไม่มีผู้แต่งต่อให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงมีรับส่งให้เบิกตัว สุนทรภู่ออกจากคุก สุนทรภู่ต่อกลอนได้ดังพระราชประสงค์ จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าให้พ้นโทษ กลับมารับราชการตามเดิม ในสมัยราชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ได้ออกบวช ด้วยเกรงพระราชอาญา เพราะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขัดเคืองแต่ราชกาลก่อน
เช่นครั้งหนึ่งพระองค์ทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนท้าวสามล จะให้ลูกสาวเลือกคู่ ว่า
"จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว
ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา"
...สุนทรภู่ทูลถามว่า ลูกปรารถนาอะไร ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงกริ้ว ต้องทรงแก้ว่า
"ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา"
...ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราช สุนทรภู่จึงออกบวช
ดังกล่าวในนิราศภูเขาทองว่า
"ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด
คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าพระคุณของสุนทร
แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศรีษะขาด
ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น
ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา"
......
"สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ
ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม่กำเหนิดเกิดประสบภพใดใด
ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง
อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาศัยใจกรมระทมทวี
ทุกวันนี้ซังตายทรงกายมา"
...มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งสุนทรภู่จอดเรืออยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง มีชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย แต่ทายกว่าคำถวายไม่เป็น และอาราธนาให้สุนทรภู่ช่วยสอน สุนทรภู่จึงเป็นคำกลอนว่า
"อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาหร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง
ช่อมะกอก ดอกมะปราง เนื้อย่าง ยำมะดัน ข้าวสุกค่อนขัน
น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโหล ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล
เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ"
...ในตอนตกยากสุนทรภู่ได้แต่งหนังสือหลายเรื่อง เช่น เรื่อง พระแท่นดงรัง ซึ่งมีกลอนตอนหนึ่งกล่าวว่า
"ปีวอกนักบัตรอัฐศก
ชะตาตกต้องไปถึงไพรสณฑ์
ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน
พี่ทุกข์ทนถอนใจครรไลจร"
...คือภายหลังที่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีใครกล้าอุปการะสุนทรภู่ จึงต้องตกยาก ไม่มีบ้านเรือนจะอาศัย ต้องลงเรือลอยเที่ยวอยู่ตามสวน หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง แต่งบทกลอน และทำการค้าประกอบกัน เรื่องที่แต่งนอกจากนี้มี สุภาษิตสอนหญิง ลักษณวงศ์ พระสมุทรและจันทโครบ ครั้นเมื่อสิ้นเคราะห์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดให้ประทับ ณ พระราชวังเดิมซึ่งเป็นที่เสด็จประทับในสมัยนั้น และต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาทรงอุปการะด้วย เนื่องจากพอพระหฤทัย เรื่องพระอภัยมณีและเห็นว่าแต่งค้าง จึงให้สุนทรภู่แต่งถวายให้จบ
โดยให้แต่งถวายเดือนละเล่ม นอกจากนี้ยังแต่เรื่องสิงหไกรภพ
ถวายกรมหมื่นอัปสรฯ อีกเรื่อง ในระหว่างนี้เองสุนทรภู่ได้ไปพระปฐมเจดีย์ จึงแต่งนิราศพระประธมขึ้น ซึ่งแต่งได้ดีกว่านิราศพระแท่นดงรัง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกำลังสบายใจ ดังความตอนหนึ่งว่า
"ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์
ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ
ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงพ่วงทวีป
ได้ชูชีพช่วยทุกเมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน
จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา"
...ต่อมากรมหมื่นอัปสรสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่รับอาสา พระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปหาของที่ต้องพระประสงค์ที่เพชรบุรี จึงได้แต่งนิราศเพชรบุรีซึ่งเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่ ในการไปครั้งนี้มีบุตรตามไปด้วย ๒ คน คือ พัดลูกกับภรรยาที่ชื่อจันทร์ และนิลลูกกับภรรยาที่ชื่อม่วง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงตั้งให้ สุนทรภู่เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระบวรราชวังมีบรรดาศักดิ์เป็น สุนทรโวหาร ขณะอายุได้ ๖๖ ปี ได้แต่งหนังสือ ๕ เรื่อง คือ บทละครเรื่องอภัยนุราช แต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดา
ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้ากับเสภาเรื่อง พระราชพงศาวดาร มีผู้ยกย่องว่า สุนทรภู่เป็น เอก ในทางแต่งกลอนแปด เพราะสุนทรภู่ แต่งกลอนได้ไพเราะด้วยการมีสัมผัสใน ซึ่งมีผู้ดำเนินตามตลอดจนถึง ทุกวันนี้ งานที่ดีที่สุดของสุนทรภู่ คือ นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี เพราะแต่งอย่างปราณีต ในการวางโครงเรื่อง การกำหนดสถานที่ การพรรณาอัธยาศัยตัวละคร และยังแสดงถึงความคิดก้าวหน้าล้ำยุค ของสุนทรภู่อีกด้วย คือเปลี่ยนแปลงลักษณะของพระเอกนักรบ
มาเป็นพระเอกศิลปิน และประดิษฐ์เรื่องขึ้นใหม่ โดยใช้เหตุการณ์ ใกล้เวลาของสุนทรภู่เป็นเนื้อเรื่องแทนที่จะใช้นิทานชาดกตามแบบเดิม แต่เป็นลักษณะสมจริง และเน้นความสำคัญของมนุษย์มากกว่าอำนาจเทวดา นับเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญมากของวงการวรรณคดีไทย...
..."ก่อนอื่นต้องก้มกราบดวงวิญญาณ ของบรมครูสุนทรภู่ ครูกวีเอกของไทย ครู. ทอ ได้นำเรื่องราวชีวประวัติ และผลงานต่าง ๆ ของครูมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้แล้ว"...
|
วันที่ 24 มิ.ย. 2552
หน้าหนาวแล้ว คุณครูสนใจไหม DoDo เก้าอี้แคมป์ปิ้ง รับน้ำหนักได้เยอะ พร้อมกระเป๋าจัดเก็บ โครงอลูมิเนียมรับน้ำหนักได้200KG ในราคา ฿189 - ฿509 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/9pNuttuIUm?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,165 ครั้ง เปิดอ่าน 7,153 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,462 ครั้ง เปิดอ่าน 7,192 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,355 ครั้ง เปิดอ่าน 7,189 ครั้ง เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง เปิดอ่าน 7,181 ครั้ง เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง เปิดอ่าน 7,930 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,171 ครั้ง เปิดอ่าน 7,184 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,172 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,165 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,156 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,164 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,163 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,158 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,162 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 10,717 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,069 ครั้ง |
เปิดอ่าน 2,442 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,887 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,695 ครั้ง |
|
|