เขียนโดย : FreeMarketThai | เผยแพร่เมื่อ : 27 April,2009
บทความโดย โกศล อนุสิม
………………………………
“ขุนช้างขุนแผน” เป็นวรรณคดีที่เล่าเรื่องของชนชั้นล่าง โดยกล่าวถึงบรรดาคนธรรมดาสามัญทั้งหลาย ทั้งระดับชาวบ้านธรรมดาและชาวบ้านที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีกว่าคนอื่น แต่ไม่ว่าชาวบ้านในขุนช้างขุนแผนจะมีสถานะทางสังคมเช่นไร ก็มาจากสามัญชนทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า ขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณคดีไทยไม่กี่เรื่องที่มีตัวเอกเป็นเหล่าสามัญชน
ขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องพื้นบ้านแถบถิ่นเมืองสุพรรณ ที่เชื่อกันว่าเป็นเรื่องสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ฉบับที่เราได้อ่านได้เรียนกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น เป็นฉบับที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดให้กวีหลายคนแต่งขึ้น ดังนั้นการระดมกันมาแต่งหนังสือในครั้งนั้น ผมคิดว่านอกจากจะเป็นการชำระเรียบเรียงเรื่องขุนช้างขุนแผนแล้ว ยังเป็นการประชันฝีมือของบรรดากวีใหญ่ทั้งหลายแห่งราชสำนักด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ สุนทรภู่ (อภิมหา)ครูกวี ที่แต่งตอนกำเนิดพลายงาม ซึ่งผมจะได้ยกมาเล่าในคราวนี้นั่นเอง
แม้ขุนช้างขุนแผนที่เราได้อ่านได้เรียนกันนั้น เป็นเหตุการณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น บรรยากาศและข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ย่อมสะท้อนเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมทางสังคมในยุคสมัยที่แต่งขึ้น ดังนั้น หากจะวิเคราะห์เอาความจริงจากวรรณคดีเรื่องนี้ ก็น่าจะได้รับรู้เรื่องราวในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ด้วย
นักปราชญ์ใหญ่อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้บอกไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่าวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ได้บอกให้เรารู้เกี่ยวกับ “อดีตตอนหนึ่งของคนไทยในรายละเอียดถี่ถ้วนเป็นอย่างยิ่ง เป็นรายละเอียดในชีวิตประจำวัน รายละเอียดในกิจการงานตลอดจนอาชีพ ความเชื่อถือ และประเพณีทั้งปวงของคนไทยในสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยามาจนถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์”
ท่านว่าของท่านอย่างนั้น แต่จะจริงหรืออย่างไรก็ปล่อยให้นักวิชาการท่านวิจัยศึกษากันไป ในที่นี้จะขอกล่าวถึงนางทองประศรี เศรษฐีนีแห่งเมืองกาญจนบุรี เมียขุนไกรที่ถูกประหารชีวิตเพราะต้องราชทัณฑ์ นางทองประศรีกับขุนไกรมีลูกชายชื่อพลายแก้ว ต่อมาเติบโตรับราชการตามรอยบิดา ได้ยศเป็นขุนแผน ขุนแผนมีเมียชื่อนางพิมพิลาไลย ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวันทอง ทั้งสองมีลูกด้วยกันชื่อพลายงาม
ต่อมาขุนแผนเดินทางไปรบ ขุนช้างคู่ปรับขุนแผนหลอกเมียกับแม่ยายขุนแผนว่าขุนแผนถูกฆ่าตายในสนามรบ ดังนั้นจึงขอแต่งงานกับนางพิมพิลาไลย ส่วนนางศรีประจันแม่ของพิมพิลาไลยก็บังคับลูกสาวแต่งงานกับขุนช้างทั้งๆที่ลูกสาวไม่อยากแต่ง ต่อมาขุนแผนกลับจากรบมาพบพิมพิลาไลยอยู่กับขุนช้าง เกิดพิโรธโกรธเคือง เรื่องก็เลยยุ่งนุงนังต่อมาอีกนาน แย่งกับครอบครองนางพิมพพิลาไลยราวกับเธอเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีชีวิต ท้ายสุดขุนช้างใส่ความขุนแผนจนถูกจับติดคุก จากนั้นก็ได้พิมพิลาไลยที่เปลี่ยนชื่อเป็นวันทองไปครอง แต่วันทองตั้งท้องกับขุนแผนอยู่ก่อน คลอดลูกออกมาชื่อพลายงาม ถูกขุนช้างกลั่นแกล้งจะหาทางฆ่าให้ตาย ในที่สุดพลายงามอายุ ๑๐ ขวบก็เดินทางไปหาย่าคือนางทองประศรีที่เมืองกาญจนุบรี
โอย กว่าจะถึงคิวนางทองประศรีก็เล่นเอาคนเล่าเหนื่อยเหมือนกันนะนี่
ทางทองประศรีก็เป็นเหมือนแม่ทั่วๆไปแหละครับ คือรักลูกปานดวงใจ รักหลานปานดวงตา เมื่อลูกต้องราชทัณฑ์ติดคุกแกก็ทุกข์จนผ่ายผอม ด้วยความรักและห่วงลูก วันๆก็นั่งจับเจ่าอยู่กับบ้านปล่อยให้ข้าทาสบริวารทำงานไป มียายปลียายเปลเป็นลูกคู่สนทนากันตามประสาคนรวยภูธรนั่นแล
นางทองประศรี แกมีมะยมอยู่ต้นหนึ่ง รสดีเป็นที่สุด แกหวงนักหวงหนา แต่เด็กๆก็ชอบมาลักมะยมแกประจำ แกรู้เข้าก็ด่าเสียงลั่นทุกครั้ง ไม่ใช่ด่าธรรมดานะครับ ด่าระดับที่ว่า “ชักโคตรเค้าเหล่ากอเอาพอเพียง” เลยแหละ คงระดับเดียวกับที่ว่า “พ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่สั่งสอน” นั่นกระมัง
ทีนี้ พลายงามเดินทางจากเมืองสุพรรณไปหาย่าที่เมืองกาญจนบุรี ก็ถามทางเขาไปเรื่อย จนกระทั่งล่วงถึงแถวใกล้ๆบ้านย่า พบเด็กเลี้ยงควายก็เข้าไปถามว่าบ้านนางทองประศรีอยู่ทางไหน เด็กๆที่ติดใจรสชาติมะยมของนางทองประศรีก็ชี้ทางกันใหญ่ แถมยังเล่ากิติศัพท์ให้รู้ด้วยว่าแกดุนักหนา จับเด็กขี้ขโมยได้ก็ลงโทษ โดยเอานมยานฟัดกบาลหัวเสียให้เข็ด สำนวนท่านครูกวีสุนทรภู่ท่านเขียนไว้ดังนี้
“…เด็กบ้านนอกบอกเล่าให้เข้าใจ
แกอยู่ไร่โน้นแน่ยังแลลับ
มะยมใหญ่ในบ้านกินหวานนัก
กูไปลักบ่อยบ่อยแกคอยจับ
พอฉวยได้อ้ายขิกหยิกเสียยับ
ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว
ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า
แกจับเอานมยานฟัดกบาลหัว
มาถามหาว่าไรช่างไม่กลัว
แกจับตัวตีตายยายนมยาน ฯ…”
อ่านแล้วนึกถึงสมัยเด็กครับ มีคนแบบนางทองประศรีอยู่จริงๆ ขี้เหนียวแล้วก็ดุด้วย ปกติแล้วคนทั่วไปเขาไม่หวงกันหรอก แต่แกหวง เด็กๆก็ช่างกระไร รู้ว่าเจ้าของดุก็ยิ่งชอบแอบไปขโมย แกเห็นก็ด่าเสียเสียงดังไปสามบ้านแปดบ้าน ทั้งกลัวทั้งสนุกแหละครับ ใครไม่โดนแกด่าถือว่าเป็นสุดยอด พรรคพวกนับถือ คงเหมือนเด็กซิ่งเด็กแว้นในปัจจุบันนี้แหละ
นางทองประศรีขี้เหนียวในวรรณคดีอย่างไร ก็มีคนขี้เหนียวในชีวิตจริงอย่างนั้นแหละ นี่คงเป็นดังคำกล่าวของนักปราชญ์และนักวิจารณ์วรรณกรรมคนสำคัญคนหนึ่งของไทยคือ อุดม สีสุวรรณ (นามปากกา พ.เมืองชมพู, บรรจง บรรเจิดศิลป์ ฯลฯ ) ที่พูดไว้ว่า “ดูวรรณกรรมจากสังคม ดูสังคมจากวรรณกรรม” นั่นเอง
ถึงแม้นางทองประศรีจะขี้เหนียวมะยมเพียงใด แต่แกก็ไม่ขี้เหนียวความรักที่มีต่อหลาน เมื่อพลายงามขึ้นไปขย่มต้นมะยมกับเด็กๆ เพื่อเรียกความสนใจจากย่านั้น แรกที่แกไม่รู้แกก็โกรธ ด่าเสียดังลั่น ถือไม้ตระบองตรงรี่ไปที่ต้นมะยม เด็กๆแตกกระเจิง มีแต่พลายงามเท่านั้นที่กระโดดจากต้นมะยมมากราบตีนย่า จึงโดนไม่ตระบองไปเสียหลายตุ้บ แถมยังโดนย่าด่าเข้าให้ ท่านสุนทรภู่บรรยายไว้ว่า “ทองประศรีตีหลังเสียงดังผึง จะมัดมึงกูไม่ปรับเอาทรัพย์สิน มาแต่ไหนลูกไทยหรือลูกจีน เฝ้าลักปีนมะยมห่มหักราน”
ถามไปถามมาได้ความว่าเป็นหลานชายจริง นางทองประศรีถึงกับปล่อยโฮ ด้วยความรักความสงสารหลานชาย ทั้งยังเจ็บใจตัวเองที่ไม่ถามไถ่ให้เรื่องก่อน ทำให้ต้องฟาดหลังหลานไปเสียหลายตุ้บจนได้แผล ภาพนี้ท่านครูกวีบรรยายว่า “ย่าเขม้นเห็นจริงทิ้งตระบอง กอดประคองรับขวัญกลั้นน้ำตา แล้วด่าตัวชั่วเหลือไม่เชื่อเจ้า ขืนตีเอาหลานรักเป็นหนักหนา จนหัวห้อยพลอยนอพ่อนี่นา” จากนั้นก็พาหลานขึ้นเรือน สั่งยายปลีให้ฝนไพล สั่งยายเปลให้หาน้ำ แกก็อาบน้ำให้หลานชาย ขัดสีฉวีวรรณ คงอาบน้ำให้หลานไปบ่นไป
เมื่อสืบสาวราวเรื่องความเป็นมาแล้วรู้ว่าขุนช้างจ้องจะทำร้ายหลานตัวเอง นางทองประศรีก็ของขึ้น ด่าผู้ที่มีส่วนกลั่นแกล้งลูกกับหลานแกยกใหญ่ โดนเฉพาะขุนช้างนั้นโดนหนัก ทั้งปลอบหลานว่ามาอยู่กับย่าแล้วไม่ต้องกลัวใครรังแก ขืนไอ้ขุนข้างมันมาก็ต้องเจอดีแบบนี้
“…พ่อมาอยู่บ้านย่าแล้วอย่ากลัว
แม้นอ้ายขุนวุ่นมาว่าเป็นลูก
มันมิถูกนมยานฟัดกบาลหัว…”
เห็นฤทธิ์แกไหมล่ะครับ ไม่เพียงแค่เอานมยานฟัดกบาลเด็กเท่านั้น แม้ขุนช้างเองขืนมาทำให้แกโกรธก็มีสิทธิ์โดนนมยานฟัดกบาลหัวด้วย
ตัวละครแบบนางทองประศรี และตัวละครอื่นๆในลักษณะเดียวกันนี้ (เรียกง่ายๆว่าตัวประกอบนั่นแหละครับ) เป็นตัวละครที่มีบทบาทน้อยก็จริง แต่เป็นข้อต่อที่ทำให้เรื่องราวดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีความสำคัญต่อโครงเรื่องทั้งหมด หากไม่มีตัวละครเหล่านี้ก็ยากที่จะทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างมีสีสันและรสชาติแห่งวรรณกรรม
ขอสรุปว่า อ่านขุนช้างขุนแผนแล้วได้รับทั้งความสนุกครึกครื้น โหด มัน ฮา ผสมโรแมนติค คลุกเคล้าด้วยความโศกเศร้ารันทด ปนหดหู่ เรียกได้ว่าครบรสชาติของชีวิตนั่นแหละครับ
ส่วนตัวแล้วผมชอบ “อ่าน” ตัวละครทั้งหลายเหล่านี้มากว่าตัวเอก เพราะตัวละครเหล่านี้แหละที่สะท้อนภาพความเป็นจริงของชีวิตได้มากกว่าตัวละครเอกที่จำเป็นจะต้องมีและรักษาภาพพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นดีหรือเลวแบบสุดโต่งเกินความเป็นจริงอยู่มาก แต่ตัวประกอบสามารถปลดปล่อยได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่จำเป็นต้องมีภาพพจน์ให้รักษานั่นเอง
หากอ่านขุนช้างขุนแผนอยู่ก็ลองอ่านชีวิตของตัวประกอบทั้งหลายให้ละเอียดนะครับ จะได้ทั้งความสนุก เพลิดเพลินและสาระตามสมควร เช่นที่ผมอ่านนางทองประศรีให้ท่านฟังอยู่นี้ หรือถ้าอ่านนิยายร่วมสมัย ก็มีตัวประกอบระดับเดียวกับนางทองประศรีให้อ่านอยู่มากมายเช่นกัน.