Advertisement
❝
~ สุนทรภู่ ครูกวีไทย ~
สุนทรภู่ครูกวีศรีโวหาร ผู้ชำนาญเชิงอักษรสุนทรศิลป์
อีกวรรณกรรมเลื่องชื่อระบือบิณฑ์ สี่แผ่นดินแต่งกลอนสอนคนมา
มากเหลือวรรณคดีคีฏศิลป์ โลกได้ยินคำพินกันถ้วนหน้า
คนรู้จักคุณท่านทั่วโลกา วิจิตราคำสอนสุนทรเอย
❞
วันสุนทรภู่ |
|
ชีวประวัติ
ในสมัยรัชกาลที่ ๑
พระสุนทรโวหาร หรือที่รู้จักกัน ในนามของ "สุนทรภู่" เกิดเมื่อ วันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนแปด ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๓๘ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ บิดาของท่านเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง ส่วนมารดาเป็นคนกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าน่าจะทำหน้าที่เป็นพระนมในพระธิดาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ภายหลังได้แยกกันอยู่โดยไม่ทราบสาเหตุและบิดาของท่านได้กลับไปอยู่ที่เมืองแกลง ทำให้สุนทรภู่ต้องอยู่กับมารดาจนเติบโตขึ้นจึงได้รับการถวายตัวเป็นข้าราชบริพารในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขนั่นเองสุนทรภู่ได้เรียนหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก ณ สำนักวัดชีปะขาวหรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบันดังปรากฏหลักฐานที่ท่านสุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศสุพรรณ ตอนที่เดินทางผ่านวัดนี้เมื่อเติบใหญ่ขึ้นได้รับราชการในกรมพระคลังข้างสวนซึ่งมีหน้าที่เก็บอากรสวน และวัดระวางแต่ในที่สุดก็ต้องกลับไปอยู่ที่พระราชวังสถานพิมุขอย่างเดิม ณ ที่นี้จึงได้เกิดรักใคร่ชอบพอกับข้าราชบริพารหญิงชื่อ "จัน"จนต้องถูกลงอาญา ดังที่สุนทรภู่บรรยายไว้ในนิราศเมืองแกลงซึ่งสุนทรภู่แต่งขึ้นในคราวที่เดินทางไปพบบิดา หลังจากเกิดเรื่องราว และพ้นโทษแล้ว ในราวปี พ.ศ.๒๓๔๙หลังจากกลับจากเมืองแกลงสุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นข้าราชบริพารในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์และได้แต่งงานกับ "แม่จัน" คนรักสมประสงค์แต่ชีวิตคู่ของท่านมักจะมีปัญหาเสมอเพราะสุนทรภู่ชอบดื่มสุราเมามายเป็นประจำซึ่งในเรื่องนี้สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศภูเขาทอง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ชีวิตของสุนทรภู่ดีขึ้นถึงขั้นเจริญรุ่งเรืองที่สุดเพราะสุนทรภู่ได้สร้างผลงานที่แสดงถึงความเป็นยอดด้านกลอนโดยท่านเป็นกวีผู้หนึ่งที่รัชกาลที่๒ทรงโปรดมาก เนื่องจากสามารถใช้ปฏิภาณเสนอแนะบทกลอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชประสงค์ที่จะแก้ไขกลอนที่เป็นบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางสีดาผูกคอตาย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่๑ โดยที่มีเนื้อความกล่าวถึงนางสีดาจะผูกคอตายแต่หนุมานเข้าช่วยไว้ได้ทันแต่บทพระราชนิพนธ์นั้นใช้กลอนถึง ๘ คำกลอนรัชกาลที่ ๒ ทรงเห็นว่าชักช้าเกินไป ไม่ทันการณ์จึงทรงแก้ไขใหม่เพื่อให้ดีขึ้น แต่ทรงติดขัดว่าจะพระราชนิพนธ์ต่ออย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าหนุมานได้เข้ามาช่วยได้อย่างทันท่วงทีซึ่งท่านสุนทรภู่ได้กราบทูลกลอนต่อได้ทันที สุนทรภู่คงจะได้แสดงถึงปรีชาญาณของท่านสนองพระเดชพระคุณอีกหลายครั้งจนในที่สุด รัชกาลที่ ๒ จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น"ขุนสุนทรโวหาร" กวีที่ปรึกษาในกรมพระอาลักษณ์ผลงานที่สร้างชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งในขณะนั้นคือบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงามในขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์นั้น กลับต้องตกอับลงเพราะการดื่มสุราเป็นสาเหตุถึงขั้นต้องถูกลงอาญาด้วยการจำคุกเป็นที่สันนิษฐานกันว่า "พระอภัยมณี" ได้เกิดขึ้นในขณะที่ถูกจำคุกครั้งนี้เองในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๔ - ๒๓๖๗เป็นช่วงที่สุนทรภู่พ้นจากโทษแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทราบดีถึงความสามารถของท่านจึงได้โปรดเกล้าฯให้สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งเป็นพระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์จนเกิดวรรณคดีสำคัญอีก ๒ เรื่องคือ สวัสดิรักษาและสิงหไกรภพ
|
ในสมัยรัชกาลที่ ๓
พ.ศ. ๒๓๖๗ สิ้นรัชกาลที่๒แล้ว ชีวิตของสุนทรภู่ต้องตกระกำลำบากจนถึงขั้นถูกถอดยศและต้องหนีราชภัยด้วยไม่เป็นที่ทรงโปรดของรัชกาลที่ ๓ดังที่ท่านพรรณนาความไว้ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งจากการที่ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่ดังหลักฐานจากการที่เมื่อมีการประชุมเหล่ากวีในสมัยนั้นเพื่อร่วมกันแต่งคำประพันธ์จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามซึ่งถือเป็นงานใหญ่ แต่กลับไม่มีชื่อของสุนทรภู่อยู่ด้วยเรื่องนี้สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง ช่วงที่ชีวิตตกต่ำที่สุดนั้นผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรมีความเห็นว่าคงจะเป็นช่วงปี พ.ศ.๒๓๗๑ซึ่งเป็นปีที่แต่งนิราศภูเขาทอง เพราะเนื้อหาใจความหลายตอนที่ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาความไว้พ.ศ. ๒๓๗๒ สุนทรภู่ได้กลับมาเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแก้เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋วอีกครั้งโดยท่านได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาทถวาย ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๗๔ - ๒๓๗๕ เป็นช่วงที่สุนทรภู่บวชเป็นพระโดยจำพรรษาอยู่หลายวัดนอกจากนั้นได้ออกเดินทางไปเมืองต่างๆ
|
และได้แต่งนิราศขึ้นเช่น เมืองเพชรบุรีได้แต่งนิราศเมืองเพชร วัดเจ้าฟ้าเมืองอยุธยา เพื่อเสาะหายาอายุวัฒนะ ได้แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านอกจากนั้นยังได้แต่ง นิราศอิเหนาซึ่งเป็นนิราศเรื่องเดียวที่ไม่ได้เขียนบันทึกการเดินทางแต่นำเอาเรื่องอิเหนา ตอนนางบุษบาถูกลมพายุหอบและอิเหนาออกติดตามหาแต่งพรรณนาความตามแนวที่ท่านถนัดเพื่อถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๒ - ๒๓๘๓ ได้เกิดนิราศสุพรรณภายหลังจากที่ท่านเดินทางไปเมืองสุพรรณบุรีโดยนิราศเรื่องนี้แต่งเป็นคำประพันธ์โคลงสี่สุภาพนอกจากนั้นยังได้แต่งเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาซึ่งเป็นคำกาพย์ที่ใช้สำหรับการสอนอ่าน การผันสระและตัวสะกดมาตราต่างๆ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตำราเรียนภาษาไทยก็ได้ รวมทั้งท่านยังได้แต่งนิทานเป็นคำกลอนเรื่องสิงหไกรภพ (ตอนจบ) และเรื่องลักษณวงศ์ขึ้นอีกด้วยเช่นกันพ.ศ. ๒๓๘๕ แต่งเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งนักวรรณคดีเชื่อว่าท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาเกี่ยวกับชีวิตของท่านมีผู้เข้าใจว่าท่านเขียนขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งผลงานชิ้นสุดท้ายทั้งนี้เพราะท่านเกิดสังหรณ์ขึ้นมาว่าในขณะนั้นอาจจะเป็นวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านอีกทั้งยังเกิดนิมิตเป็นความฝันนอกจากรำพันพิลาปแล้วยังได้แต่งนิราศพระประธมเมื่อคราวเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์
ในสมัยรัชกาลที่ ๔
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ชีวิตของท่านสุนทรภู่ได้กลับฟื้นมาดีอีกคำรบหนึ่งโดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหารเจ้ากรมอาลักษณ์จากองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงชีวิตบั้นปลายของท่านกลับได้รับความเจริญรุ่งเรืองเสมือนในรัชกาลที่ ๒ และได้ทำให้เกิดผลงานขึ้นอีกหลายเรื่องได้แก่ บทละครเรื่อง อภัยนุราช เสภาพระราชพงศาวดารบทเห่เรื่องกากี พระอภัยมณี โคบุตร และบทเห่กล่อมจับระบำเพื่อถวายเป็นบทเห่กล่อมเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ในที่สุดบั้นปลายแห่งชีวิตก็สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๓๙๘รวมอายุได้ ๖๙ ปี ท่านสุนทรภู่ถือได้ว่าเป็นกวีสามัญชนที่สร้างผลงานอันทรงคุณค่ามากที่สุดบทกลอนของท่านได้เป็นแบบอย่างที่คนไทยยึดถือมาจนถึงปัจจุบันนี้นอกจากนั้นท่านยังได้ชื่อว่าเป็นกวีเอกของโลกท่านหนึ่งโดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือที่รู้จักกันในนามของ ยูเนสโก ( UNESCO )ได้ประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ในวาระที่ครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิดของท่าน สุนทรภู่เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบ 200 ปี เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 ? นับว่าท่านเป็นกวีสามัญชนคนแรกที่ได้รับการประกาศ เกียรติคุณเช่นนี้
สำหรับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญของชาติต่าง ๆ ในโอกาสครบรอบวันเกิด หรือวันตายที่นับเป็นศตวรรษหรือ 100 ปีขึ้นไป ของยูเนสโกนี้ก็เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณ และผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกของชาติต่าง ๆ ให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั้งโลก และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการประกาศยกย่องเพื่อก่อให้เกิดความคุ้นเคยซึ่งกันและกันโดยอาศัยบุคคลสำคัญของชาติต่าง ๆ เป็นสื่อกลาง โดยบุคคลนั้น ๆต้องเป็นบุคคลสำคัญของชาติที่มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในสากล เพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม หรือสื่อสารมวลชนซึ่งในส่วนประเทศไทยยูเนสโกได้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก จนถึงปัจจุบันในปีนี้มีดังนี้ ฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ 21 มิถุนายน 2505- ฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ 28 เมษายน 2506- ฉลองวันพระบรมราชสมภพ ครบ 200 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2511- ฉลองวันพระบรมราชสมภพ ครบ 100 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524
|
|
ผลงาน
มีอยู่มากมาย มีทั้งที่เป็น
- ประเภทนิราศ เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร ฯ
- ประเภทนิทาน เช่น โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ สิงหไกรภพ
- ประเภทบทเสภา เช่น ขุนช้างขุนแผน พระราชพงศาวดาร
- ประเภทบทเห่กล่อม เช่น เห่จับระบำ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร
คำกลอนสอนใจให้เรารู้จักรอบคอบและระมัดระวังในการคบคน เพราะจิตใจของมนุษย์นั้น ยากที่ใครจะคาดเดาได้แม้แต่ตัวของผู้นั้นเองท่านเปรียบให้เห็นว่าแม้เถาวัลย์จะคดโค้งอย่างไร ก็ยังเห็นไม่เหมือนใจคนและว่าน้ำใจความรักของพ่อแม่จึงจะเชื่อได้ อีกทั้งสอนว่าคนที่เราจะพึ่งพิงได้นั้นคือตัวของเรานั่นเอง
นอกจากนี้ท่านยังว่าวิชาความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้เลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่การมีวิชาความรู้ ก็ต้องรู้จักเอาตัวรอดด้วยจึงเป็นผลดี ในประโยคหลังนี้มีหลายคนไปตีความในทางลบ กล่าวว่าผู้ที่เอาตัวรอดนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัวแต่โดยนัยความหมายที่แท้จริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะท่านหมายถึงการที่คนเราต้องรู้จักหาทางช่วยตัวเองด้วยสติปัญญาอย่าให้อับจนหนทางต่างหาก
นอกจากนี้ยังมีสุภาษิต สำนวน คติธรรมคำสอนอีกเป็นอันมากที่เราสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างดี เช่นโบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก จงออกปากบอกแขกช่วยแบกหามการนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดกินองค์พระปฏิมายังราคิน มนุษย์เดินดินหรือจะพ้นคนนินทาอันรักษาศีลสัตย์กัตเวที ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคนทรลักษณ์อักตัญญูตาเขา เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหนหรืออย่างใน ?สวัสดิรักษาคำกลอน? ซึ่งเป็นวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ก็สอนถึงข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และการพูดจาเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ตน เช่นสอนให้ควบคุมอารมณ์ในตอนเช้าให้แจ่มใส- ว่าเช้าตรู่สุริโยอโณทัย ตื่นนอนให้ห้ามโมโหอย่าโกรธา- แล้วเอื้อนอรรถตรัสความที่ดีก่อน จะถาวรพูนเกิดประเสริฐศักดิ์- อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ- วันกำเนิดเกิดสวัสดิ์ อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศีอายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคาฯลฯ
ตัวอย่างเหล่านี้มันเป็นส่วนน้อยนิดที่ปรากฏในผลงานของท่านสุนทรภู่หากใครสนใจก็สามารถหาอ่านได้อย่างละเอียดในแต่ละเรื่องที่ท่านประพันธ์ไว้ซึ่งแต่เพียงแค่นี้เรายังได้เห็นถึงอัจฉริยะภาพในเชิงวรรณศิลป์ ตลอดจนเนื้อหาที่ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อย่างน่าทึ่งสมกับที่ท่านเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้เป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก เมื่อครบปีเกิด 200 ปี วันที่ 26 มิถุนายน 2529 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีถือเป็น ? วันสุนทรภู่ ? วันกวีไทยวันที่เราจะระลึกถึงกวีเอกของเราด้วยความภาคภูมิใจ
ตัวอย่างของงานกวีของสุนทรภู่
นิราศเมืองแกลง
นิราศเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของท่านสุนทรภู่ แต่งในปี พ.ศ. ๒๓๕๐เมื่อคราวเดินทางโดยเรือจากพระนคร และไปขึ้นบกเดินทางด้วยเท้าต่อไปถึงเมืองแกลง เพื่อไปเยี่ยมบิดาซึ่งบวชอยู่ที่ วัดบ้านกร่ำเมืองแกลง (ในเขตจังหวัดระยองปัจจุบัน)นิราศเมืองแกลงนี้พรรณนาสภาพความเป็นไปหลายอย่างของกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๑ นอกจากนั้นยังจะบรรยาย และพรรณนาถึงสภาพบ้านเมืองตามหัวเมืองแถบชลบุรี ระยอง ทั้งยังแสดงประวัติชีวิตวัยหนุ่มอันเกี่ยวกับหญิงคนรักที่ชื่อ จัน ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกไว้อย่างชัดเจน
นิราศเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของท่านสุนทรภู่ แต่งในปี พ.ศ. ๒๓๕๐เมื่อคราวเดินทางโดยเรือจากพระนคร และไปขึ้นบกเดินทางด้วยเท้าต่อไปถึงเมืองแกลง เพื่อไปเยี่ยมบิดาซึ่งบวชอยู่ที่ วัดบ้านกร่ำเมืองแกลง (ในเขตจังหวัดระยองปัจจุบัน)นิราศเมืองแกลงนี้พรรณนาสภาพความเป็นไปหลายอย่างของกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๑ นอกจากนั้นยังจะบรรยาย และพรรณนาถึงสภาพบ้านเมืองตามหัวเมืองแถบชลบุรี ระยอง ทั้งยังแสดงประวัติชีวิตวัยหนุ่มอันเกี่ยวกับหญิงคนรักที่ชื่อ จัน ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกไว้อย่างชัดเจน
ขอให้น้องครองสัตย์ปฏิญาณ ได้พบพานภายหน้าเหมือนอารมณ์
พอควรคู่รู้รักประจักษ์จิต จะได้ชิดชื่นน้องประคองสม
ถึงต่างแดนแสนไกลไพรพนม ให้ลอยลมลงมาแอบแนบอุรา
อย่ารู้จักผลักพลิกทั้งหยิกข่วน แขนแต่รอยเล็บเจ็บหนักหนา
แขนแต่รอยเล็บเจ็บหนักหนา ให้แย้มยิ้มพริ้มพร้อมน้อมวิญญาณ์
แล้วก็อย่าขี้หึงตะบึงบอน
หรือในนิราศเมืองแกลงที่สุนทรภู่ต้องจากแม่จันไปโดยมิได้ร่ำลาว่า
พี่จากไปได้แต่รักมาฝากน้อง มากกว่าของอื่นอื่นสักหมื่นแสน
พอเป็นค่าผ้าห่มที่ชมแทน อย่าเคืองแค้นเลยที่ฉันไม่ทันลา
เนื้อความในนิราศจะยกเอาสถานที่ ภูมิประเทศ หรือเหตุการณ์ หรือแม้แต่พันธุ์ไม้ที่ได้พบเห็นแล้วพรรณนา หรือบรรยายความรู้สึกถึงผู้ที่ท่านกำลัง มีจิตผูกพันอยู่ในขณะนั้น ด้วยลีลา และสำนวนกลอนที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าน เช่น
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
หรือในนิราศพระประธมซึ่งสุนทรภู่เขียนถึงแม่นิ่ม ภรรยาอีกคนของท่านซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยท่านพรรณนาความไว้ว่า
ถึงคลองขวางบางกรวยระทวยจิต ไม่ลืมคิดนิ่มน้อยละห้อยหา
เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี
แต่ก่อนกรรมทำสัตว์ให้พลัดพราก จึงจำจากนิ่มน้องให้หมองศรี
เคยไปมาหาน้องในคลองนี้ เห็นแต่ที่ท้องคลองนองน้ำตา
จะเห็นได้ว่าวิธีการดังกล่าวนี้มีมากกว่าที่พบได้ในบทกลอนเพลงยาวหรือโคลงนิราศที่มีมาก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นสิ่งที่เราจะพบได้อีกประการหนึ่งคือ การที่สุนทรภู่กล่าวถึงภรรยาหรือคนรัก ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านที่ก่อให้เกิดความเศร้าโศกทุกข์ยาก หรือเป็นสุขนั้น ท่านได้มาจากเรื่องจริงๆของตัวท่านเองทั้งสิ้น มิใช่เป็นเรื่องปรุงแต่ง หรือสร้างขึ้นมาแต่อย่างใดดังนั้นเมื่อเราอ่านนิราศทุกเรื่องของท่าน เราจึงได้ทราบชีวประวัติของท่านไปด้วย นี่คือความดีเด่น ในด้านเนื้อหานอกจากจะแต่งกลอนด้วยความชำนาญเป็นพิเศษแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยคติข้อคิดสุภาษิตต่างๆ ซึ่งท่านได้ยกมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่ผู้อ่านอย่างมากมาย เช่น
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าให้น่าอาย
และ
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สุนทรภู่ เป็นผู้ที่มีอารมณ์สนุก บางเรื่องหรือบางเหตุการณ์ท่านได้หยิบยกขึ้นมาถ่ายทอด เราในฐานะผู้อ่านคงจะอดอมยิ้มมิได้แน่ เช่น
เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง
ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง
ทั้งผ้าห่มตาถี่เหมือนสีรุ้ง ทั้งผ้านุ่งนั้นก็ออมลงกรอมดิน
เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล
นี่หากเห็นเป็นเด็กเหมือนเจ๊กจีน เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง
ดังนั้น นิราศ จึงเป็นผลงานในเชิงสร้างสรรค์ที่ทรงคุณค่า ที่มีรูปแบบเฉพาะของท่าน ดังจะเห็นได้จากที่ ไม่มีกวีคนใดในรุ่นหลังที่จะสามารถแต่งกลอนนิราศได้ดีเท่าท่านสุนทรภู่แม้แต่คนเดียว
|
Credit Krapittt............................ครูติ๋ว
วันที่ 23 มิ.ย. 2552
หน้าหนาวแล้ว คุณครูสนใจไหม DoDo เก้าอี้แคมป์ปิ้ง รับน้ำหนักได้เยอะ พร้อมกระเป๋าจัดเก็บ โครงอลูมิเนียมรับน้ำหนักได้200KG ในราคา ฿189 - ฿509 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/9pNuttuIUm?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,168 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,173 ครั้ง เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,152 ครั้ง เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง เปิดอ่าน 7,167 ครั้ง เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,232 ครั้ง เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง เปิดอ่าน 7,157 ครั้ง เปิดอ่าน 7,168 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,167 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,153 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,167 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,172 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,193 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,166 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,155 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 12,249 ครั้ง |
เปิดอ่าน 23,338 ครั้ง |
เปิดอ่าน 29,708 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,822 ครั้ง |
เปิดอ่าน 38,088 ครั้ง |
|
|