Advertisement
ประเวศ วะสี เสนอ10ข้อรักษาการเมืองบกพร่อง พาพ้นวิกฤตใน 10ปี
เสนอย้ำ 10 ประเด็น รักษา-ป้องกันโรคการเมืองบกพร่อง เช่น สร้างสมดุล อำนาจการเมือง-รัฐ-เงิน กำหนดจริยธรรมนักการเมือง สื่อมวลชน สร้างปชต.ชุมชน พลเมืองเข้มแข็ง พัฒนาระบบยุติธรรม เน้นรักษาระยะยาว ทำได้จะพ้นวิกฤตภายใน 10 ปี
---------------
10 ประเด็นเพื่อพัฒนาการเมือง
โดย : ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
การเมืองที่ด้อยคุณภาพคือปัญหาของชาติ เป็นเหตุให้พัฒนาอะไร ๆ ไม่สำเร็จ เช่น แก้ปัญหาความยากจนและความยุติธรรมในสังคมไม่ได้ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ แก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ ก่อให้เกิดความแตกแยกและรุนแรง
สังคมเอือมระอากับนักการเมืองที่ความรู้ความสามารถน้อยแต่โกงมาก และต้องการพัฒนาการเมืองให้หลุดพ้นจากความด้อยคุณภาพ ดังที่มีการเคลื่อนไหวของบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น
ควรที่คนไทยทุกวงการจะเคลื่อนไหวระดมความคิดว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่จะพัฒนาคุณภาพการเมือง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับควรระดมความคิด มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ชุมชนท้องถิ่น ราชการทหารพลเรือน หรือกลุ่มอื่นใด ควรระดมความคิด ถ้าคนไทยทุกภาคส่วนระดมความคิดและร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ประเทศก็สามารถหลุดจากความติดขัดไปสู่จุดลงตัวใหม่ได้ อย่าปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น
จุดลงตัวใหม่ น่าจะเป็นทั้งประชาธิปไตย- ธรรมาธิปไตย- สังคมาธิปไตย
ที่จริงคำว่าประชาธิปไตยคำเดียวก็น่าจะกินความได้ทั้งหมด ถ้าเป็นประชาธิปไตยที่แท้ แต่มักมองประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น จริงอยู่เราควรยอมรับการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เลือกตั้งได้อำนาจแล้วไปทำไม่ดีอะไรก็ได้ ทำให้ประชาธิปไตยบิดเบี้ยว จึงต้องมี ธรรมาธิปไตยด้วย คือ มีธรรมหรือความถูกต้องเป็นอำนาจ
สังคมาธิปไตย หมายถึง สังคมมีความเข้มแข็ง ความเป็นสังคมคือความร่วมกัน มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันเต็มสังคม อำนาจของความเป็นสังคมเข้มแข็งทำให้เกิดสิ่งถูกต้องดีงาม บางคนจึงมองว่าความเป็นประชาสังคม หรือสังคมาธิปไตยนั่นแหละคือประชาธิปไตยที่แท้จริง
ฉะนั้น การพัฒนาการเมืองอย่าไปมองแคบเฉพาะนักการเมือง และการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องมองระบบการเมืองอย่างบูรณาการที่เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมด
ในการระดมความคิดควรจะกำหนดประเด็นว่า แต่ละกลุ่มจะทำงานในประเด็นใดบ้าง และเกาะติดค้นคว้าหาความรู้มาประกอบการทำงานในประเด็นนั้น ๆ เคลื่อนไหวให้เกิดการมีส่วนร่วม จนนำไปสู่การปฏิบัติได้ ในที่นี้ขอเสนอประเด็นเพื่อระดมความคิด ๑๐ ประเด็นด้วยกันคือ
๑. การแยกอำนาจการเมือง อำนาจรัฐ อำนาจเงิน การเสียดุลอำนาจคือต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยกรุนแรง ในระบบทุนนิยมทุนมีขนาดใหญ่อย่างมโหฬารและมีอำนาจมาก เมื่อทุนขนาดใหญ่ถูกนำเข้ามาใช้ในการแสวงหาอำนาจทางการเมือง ประเทศก็เสียดุลอย่างรุนแรง เพราะทุนขนาดใหญ่สามารถซื้อได้ทุกเรื่องและทุกวงการ เมื่อพรรคการเมืองอยู่ในฐานทุนแทนที่จะอยู่ในฐานมวลชนก็ขาดความเป็นประชาธิปไตยที่แท้ เกิดธนาธิปไตยเข้ามาแทน
อำนาจรัฐ หมายถึง ระบบราชการ ขณะนี้อำนาจการเมืองครอบงำระบบราชการหมดทุกกระทรวง ทำให้ระบบราชการอ่อนแอ และเป็นเครื่องมือคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ควรจะคิดถึงการลดอำนาจเงินในทางการเมือง การควบคุมภาคธุรกิจไม่ให้รวมศูนย์ผูกขาดอำนาจและเชื่อมโยงกับการเมือง การเคลื่อนไหวของเงินต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ว่ามีความถูกต้อง ต้องทำให้รอยต่อระหว่างอำนาจการเมืองและอำนาจรัฐเป็นไปอย่างถูกต้องสร้างสรรค์ ระบบราชการจะต้องมีศักดิ์ศรี มีความรู้ มีความสุจริต เป็นเสาหนึ่งของประเทศ
๒.กำหนดจริยธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมือง สื่อมวลชน มหาวิทยาลัย สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ภาคประชาสังคม ควรจะเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนมาให้ความเห็นว่า เขาอยากเห็นจริยธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นอย่างไร แล้วนำความเห็นมาสังเคราะห์เป็นข้อกำหนดทางจริยธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่คนทั้งประเทศร่วมกันสร้างและเข้ามากำกับ นั่นคือสังคมกำกับจริยธรรมของพรรคการเมืองและนักการเมือง
๓.ประชาธิปไตยชุมชนท้องถิ่น ประชาธิปไตยระดับชาติโดยขาดฐานนั้นไม่สำเร็จ ฐานของสังคมคือชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม-วัฒนธรรม-การเรียนรู้-สุขภาพ-ประชาธิปไตย เป็นบ่อเกิดของความสงบสุข จะแก้ปัญหาต่างๆ เกือบทั้งหมด ควรกระจายอำนาจไปให้ชุมชนท้องถิ่นทำเองให้มากที่สุด ภาครัฐปรับบทบาทไปเป็นผู้สนับสนุน ความขัดแย้งต่าง ๆ จะลดลง รวมทั้งความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้
ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจะทำให้รัฐประหารไม่ได้และลดการดึงดูดนักการเมืองที่จะเข้ามาคอร์รัปชั่น เพราะอำนาจกระจายไปหมดแล้ว
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อยังรวมศูนย์อำนาจนั้น คนชั้นสูงและคนรวยมีอำนาจมากมีการเล่นพวกและคอร์รัปชั่นมโหฬาร เมื่อกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ประชาชนเข้ามาควบคุมการทำงานของรัฐได้โดยตรงคอร์รัปชั่นก็หมดไป สวิตเซอร์แลนด์มีพลเมืองประมาณ ๗ ล้านคนเท่านั้น แต่แบ่งเป็นท้องถิ่น(Canton) ถึง ๒๓ และส่วนการปกครองกึ่งอัตโนมัติอีก ๓ รวมเป็น ๒๖
ถ้าช่วยกันทำความเข้าใจและสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจังประเทศไทยน่าจะพ้นวิกฤตภายใน ๑๐ ปี
๔. ความเข้มแข็งของภาคพลเมือง ประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่คุณภาพและการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง พลเมืองที่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและความถูกต้องดีงาม มีความรู้ มีเหตุผล มีส่วนร่วมในกิจสาธารณะจะเป็นผู้ควบคุมให้การเมืองมีคุณภาพ ระบบการศึกษาประสบความล้มเหลวในการสร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึก เพราะเอาแต่ท่องวิชา
ระบบการศึกษาทุกระดับทุกประเภทควรจะปรับวัตถุประสงค์มาสร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึก พลังจิตสำนึกนั้นเสมือนพลังนิวเคลียร์มนุษย์ที่ซ่อนอยู่ภายใน ถ้าระเบิดพลังจิตสำนึกออกมาได้จะเกิดพลังมหาศาล ระบบการศึกษาต้องรีบทำความเข้าใจว่าจะสร้างพลังจิตสำนึกได้อย่างไร มาตรา ๘๗ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายในการพัฒนาและในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
นี่คือที่เรียกว่าการเมืองภาคพลเมือง กลไกของรัฐทุกระดับทุกประเภทควรปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๗ เพื่อให้ภาคพลเมืองมีความเข้มแข็ง กระบวนการผลักดันการพัฒนาการเมืองควรหามาตรการที่ทำให้กลไกของรัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในการสนับสนุนความเข้มแข็งภาคพลเมือง
๕. การสื่อสารและสื่อมวลชนเข้มแข็ง การสื่อสารที่ดีและทั่วถึงจะทำให้ประชาธิปไตยเติบโตอย่างรวดเร็ว ควรมีระบบการสื่อสารที่ดีที่ทำให้ประชาชนรู้ความจริงโดยทั่วถึง มีจิตสำนึก มีเหตุมีผล มีส่วนร่วม
สื่อมวลชนที่เข้มแข็งเป็นเครื่องมือหยุดยั้งคอร์รัปชั่นชะงัดที่สุด ขณะนี้สื่อมวลชนยังขาดระบบสนับสนุน มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็ยังเกือบไม่ได้สนับสนุนสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบเลย อยากเห็นนักการเมืองมีคุณภาพต้องมีระบบสนับสนุนสื่อมวลชนที่แข็งแรง
๖. มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยควรจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาของประเทศออกจากวิกฤต ที่แล้วมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาที่ลอยตัวจากปัญหาสังคม (Non-engaged education) เพราะเอาวิชาเป็นตัวตั้ง มหาวิทยาลัยควรสร้างบัณฑิตที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นบุคคลอุดมคติท่มีจิตสำนึกสาธารณะสูง มีความกล้าหาญ มีความสุจริต มีความรอบรู้ เป็นกำลังที่จะพัฒนาสังคมไปสู่ความถูกต้องดีงาม
มหาวิทยาลัยควรทำการสังเคราะห์นโยบายสาธารณะและเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร เพื่อสนับสนุนบทบาทของสังคมในการพัฒนาการเมืองทั้ง ๙ ประเด็น ที่กำลังกล่าวถึง การเมืองภาคพลมืองคงจะเข้มแข็งได้ยาก ถ้ามหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนเชิงข้อมูลข่าวสารและประเด็นเชิงนโยบาย ชุมชนท้องถิ่นจะเข้มแข็งโดยรวดเร็วถ้ามหาวิทยาลัยสนับสนุนเชิงวิชาการ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เช่นหนึ่งมหาวิทยาลัยต่อหนึ่งจังหวัด
๗. ระบบความยุติธรรม ระบบความยุติธรรมที่ถูกต้องทันกาลเป็นปัจจัยของประชาธิปไตย ควรมีการรวมตัวกันพัฒนาระบบความยุติธรรม
๘. ธรรมาภิบาลขององค์กร องค์กรต่างๆ เช่นองค์กรอิสระ ธนาคารแห่งประเทศไทย การบินไทย การสื่อสาร ฯลฯ ถ้าขาดธรรมาภิบาล จะนำไปสู่ความล่มสลายของประเทศ
๙. กองทัพในสังคมสมัยใหม่ ต้องเป็นมืออาชีพ ปลอดการเมือง ไม่เข้าไปทำรัฐประหาร ไม่กินหัวคิวค่าซื้ออาวุธ เป็นสถาบันพัฒนากำลังคน มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความรู้ ได้รับค่าตอบแทนสมฐานะ กองทัพที่มีความเป็นสถาบันจะเป็นเสาหลักค้ำยันประชาธิปไตย
๑๐. ความเป็นธรรม ประเทศไทยจะต้องทำเรื่องความเป็นธรรมอย่างจริงจัง เพราะความไม่เป็นธรรมเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง และความรุนแรง ถ้าช่องว่างห่างกันมากเกินจะอยู่ร่วมกันด้วยสันติไม่ได้ มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยควรจะวิจัยเรื่องความไม่เป็นธรรมเพื่อคลี่ความซับซ้อนให้สาธารณะเข้าใจและขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นธรรมได้
ประเทศไทยคงต้องทำให้ ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ (๑) ป้องกันความรุนแรง (๒) รักษาตามอาการทำนองใช้พาราเซตามอล แก้ไข้ แก้ปวด (๓) รักษาตามสมุฏฐานดังเช่นประเด็นทั้ง ๑๐ ที่ยกตัวอย่างมา
ซึ่งอาจจะเพิ่มเติมขึ้นได้อีก บุคคล กลุ่มหรือสถาบัน ควรระดมความคิดและหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ประเด็นมีความชัดเจนถึงขั้นปฏิบัติได้ คนไทยทั้งหมดควรร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก
|
การเมืองมันเครียด.....แต่อย่าลืมซีเรียสเรื่องการบ้าน....ต้องอ่าน10Amazing"ฯ
|
วันที่ 21 มิ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,407 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,133 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,151 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 14,708 ครั้ง |
เปิดอ่าน 49,459 ครั้ง |
เปิดอ่าน 59,456 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,287 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,738 ครั้ง |
|
|