ชื่อเรื่อง การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้
สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นายชนะ ธนูศิลป์
ส่วนราชการ โรงเรียนบ้านหนองแวง-หนองตุ อำเภอบรบือ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2 ปีที่พิมพ์ 2552
บทคัดย่อ
กีฬาฟุตบอลเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายอีกอย่างหนึ่งที่สามารถส่งเสริมพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาของบุคคลได้เป็นอย่างดี การเล่นฟุตบอลมี จุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นการออกกำลังกายที่ จะทำให้ร่างกายมีพลานามัยสมบูรณ์ มีวินัยในตนเอง มีการประสานงานกับบุคคลอื่นและมีการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีอีกด้วย การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้จึงมีความมุ่งหมายเพื่อ 1.) พัฒนาเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2.) หาดัชนีประสิทธิผลของเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล 3.) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล และ 4.) ศึกษาระดับทักษะพื้นฐานกีฬาฟุตบอลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านหนองแวง-หนองตุ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2 จำนวน 30 คน ได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ เอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล จำนวน 10 เล่ม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินคุณภาพอยู่ในระดับมาก แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ 0.28 ถึง 0.76 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.31 ถึง 0.82 และ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.84 และแบบประเมินระดับทักษะพื้นฐานกีฬาฟุตบอล กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับและ 5 ระดับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินค่าความสอดคล้องของผลการเรียนรู้ที่คาดหวังกับข้อปฏิบัติ และเกณฑ์การให้คะแนนกับข้อปฏิบัติ มีค่าความสอดคล้อง IOC ตั้งแต่ 0.60-1.00 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานใช้ t –test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 95.70/93.25 ซึ่งสูงกว่างเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
2. ดัชนีประสิทธิผลของเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล กลุ่มสาระ การเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเท่ากับ 0.6754 ซึ่งแสดงว่านักเรียนที่เรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียน มีความก้าวหน้าทางการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 67.54
3. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาพลศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
4. ผลการประเมินทักษะพื้นฐานกีฬาฟุตบอลนักเรียนชายส่วนใหญ่มีทักษะพื้นฐานกีฬาฟุตบอลอยู่ในระดับดี และนักเรียนหญิงส่วนใหญ่มีทักษะพื้นฐานกีฬาฟุตบอลอยู่ในระดับ พอใช้
โดยสรุป การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน เรื่อง กีฬาฟุตบอล มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่สู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาการทางร่างกายเกี่ยวกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความคล่องแคล่ว ว่องไว การประสานงานกันของกล้ามเนื้อ และเกิดความชำนาญในทักษะกีฬาฟุตบอล