การยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ดร.ปราวีณยา สุวรรณณัฐโชติ *
ดร. ปรัชญนันท์ นิลสุข **
บทความตีพิมพ์ในวารสารพัฒนาเทคนิคศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 56 ตุลาคม-ธันวาคม 2548
การก่อเกิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ทางด้านการศึกษา มักมีปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจ ความไม่รู้ และความไม่แน่ใจในเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นว่าจะเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เพื่อจัดการศึกษา การเรียนรู้ของนักเรียนหรือไม่ ประเด็นสำคัญประการหนึ่งของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการศึกษา คือ การยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาจารย์
บทนำ
ตราบใดที่ผู้บริหารและครู-อาจารย์ในสถานศึกษา เห็นว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่มีประโยชน์ ไม่เข้าใจในประโยชน์ ไม่รับรู้หรือรับทราบ ไม่ติดตามข่าวสาร ไม่เคยใช้หรือเคยชินกับเทคโนโลยีเหล่านั้น ก็จะทำให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่ถูกนำไปเผยแพร่ในสถานศึกษา ไม่ว่าสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านั้นจะดีเพียงใด การยอมรับที่จะทำความรู้จัก เข้าใจ การนำไปใช้ จนเป็นนิสัย หรือนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขึ้นอยู่กับตัวของบุคคลเป็นสำคัญ 2 กลุ่ม คือ ผู้บริหาร และครู-อาจารย์ ถ้าบุคคล 2 กลุ่มขาดการยอมรับ ความรู้ความเข้าใจ ไม่เคยนำไปใช้ หรือไม่เคยเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใดๆ เลย จะทำให้ยากต่อการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้สถานศึกษา
ระดับของการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้บริหารและครู-อาจารย์ ตามแนวคิดของ Roger (1986) สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ
1. กลุ่มที่อยู่ในระดับยอมรับมากที่สุด
2. กลุ่มที่อยู่ในระดับมาก
3. กลุ่มที่อยู่ในระดับปานกลาง
4. กลุ่มที่อยู่ในระดับน้อย
5. กลุ่มที่อยู่ในระดับน้อยที่สุด
ระดับของการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทั้ง 5 ระดับ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ ทั้ง 5 กลุ่ม สามารถแยกแยะหรือจำแนกระดับของการยอมรับนวัตกรรมออกได้ แต่ไมได้หมายความว่าผู้ที่ได้คะแนนน้อยหรือแยกแยะออกมาแล้วอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะต้องอยู่ในกลุ่มนั้นตลอดไป ระดับการยอมรับของนวัตกรรมมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาขึ้นไปได้ เช่น คนที่ไม่เคยยอมรับนวัตกรรมเลย เมื่อมาถึงจุดหนึ่งอาจพัฒนาตนเองไปถึงระดับปานกลางหรือยอมรับมากที่สุดและใช้อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น การจำแนกกลุ่มบุคคลที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับนวัตกรรม จึงเป็นการจำแนกหรือแยกแยะในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ระดับการยอมรับสามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือกระบวนการได้ตลอดเวลา ถ้าเราจำแนกการยอมรับนวัตกรรมของผู้บริหาร ครู-อาจารย์ สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มที่มีระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากที่สุด
กลุ่มผู้บริหาร ครู-อาจารย์ที่มีระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี หมายถึง กลุ่มที่สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้คล่องแคล่ว เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ มีการใช้เทคโนโลยีประเภทใดประเภทหนึ่งในการบริหารจัดการอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารทางด้านเทคโนโลยี เคยเข้าร่วมกิจกรรม ฝึกอบรมการพัฒนาร่วมในการผลิต หรือเกี่ยวข้องโดยตรงงานทางด้านเทคโนโลยี คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทุกประเภทในระดับสูงสุด นั่นคือ ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ กิจกรรม นโยบายใหม่ บุคคลกลุ่มนี้จะเข้าร่วมและทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนของนักเรียน ดังนั้นกลุ่มนี้เป็นแนวหน้าในการที่จะนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาในการจัดการศึกษา มักจะเป็นผู้ที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีโดยตรงหรือมีความสนใจเป็นพิเศษ มีการพัฒนาการมานานหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่สม่ำเสมอ หรือจำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา
2. กลุ่มที่มีระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาก
กลุ่มที่ยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับมาก หมายถึง กลุ่มผู้บริหาร ครู-อาจารย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอยู่สม่ำเสมอหรือบ่อยครั้งที่ต้องใช้ กลุ่มนี้เห็นความจำเป็นและความสำคัญของการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารการจัดการศึกษา เพียงแต่อาจไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม และพยายามสรรหาหรือเข้าไปใช้เทคโนโลยีในการนำมาบริหารจัดการ หรือเป็นครู-อาจารย์ที่สนใจและชอบแต่มีทุนทรัพย์น้อยหรือไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ได้รับการสนับสนุน จึงทำให้ไม่มีโอกาสพัฒนาตนเอง หรือโอกาสที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ กลุ่มนี้สามารถพัฒนาไปในระดับที่ยอมรับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสูงสุดได้ ถ้าได้รับการฝึกอบรมหรือหน่วยงานมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปใช้อย่างสม่ำเสมอ ในทางตรงกันข้ามหากขาดการสนับสนุนจากหน่วยงาน หรือองค์กรไม่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เข้าไปทำให้เกิดการพัฒนา อาจทำให้เสื่อมถอยหรือตามเทคโนโลยีไม่ทันหรือเบื่อหน่าย ในที่สุดกลุ่มนี้อาจไม่พัฒนาหรือยอมรับนวัตกรรมในระดับที่ปานหรือลดลงได้
3. กลุ่มที่มีระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีปานกลาง
กลุ่มที่ยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับปานกลาง หมายถึง กลุ่มที่มักจะเป็นผู้ที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีพอใช้งานได้ เคยอบรม ใช้งานในบางโอกาส หรือหน่วยงานสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ค่อยได้ติดตามเทคโนโลยี รู้จักและเข้าใจนวัตกรรมพอสมควร เคยทำงานที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง และพร้อมที่จะยอมรับเทคโนโลยีให้มากขึ้นกว่าเดิม ถ้าได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุน ในขณะเดียวกันการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มนี้อาจลดลงได้ถ้าหน่วยงานไม่มีการสนับสนุนและพัฒนาให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางการศึกษาเลย ฉะนั้นกลุ่มนี้จึงอยู่ในระดับที่พอใช้งานเทคโนโลยีได้ พอเข้าใจว่ามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใดอยู่บ้าง รู้จักและเข้าใจในเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสหรือได้ใช้บ่อยนัก หรืองานที่ทำอยู่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีโดยตรง ทำให้ตัวผู้ใช้มีการยอมรับเทคโนโลยีในระดับปานกลาง
4. กลุ่มที่มีระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีน้อย
กลุ่มที่ยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับน้อย หมายถึง กลุ่มผู้บริหาร ครู-อาจารย์ที่มีความพร้อมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการศึกษา แต่ขาดความรู้ ความเข้าใจ ไม่ทราบแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ต่าง ขาดการฝึกอบรมพัฒนา ทุนน้อย อยู่ห่างไกล ทำให้มีส่วนในการเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากนัก หรือบริหารจัดการ การสอนในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเลย ทั้งที่ตัวเองก็สนใจ หรือพอจะรู้ว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาบ้างแต่ขาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วม ทำให้กลุ่มนี้อยู่ในระดับพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีแต่ขาดผู้นำเข้าสู่ระบบนวัตกรรมและเทคโนโลยี ใหม่ๆ กลุ่มนี้สามารถขยับเข้ามาอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อยู่เสมอ เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ยอมรับนวัตกรรม เสมอไป หรือไม่รับรู้รับทราบเพียงแต่ขาดโอกาสหรือมีอุปสรรค อยู่ชนบทห่างไกล เพราะคนที่อยู่ในเมืองมีเทคโนโลยีมากมายก็อาจอยู่ในกลุ่มนี้ได้หากขาดการใฝ่รู้ ขาดการติดตามข่าวสารหรือขาดการมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้นผู้บริหาร ครู-อาจารย์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ต้องพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ กิจกรรมต่างๆ เกี่ยวเทคโนโลยีใหม่ให้มากขึ้น อยู่สม่ำเสมอ
5. กลุ่มที่มีระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีน้อยที่สุด
กลุ่มที่มีการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีน้อยที่สุดหรือาจเรียกได้ว่า กลุ่มที่ไม่ยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีหมายถึง กลุ่มที่ไม่เคยใช้เทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ หรือไม่เคยใช้เทคโนโลยีใดๆ ในการเรียนการสอน อาจจะรู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ และรู้จักเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แต่ไม่ใช้ในการบริหารจัดการเรียนการสอน กลุ่มนี้เป็นลักษณะที่มองไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี คิดว่าวิธีการเดิมๆ ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่จึงไม่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาสู้สิ่งที่มีอยู่เดิมไม่ได้ อาจเกิดจากทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเทคโนโลยีเลย หรือทำงานกับกลุ่มคนที่ที่ไม่ใช้เทคโนโลยีด้วยกัน หรือคำนึงถึงเรื่องราคาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีราคาค่อนข้างสูงจึงไม่ยอมรับที่จะใช้ ขณะเดียวกันมีพื้นฐานเดิมที่ไม่สนใจที่จะฝึกอบรม ติดตาม หรือพัฒนาตนเอง ทำให้ไม่ยอมรับหรือใช้เทคโนโลยีในด้านใดด้านหนึ่ง แม้ว่าเทคโนโลยีจะนำความสะดวกสบายมาให้ผู้ใช้ แต่ตัวผู้ใช้เห็นว่าวิธีการเดิมดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง
กลุ่มนี้ถือว่าต้องพัฒนาโดยเร่งด่วน และหาทางปรับระดับอย่างน้อยควรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีบ้าง โดยให้ได้ทดลองใช้ ได้ใช้ ยอมรับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการหรือนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการเรียนการสอนบ้าง มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งระบบการศึกษามีนวัตกรรมใหม่ แนวคิดใหม่ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ถ้ากลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณมากจะเป็นเรื่องที่ลำบากต่อการพัฒนาระบบการศึกษาให้ก้าวหน้าได้ช้า
แนวทางการประเมินระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี
การประเมินระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ใช่การประเมินในลักษณะที่วัดเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เป็นการประเมินสภาพแวดล้อมว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ครู-อาจารย์นั้นมีอยู่ในสภาพแวดล้อมในลักษณะใด วิธีการประเมินการยอมรับเทคโนโลยีไม่ได้ตรวจสอบเพียงแค่การใช้เครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่เท่านั้น และความเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีไม่ได้หมายถึงคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ๆ แต่ประการใด แต่การประเมินการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นการประเมินตัวบุคคลหรือสภาพแนวคิด การรับรู้ของผู้บริหาร ครู-อาจารย์ มีความรู้สึก ความคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่ตนปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน และนำผลของแนวคิดประจำวันมาประเมินว่า บุคคลระดับใดจะเป็นผู้ที่มีการยอมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสู่ชีวิต ดังนั้นแบบประเมินที่ใช้ในการประเมินการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี แบ่งออกเป็น 2 ตอน
ตอนที่ 1 เป็นการประเมินการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และปริมาณการใช้หรือการมีส่วนร่วม การติดตามเทคโนโลยีสมัยใหม่
ตอนที่ 2 เป็นการประเมินสภาพของความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในชีวิต เช่น การดูรายการโทรทัศน์ เทคโนโลยีหรือสิ่งก้าวหน้าใหม่ๆ การศึกษาดูงาน การมีส่วนร่วมต่อ และแนวคิดที่มีต่อเทคโนโลยี ในตอนที่ 2 เป็นการศึกษาสภาพชีวิตจริงของผู้ที่ถูกประเมินว่า มีระดับของการยอมรับหรือความเข้าใจของเทคโนโลยีในสภาพของความเป็นจริงในชีวิตอย่างไรบ้าง และนำมาคิดเป็นคะแนนในภาพรวมต่อไป
ดังนั้น การแบ่งระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้ง 5 ระดับ จะมีการให้คะแนน 5 ส่วนด้วยกันคือ
ถ้าผู้ถูกประเมินมีระดับคะแนน 80 - 100 คะแนน แสดงว่า ผู้ถูกประเมินเป็นกลุ่มที่ยอมรับ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับมากที่สุด
ถ้าผู้ถูกประเมินมีระดับคะแนน 66 - 79 คะแนน แสดงว่า ผู้ถูกประเมินเป็นกลุ่มที่ยอมรับ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับมาก มีความจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมอยู่เป็นประจำ
ถ้าผู้ถูกประเมินมีระดับคะแนน 51 - 65 คะแนน แสดงว่า ผู้ถูกประเมินเป็นกลุ่มที่ยอมรับ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับปานกลาง สามารถใช้เทคโนโลยีได้ตามความจำเป็น นั่นคือ ยอมรับในบางหัวข้อหรือพอใช้เป็นบ้างในบางครั้ง
ถ้าผู้ถูกประเมินมีระดับคะแนน 36 – 50 คะแนน แสดงว่า ผู้ถูกประเมินเป็นกลุ่มที่ยอมรับ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับน้อยหรือมีความพร้อมที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้งาน แต่ทำได้ในระดับที่น้อย
ถ้าผู้ถูกประเมินมีระดับคะแนน 20-35 คะแนน แสดงว่า ผู้ถูกประเมินเป็นกลุ่มที่ยอมรับ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีน้อยที่สุด เพราะบุคคลกลุ่มนี้จะให้คะแนนแบบประเมิน 1 แทบทุกข้อ
ระดับการยอมรับนวัตกรรม เป็นความจำเป็นสำหรับการประเมินหรือการวิเคราะห์ ผู้บริหาร ครู-อาจารย์ ซึ่งในการออกแบบระบบหรือพัฒนาการเรียนการสอนในระบบการศึกษาให้ก้าวหน้าไป การประเมินการยอมรับนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำเป็นสิ่งแรก เพื่อจะได้ทราบว่า ควรนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาได้ดีหรือไม่ หากผู้บริหาร ครู-อาจารย์ ขาดการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเสียแล้ว ก็ไม่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อนักเรียน นักศึกษาได้ ในที่สุดแล้วจะทำให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการ การเรียนการสอน
บทสรุป
ดังนั้นนักการศึกษา นักเทคโนโลยีการศึกษา ที่ต้องการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปใช้ในองค์กรหรือสถานศึกษา ควรคำนึงถึงการยอมรับนวัตกรรม เพราะเป็นขั้นตอนแรกในการวิเคราะห์ระบบทั้งหมด ซึ่งการวิเคราะห์ระบบเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ประสบความสำเร็จต้องทราบตั้งแต่การวิเคราะห์องค์กร โดยใช้ SWOT เป็นการวิเคราะห์องค์กร การดูความต้องการจำเป็น การวิเคราะห์ผู้เรียนในเรื่องแบบเรียนรู้ Learning Style การวิเคราะห์ระดับการยอมรับนวัตกรรม สามารถนำไปใช้ได้ทั้งผู้บริหาร ครู-อาจารย์ เมื่อได้ทราบระดับการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้ว ทำให้สามารถกำหนดนโยบายหรือวางแผนพัฒนาระบบการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมโดยไม่สูญเปล่า
หนังสืออ้างอิง
Rogers, E.M. Diffusion of Innovations. New York : The Free Press, 1986.
แบบประเมินตนเองระดับการยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศ
(ปราวีณยา สุวรรณณัฐโชติ และปรัชญนันท์ นิลสุข, 2547)
คำชี้แจงแบบประเมิน
การประเมินระดับการยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการประเมินสภาพความเป็นจริงของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อได้ทราบระดับของตนเอง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจบริหารและจัดการบุคลากรในหน่วยงาน ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แบบประเมินมี2 ตอน การเลือก 3 ระดับคือ บ่อยครั้ง (5) บางครั้ง (3 คะแนน) น้อยครั้ง (1)
ระดับการยอมรับ บ่อยครั้งจะได้5 คะแนน
บางครั้งจะได้3 คะแนน
น้อยครั้งจะได้1 คะแนน
ตอนที่1 กรุณาเลือกข้อที่ตรงกับสภาพที่เป็นจริงของท่านมากที่สุดเพียงข้อเดียว
การประเมินระดับการยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศ
|
บ่อยครั้ง(5)
|
บางครั้ง(3)
|
น้อยครั้ง(1)
|
1. ท่านใช้คอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำ
|
………..
|
………..
|
…………
|
2. ท่านเคยเข้ารับการอบรมคอมพิวเตอร์
|
………..
|
………..
|
…………
|
3. ท่านทำงานเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์
|
………..
|
………..
|
…………
|
4. ท่านเคยอธิบายการทำงานคอมพิวเตอร์ให้ผู้อื่นฟัง
|
………..
|
………..
|
…………
|
5. ท่านชอบซักถามปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กับผู้รู้
|
………..
|
………..
|
…………
|
6. ท่านพยายามส่งเสริมคนรอบข้างให้ใช้คอมพิวเตอร์
|
………..
|
………..
|
…………
|
7. ท่านสนใจติดตามข่าวสารความก้าวหน้าคอมพิวเตอร์
|
………..
|
………..
|
…………
|
8. ท่านพยายามฝึกฝนคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง
|
………..
|
………..
|
…………
|
9. ท่านสนใจและพร้อมจะเรียนรู้เมื่อมีโปรแกรมใหม่
|
………..
|
………..
|
…………
|
10. ท่านสามารถแก้ปัญหาข้อขัดข้องคอมพิวเตอร์ได้บ้าง
|
………..
|
………..
|
…………
|
รวมคะแนน
|
………..
|
………..
|
…………
|
ตอนที่2 กรุณาเลือกข้อที่ตรงกับสภาพที่เป็นจริงของท่านมากที่สุดเพียงข้อเดียว
การประเมินระดับการยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศ
|
บ่อยครั้ง(5)
|
บางครั้ง(3)
|
น้อยครั้ง(1)
|
11. ท่านเคยดูรายการโทรทัศน์การศึกษา มสธ, รามฯ, กศ.น.
|
………..
|
………..
|
…………
|
12. ท่านศึกษาคอมพิวเตอร์จากการอบรมผ่านดาวเทียมไทยคม
|
………..
|
………..
|
…………
|
13. ท่านสามารถบอกวิธีใช้วีดิโอ/โทรทัศน์ให้ผู้ร่วมงานได้
|
………..
|
………..
|
…………
|
14. ท่านต้องใช้เทคโนโลยีด้วยตนเองในหน่วยงานของท่าน
|
………..
|
………..
|
…………
|
15. ท่านติดตามความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตอย่างสนใจ
|
………..
|
………..
|
…………
|
16. ท่านแนะนำผู้ร่วมงานให้ใช้สื่อทันสมัยแม้ท่านจะไม่รู้จักดีนัก
|
………..
|
………..
|
…………
|
17. ท่านชอบศึกษาดูงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
|
………..
|
………..
|
…………
|
18. ท่านพยายามดูแลซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าในสำนักงาน
|
………..
|
………..
|
…………
|
19. ท่านยินดีถ้าได้ร่วมสัมมนาหรืออบรมเทคโนโลยีสมัยใหม่
|
………..
|
………..
|
…………
|
20. ท่านมีส่วนร่วมในโครงการอบรมและพัฒนาเทคโนโลยีเสมอ
|
………..
|
………..
|
…………
|
รวมคะแนน
|
|
|
|