เจ้าทุยครวญ
เอี้ยงจ๋า เอี้ยงเอี้ยงจ๋า
ไปไหนหนา ไม่ขี่หลัง
วันวาน น้องร้องดัง
วันนี้ช่าง เงียบเสียงจริง
หรือว่า น้องไปไหน
บินไปไกล เจอเสือสิงห์
หรือว่า น้องถูกยิง
น้องจึงทิ้ง พี่ทุยไป
หรือว่า ทุ่งนาพี่
จะไม่มี ให้อาศัย
อีกหน่อย พวกคนไทย
จะเปลี่ยนไป ทำนาปาล์ม
หมดนา จะทำแล้ว
ทุยไม่แคล้ว ถูกเหยียดหยาม
อยู่ไป ไม่กี่ยาม
ถูกคนถาม ซื้อฆ่าแกง
อยู่ไป ไร้ความหมาย
เมื่อเจ้านาย คิดกินแหนง
บอกขาย เขาฆ่าแกง
โอ้หมดแรง หมดคู่เคียง
เอี้ยงไป อยู่ไหนเล่า
ทำไมเจ้า ไม่ส่งเสียง
หรือไป อยู่วังเวียง
ทิ้งทุ่งนา ให้ทุยคอย.
...หยาดกวี...
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒
“สมัยก่อนมีควายเยอะ หมู่บ้านนี้มีประมาณ ๘๐๐ ตัว พอถึงปี ๔๒ ทั้งหมู่บ้านเหลือควายอยู่ ๖๗ ตัว”
“ขายควาย ๘ ตัว ซื้อรถไถได้ ๑ คัน ช่วงนั้นหมู่บ้านมีรถไถเกือบ ๔๐ คัน”
ชาวบ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ ตำบลจันดุม ให้คำตอบแก่เจ้าหน้าที่โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง เมื่อครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมกลุ่มอนุรักษ์ควายไทยของหมู่บ้าน แม้จะเป็นประโยคเพื่อตอบคำถาม แต่เนื้อความก็ได้บอกเรื่องราวเอาไว้มากมายอย่างเช่น หมู่บ้านนี้เคยมีควายมากถึง ๘๐๐ ตัว จำนวนควายขนาดนี้นับว่าเป็นฝูงใหญ่เอาการ จะต้องมีบวกน้ำ (ปลักโคลน) ให้ควายลงนอนแช่จำนวนไม่น้อย และจะต้องมีงานให้ควายเหล่านี้ทำงานเป็นจำนวนมากเพราะควายกับสังคมไทยแต่เดิมมา ไม่เคยเลี้ยงควายไว้กินเนื้อ แต่เลี้ยงไว้ใช้งาน
แต่เมื่อ ๙ ปีที่แล้ว จำนวนควายลดลงเหลือเพียง ๖๗ ตัวเท่านั้น จำนวนตัวเลขของควายที่หายไป แทนที่ด้วยจำนวนรถไถ (ควายเล็ก) ๔๐ คัน ก็เพราะจำนวนควาย ๘ ตัว จึงจะได้ควายเหล็กมา ๑ คันนั่นเอง
พ่อบุญชู สายบุตร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ควายไทย เล่าถึงความเป็นห่วง ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องต้นทุนการทำเกษตรและต้องการลดต้นทุนลง ซึ่งเป็นช่วงที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบล ได้จัดงบประมาณมาให้จำนวนหนึ่งแสนบาท จึงได้มีการรวมตัวกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์ควายไทย เมื่อปี ๒๕๔๓
ถือเป็นทุนตั้งต้นนำไปซื้อควายมาได้ ๑๐ ตัว และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิหมู่บ้าน ให้ควายมาสมทบอีก ๔๘ ตัว จึงได้กระจายควายจำนวนดังกล่าวนี้ไปให้สมาชิกของกลุ่มฯ ช่วยกันเลี้ยง โดยมีข้อตกลงว่าแม่พันธุ์ตัวหนึ่งตกลูก ต้องส่งคืนให้กลุ่ม ๑ ตัว เพื่อทางกลุ่มจะได้นำให้สมาชิกใหม่เลี้ยง เป็นการขยายสมาชิกเพิ่มอีกนั่นเอง
เรื่องนี้ชาวบ้านมีข้อมูลว่า ควายเริ่มตั้งท้องได้ตั้งแต่อายุ ๓ ปี ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ ๑๐ เดือน ตกลูกปีละ ๑ ตัว ตลอดอายุขัยจะมีลูกได้ถึง ๑๔ ตัว ควายมีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๕ ปี
ท่านประธานฯ บุญชู หน้าระรื่นเมื่อตอบว่า “ ขณะนี้กลุ่มฯ มีสมาชิก ๑๒๑ ครัวเรือน และมีควายเพิ่มขึ้นถึง ๔๘๐ ตัวแล้ว”
ผลต่อเนื่องจากการเลี้ยงควายของชาวบ้านคือ ขี้ควายที่ชาวบ้านนำมาใช้แทนปุ๋ยเคมีโดยมีการคิดค่าใช้จ่ายออกมาคร่าวๆ แล้วว่า ที่นา ๑ ไร่ ใช้ปุ๋ย ๑ กระสอบราคา ๑,๓๐๐ บาท ถ้าเป็นขี้ควายต้องใช้ประมาณ ๑ ตัน ราคาประมาณ ๑,๐๐๐ บาท แต่ผลที่ได้คือใช้ปุ๋ยเคมีผลผลิตจะงามแค่ ๒ เดือน ก็ต้องใส่เพิ่ม ใช้ขี้ควายผลผลิตจะงามอยู่ ๒ ปี และทำให้ดินดีไม่แห้งแตกอีกด้วย ขี้ควายที่เหลือใช้สามารถขายให้กับกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ราคากระสอบละ ๔๐-๕๐ บาท (๓๐ กิโลกรัม) โดยชาวบ้านคนหนึ่งยืนยันว่า จะทยอยขายขี้ควายปลดหนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด พอถึงหน้าทำนา ก็จะเอาควายไถนาแทนควายเหล็กซึ่งยังช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานได้จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา
............................................................
ขอบคุณครับhttp://blog.spufriends.com/spufcontent5/788