ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ประวัติ .. สุนทรภู่.........มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 7,138 ครั้ง
Advertisement

ประวัติ .. สุนทรภู่.........มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์

Advertisement

image

สุนทรภู่ มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์


วัยเด็ก (พ.ศ.๒๓๒๙ - ๒๓๔๙) แรกเกิด - อายุ ๒๐ ปี


พระสุนทรโวหาร (ภู่) มีนามเดิมว่า ภู่ เป็นบุตรขุนศรีสังหาร (พลับ) และแม่ช้อย เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาสองโมงเช้า ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลังคลองบางกอกน้อย
image
สุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าจากกัน ฝ่ายบิดากลับไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ส่วนมารดา คงเป็นนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง (กล่าวกันว่า พระองค์เจ้าจงกล หรือ เจ้าครอกทองอยู่) ได้แต่งงาน มีสามีใหม่ และมีบุตรกับสามีใหม่ ๒ คนเป็นหญิง ชื่อฉิม และนิ่ม ตัวสุนทรภู่เองได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สันทัดทั้งสักวา และเพลงยาว

เมื่อรุ่นหนุ่มเกิดรักใคร่ชอบพอกับนางข้าหลวงในวังหลัง ชื่อแม่จัน ครั้นความทราบถึงกรมพระราชวังหลัง พระองค์ก็กริ้ว รับสั่งให้นำสุนทรภู่ และจันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งสองก็พ้นโทษออกมา เพราะเป็นประเพณีแต่โบราณที่จะมีการปล่อยนักโทษ เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลแด่ พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง เมื่อเสด็จสวรรคตหรือทิวงคตแล้ว แม้จะพ้นโทษ สุนทรภู่และจันก็ยังมิอาจสมหวังในรัก สุนทรภู่ถูกใช้ไปชลบุรี ดังความตอนหนึ่งในนิราศเมืองแกลงว่า

"จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย.............แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา"

แต่เจ้านายท่านใดใช้ไป และไปธุระเรื่องใดไม่ปรากฎ อย่างไรก็ดี สุนทรภู่เดินทางเลยไปถึงบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัด ระยอง เพื่อไปพบบิดา ระหว่างนั้นสุนทรภู่เองล้มเจ็บหนักเกือบถึงชีวิต กว่าจะกลับมากรุงเทพฯก็ล่วงถึงเดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๓๔๙

วัยฉกรรจ์ (พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙) อายุ ๒๑ - ๓๐ ปี


หลังจากกลับจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสองค์เล็ก ของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ในช่วงนี้ สุนทรภู่สมหวังในรัก ได้แม่จันเป็นภรรยา แต่เนื่องจากเป็นคนเจ้าชู้ แต่งงานได้ไม่นานก็เกิดระหองระแหงกับแม่จัน ยังไม่ทันคืนดี สุนทรภู่ก็ต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี ในวันมาฆบูชา แล้วก็แต่งนิราศ เรื่องที่สองขึ้น คือ นิราศพระบาท สุนทรภู่ตามเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๓ ปี พ.ศ.๒๓๕๐

สุนทรภู่มีบุตรกับแม่จัน ๑ คน ชื่อหนูพัด แต่ชีวิตครอบครัวยังไม่ราบรื่นนัก ในที่สุดแม่จันก็ร้างลาไป พระองค์เจ้าจงกล (เจ้าครอกทองอยู่) ได้รับอุปการะหนูพัดไว้ ชีวิตของสุนทรภู่ช่วงนี้โศกเศร้ามิใช่น้อย ประวัติชีวิตของสุนทรภู่ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙ ก่อนเข้ารับราชการ ไม่ชัดแจ้ง แต่เชื่อว่าท่านหนีความเศร้าออกไปเพชรบุรี ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุญนาคในพระราชวังหลัง ดังความตอนหนึ่งในนิราศเมืองเพชร ที่ย้อนรำลึกความหลังสมัยหนุ่มว่า

ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุญนาค.............มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล
เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย ....................มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
นักเลงกลอนอย่างสุนทรภู่ ทำไร่ทำนาอยู่นานก็ชักเบื่อ ด้วยเลือดนักกลอนทำให้เขาหวนกลับมากรุงเทพฯ หากินทางรับจ้างแต่งเพลงยาว บอกบทสักวา จนถึงบอกบทละครนอก นิทานเรื่องแรกของท่านคงจะแต่งขึ้นในช่วงนี้ การที่เกิดมีนิทานเรื่องใหม่ๆ ทำให้เป็นที่สนใจมาก เพราะสมัยนั้นมีแต่กลอน นิทานจักร ๆ วงศ์ๆ ไม่กี่เรื่อง ซ้ำไปซ้ำมาจนคนอ่านคนดูรู้เรื่องตลอดหมดแล้ว

นิทานของสุนทรภู่ ทำให้นายบุญยัง เจ้าของคณะละครนอกชื่อดังในสมัยนั้น มาติดต่อว่าจ้าง ท่านจึงได้ร่วมคณะละคร เป็นทั้งคนแต่งบทและบอกบท เดินทางเร่ร่อนไปกับคณะละครจนทั่ว ดังตอนหนึ่งในนิราศสุพรรณคำโคลง ที่รำลึกถึงครั้งเดินทางกับคณะละครว่า
บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง ............ คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน ............. พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน ................ แทนฮ่อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า ............... พี่อ้างรางวัล
นิทานเรื่องสำคัญที่สุด คือ พระอภัยมณี ซึ่งน่าจะเริ่มแต่งในช่วงนี้ด้วย (เป็นแต่เริ่มแต่ง มิได้แต่งตลอดทั้งเรื่อง) นิทานเรื่องนี้แปลกแหวกแนวยิ่งกว่านิทานจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องใดที่เคยมีมา ทำให้คณะละครนายบุญยังโด่งดังอย่างมาก เป็นที่ต้องการของใครต่อใคร และแน่นอนชื่อเสียงของท่านสุนทรภู่ก็โด่งดังไปไม่แพ้กัน ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง

image

รับราชการครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๖๗) อายุ ๓๐ - ๓๘ ปี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นมหากวีและทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของพระองค์ได้กวดขันการฝึกหัดวิธีรำจนได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่อีกถึง ๗ เรื่อง มีเรื่องอิเหนาและเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น

มูลเหตุที่สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ น่าจะเนื่องมาจากเรื่องละครนี้เอง ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีทอดบัตรสนเท่ห์ เพราะจากกรณีบัตรสนเท่ห์นั้น คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกประหารชีวิตถึง ๑๐ คน แม้แต่ นายแหโขลน คนซื้อกระดาษดินสอ ก็ยังถูกประหารชีวิตด้วย มีหรือสุนทรภู่จะรอดชีวิตมาได้

นอกจากนี้สุนทรภู่เป็นแต่เพียงไพร่ มีชีวิตอยู่นอกวังหลวง ช่วงอายุก่อนหน้านี้ก็วนเวียนและเวียนใจอยู่กับเรื่องความรัก ที่ไหนจะมีเวลามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง (กรณีวิเคราะห์นี้ มิได้รับรองโดยนักประวัติศาสตร์ เป็นความเห็นของคุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เขียนไว้ในหนังสือ "เที่ยวไปกับสุนทรภู่" ซึ่งเห็นว่ามูลเหตุที่สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ น่าจะมาจากเรื่องละครมากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งข้าพเจ้าพิเคราะห์ดูก็เห็นน่าจะจริง ผิดถูกเช่นไรโปรดใช้วิจารณญาณ)

อย่างไรก็ดี สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในปี พ.ศ.๒๓๕๙ ในกรมพระอาลักษณ์ เรื่องราวของกวี ที่ปรึกษาท่านนี้ ที่ได้แสดงฝีมือเป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ถึงตอนนางสีดาผูกคอตาย บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเล่นละครกันมา กล่าวบทนางสีดาตอนเมื่อจะผูกคอตายว่า
"เอาภูษาผูกศอให้มั่น..............แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ
หลับเนตรจำนงปลงใจ ...........อรไทก็โจนลงมา"

ต่อนี้ถึงบทหนุมานว่า

๏ บัดนั้นวายุ..........................บุตรวุฒิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา...............ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต...................ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม
โลดโผนโจนลงตรงไป...............ด้วยกำลังว่องไวทันที (เชิด)
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง................ที่ผูกศอองค์พระลักษม
หย่อนลงยังพื้นปัถพี...................ขุนกระบี่ก็โจนลงมา
ทรงติว่าบทเก่าตรงนี้ กว่าหนุมานจะเข้าไปแก้ไขนางสีดา นางสีดาก็คงตายไปแล้วจึงทรงพระราชนิพนธ์ตอนนี้ใหม่ หวังจะให้หนุมานเข้าไปช่วยนางสีดาได้โดยเร็ว ทรงแต่งบทนางสีดาว่า

"จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด............เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่"

แล้วก็เกิดขัดข้องว่า จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาโดยเร็ว เหล่ากวีที่ปรึกษาไม่มีใครสามารถแต่งบทให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงโปรดให้สุนทรภู่ที่หมอบเฝ้าอยู่ด้วยลองแต่งดู

สุนทรภู่แต่งต่อว่า

"ชายหนึ่งผูกศออรไท...........แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
๏ บัดนั้น..........................วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย
image
ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงยกย่องสุนทรภู่ว่าเก่ง อีกคราวหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า

๏ รถที่นั่ง...............................บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล.......ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง.............เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน..................พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับที่รถใหญ่โตปานนั้นก็นึกไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งต่อว่า

"นทีตีฟองนองระลอก.........................กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน...............อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท..............สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน........................คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"

กลอนบทนี้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก นับแต่นั้นก็นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ขุนสุนทรโวหาร พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่ท่าช้าง และให้มีตำแหน่งเฝ้าฯ เป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

ออกบวช (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๘๕) อายุ ๓๘ - ๕๖ ปี

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากแผ่นดินและผืนฟ้าจะร่ำไห้ ไพร่ธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสสูงสุดในชีวิตได้เป็นถึงกวีที่ปรึกษาในราชสำนัก ก็หมดวาสนาไปด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ถึงเหตุที่สุนทรภู่ไม่กล้ารับราชการต่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดังนี้
"เล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ทรงแต่งตอนนางบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าวดาหาไปใช้บน พระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงแต่ง

เมื่อทรงแต่งแล้ว ถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งวานสุนทรภู่ตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่า เห็นดีอยู่แล้ว ครั้นเสด็จออก เมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรงปรึกษาพร้อมกัน ถึงบทแห่งหนึ่งว่า

'น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ................ ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว'

สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น

'น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา................. ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว'

โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อขอให้ตรวจทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไปไว้ติหักหน้ากลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้งหนึ่ง

อีกครั้งหนึ่ง รับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนท้าวสามลจะให้ลูกสาวเลือกคู่ ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า

'จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว............... ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา'

ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า 'ลูกปรารถนาอะไร' พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องแก้ว่า

'จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว................... ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา'

ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งประมาทอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒ ... "
จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพียงคิดได้ด้วยเฉพาะหน้าตรงนั้นก็ตาม สุนทรภู่ก็ได้ทำการไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ประกอบกับความอาลัยเสียใจหนักหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่จึงลาออกจากราชการ และตั้งใจบวชเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ สุนทรภู่ได้เผยความในใจนี้ ในตอนหนึ่งของนิราศภูเขาทอง ว่า

"จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย.................ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา .......................ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป"

เมื่อบวชแล้ว ท่านได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ เล่ากันว่า ท่านเดินทางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่า ท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆ นี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ

ราวปี พ.ศ.๒๓๗๐ สุนทรภู่ ก็กลับมาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ แต่หลังจากกลับมาอยู่ได้ไม่นาน สุนทรภู่เกิดอธิกรณ์กับพระในวัด อาจด้วยเหตุทะเลาะวิวาทอย่างใดอย่างหนึ่ง (บางแห่งสันนิษฐานว่าท่านเมาสุรา) จึงถูกขับออกจากวัด เมื่อรับกฐินในปลายปี พ.ศ.๒๓๗๑ ท่านก็ออกเดินทางไปกรุงเก่า และได้แต่งนิราศภูเขาทอง อันเป็นนิราศเรื่องเยี่ยมที่สุดของท่าน และเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของวงการกวีไทย เหตุที่คาดว่าท่าน เกิดการวิวาทกับพระในวัด ด้วยความตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองกล่าวว่า

"โอ้อาวาสราชบูรณะพระวิหาร.............แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น.............เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะหยิบยกอธิบดีเป็นที่ตั้ง..................ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง ..................มาอ้างว้างวิญญาในสาคร"
เมื่อกลับจากกรุงเก่า พระสุนทรภู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง ปี พ.ศ.๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงฝากเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสองค์กลาง และองค์น้อยให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ การมีศิษย์ชั้นเจ้าฟ้าเช่นนี้จึงทำให้พระสุนทรภู่สุขสบายขึ้น พระสุนทรภู่อยู่วัดอรุณฯ ราว ๒ ปี จึงข้ามฟากมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เล่ากันถึงสาเหตุที่พระสุนทรภู่ย้ายวัดมา ก็เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงชักชวนให้มาอยู่ด้วยกัน สมเด็จฯ ทรงเป็นกวีองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์หนึ่ง เชื่อว่าคงจะทรงคุ้นเคยกับสุนทรภู่ในฐานะที่เป็นกวีด้วยกัน โดยเฉพาะสมัยที่สุนทรภู่เป็นขุนสุนทรโวหารในรัชกาลที่ ๒
image
ชีพจรลงเท้าสุนทรภู่อีกครั้ง เมื่อท่านเกิดไปสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุและยาอายุวัฒนะ ถึงแก่อุตสาหะ ไปค้นหา ทำให้เกิดนิราศวัดเจ้าฟ้า และนิราศสุพรรณ ปี พ.ศ.๒๓๘๓ สุนทรภู่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านอยู่ที่นี่ได้ ๓ พรรษา คืนหนึ่งเกิดฝันร้าย ว่าชะตาขาด จะถึงแก่ชีวิต จึงได้แต่งเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งทำให้ทราบเรื่องราวในชีวิตของท่านอีกเป็นอันมาก
จากนั้นจึงลาสิกขาบทเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ เพื่อเตรียมตัวจะตาย

รับราชการครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๓๙๘) อายุ ๕๖ - ๖๙ ปี


เมื่อสึกออกมา สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่ไปอยู่พระราชวังเดิมด้วย ต่อมา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงพระเมตตาอุปการะสุนทรภู่ด้วย กล่าวกันว่า ชอบพระราชหฤทัย ในเรื่องพระอภัยมณี จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังแต่งเรื่องสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง

แม้สุนทรภู่จะอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและรักกลอนเป็นที่สุด ท่านได้แต่งนิราศไว้อีก ๒ เรื่องคือนิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ขณะที่ท่านมีอายุ
ได้ ๖๕ ปีแล้ว ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๖๙ ปี

ผลงาน

หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่เเต่งมีมากมาย ที่ได้ยินเเต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่หายสาบสูญไปเเล้วไม่ได้ยินชื่อเรื่องก็มี เเต่เรื่องที่ยังมีต้นฉบับอยู่ในปัจจุบันมี ๒๔ เรื่อง คือ

- นิราศ ๙ เรื่อง ได้เเก่ นิราศเมืองเเกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา รำพันพิลาป นิราศพระประถม เเละ นิราศเมืองเพชร

นิราศ คือ บทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อบรรยายถึงสภาพการเดินทาง ด้วยสมัยก่อนการเดินทางค่อนข้างลำบาก และใช้เวลานาน นักเดินทางจึงแก้ความเหงาเบื่อด้วยการประพันธ์บทกวี พรรณนาถึงการเดินทางและสภาพภูมิประเทศ โดยมากมักโยงเข้ากับความรัก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายที่มาของนิราศไว้ ดังนี้

"หนังสือจำพวกที่เรียกว่า นิราศ เป็นบทกลอนแต่งเวลาไปทางไกล มูลเหตุจะเกิดหนังสือชนิดนี้ขึ้น สันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะเวลาเดินทาง ที่มักต้องไปเรือหลายๆ วัน มีเวลาว่างมาก ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไป จนเกิดเบื่อ ก็ต้องคิดหาอะไรทำแก้รำคาญ ผู้สันทัดในทางวรรณคดีจึงแก้รำคาญโดยทางกระบวนคิดแต่งบทกลอน บทกลอนแต่งในเวลาเดินทางเช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะพรรณนาว่าด้วยสิ่งซึ่งได้พบเห็นในระยะทาง แต่มักแต่งประกอบกับครวญคิดถึงคู่รักซึ่งต้องพรากทิ้งไว้ทางบ้านเรือน กระบวนความในหนังสือนิราศจึงเป็นทำนองอย่างว่านี้ทั้งนั้น ชอบแต่งกันมาแต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์...image

นิราศที่แต่งกันในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งทั้งเป็นโคลงแลเป็นกลอนสุภาพ ดูเหมือนกวีที่แต่งนิราศ ในครั้งรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ จะถือคติต่างกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งถือคติเดิมว่า โคลงฉันท์เป็นของสำคัญ และแต่งยากกว่ากลอน กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นโคลงตามเยี่ยงอย่างศรีปราชญ์ทั้งนั้น กวีอีกพวกหนึ่งชอบเพลงยาว อย่างเช่นเล่นกันเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กวีพวกนี้แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพทั้งนั้น ถ้าว่าเฉพาะ ที่เป็นกวีคนสำคัญในพวกหลังนี้ คือ สุนทรภู่แต่งนิราศเป็นกลอนสุภาพมากเรื่องกว่าใครๆ หมด กลอนของสุนทรภู่คนชอบอ่านกันแพร่หลาย ก็ถือเอานิราศของสุนทรภู่เป็นแบบอย่างแต่งนิราศกันต่อมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕"

นิราศของสุนทรภู่ นอกจากจะพรรณนาการเดินทางแล้ว ท่านยังสอดแทรกคติธรรม ข้อเตือนใจต่างๆ และเปรียบเทียบถึงชีวิตของตัวท่านเองเข้าไว้ด้วย ทำให้นักศึกษางานของท่านสืบเสาะประวัติของท่านจากงานนิพนธ์ของท่านเองได้มาก
- นิทาน ๕ เรื่อง ได้เเก่ โคบุตร พระอภัยมณีี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ เเละ สิงหไตรภพ
ในสมัยก่อน ยังไม่มีคำว่า นิยาย หรือนวนิยาย เรื่องบันเทิงต่างๆ ยังใช้เรียกกันว่า "นิทาน" ทั้งนั้น แต่เดิมนิทานมักแต่งด้วยลิลิต ฉันท์ หรือกาพย์ นายเจือ สตะเวทิน ได้กล่าวยกย่องสุนทรภู่ในการริเริ่มใช้กลอนสุภาพบรรยายเรื่องราวเป็นนิทาน ดังนี้ว่า

"สุนทรภู่ ได้เริ่มศักราชใหม่แห่งการกวีของเมืองไทย โดยสร้างโคบุตรขึ้นด้วยกลอนสุภาพ นับตั้งแต่เดิมมา เรื่องนิทานมักเขียนเป็นลิลิต ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นคนแรกที่เสนอศิลปะของกลอนสุภาพ ในการสร้างนิทานประโลมโลก และก็เป็นผลสำเร็จ โคบุตรกลายเป็นวรรณกรรมแบบฉบับที่นักแต่งกลอนทั้งหลายถือเป็นครู นับได้ว่า โคบุตรมีส่วนสำคัญยิ่งในประวัติวรรณคดีของชาติไทย"

image

คุณวิเศษของท่านสุนทรภู่ที่ทำให้นิทานของท่านโดดเด่นกว่านิทานเรื่องอื่นๆ นอกจากในกระบวนกลอนที่สันทัดจัดเจนเป็นอย่างยิ่งแล้ว ความเป็นปราชญ์ของท่านก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง โดยการสอดแทรกคติทั้งทางพุทธทางพราหมณ์ ความรู้ในวรรณกรรมโบราณ คัมภีร์ไตรเพท และความรู้อันน่าอัศจรรย์ เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของโลก ซึ่งกาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดน่าสนใจอย่างยิ่ง

ใน "ภูมิศาสตร์สุนทรภู่" มีการวิจารณ์กันว่า กลอนนิทานเรื่องลักษณวงศ์ และสิงหไตรภพนั้น สำนวนอ่อนกว่าเรื่อง พระอภัยมณีมากนัก ไม่น่าที่ท่านสุนทรภู่จะแต่งเรื่องพระอภัยมณีก่อน ในเรื่องนี้ คุณ.... มีความเห็นว่า เรื่องลักษณวงศ์และสิงหไตรภพนั้น สุนทรภู่อาจจะเป็นเพียงผู้คิดเรื่องและเริ่มกลอนให้ แต่ผู้แต่งจริงๆ คงเป็นลูกศิษย์ของท่าน และท่านสุนทรภู่ช่วยตรวจทานให้ สำหรับเรื่องพระไชยสุริยา ท่านสุนทรภู่แต่งด้วยกาพย์ สำหรับใช้เป็นแบบเรียนเขียนอ่านของเจ้านายน้อยๆ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จึงไล่ลำดับความยากง่ายของการอ่าน ตั้งแต่แม่ ก กา เป็นต้นขึ้นไป

- สุภาษิต ๓ เรื่อง ได้เเก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท เเละสุภาษิตสอนหญิง

- บทละคร ๑ เรื่อง คือ เรื่องอภัยนุราช

- บทเสภา ๒ เรื่อง ได้เเก่ ขุนช้างขุนเเผน ตอนกำเนิดพลายงาม เเละเรื่องพระราชพงศาวดาร

- บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง ได้เเก่ เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี เเละเห่เรื่องโคบุตร

นอกจากสุนทรภู่จะแต่งนิราศและนิทานไว้มากมายแล้ว ยังปรากฏว่าท่านได้แต่งบทประพันธ์อื่นๆ ไว้อีก ได้แก่ สุภาษิตต่างๆ บทละคร บทเสภา และบทเห่กล่อม

สวัสดิรักษาคำกลอน น่าจะแต่งขึ้นในช่วงที่ท่านรับราชการเป็นขุนสุนทรโวหาร เพื่อถวายแก่เจ้าฟ้า อาภรณ์ ส่วนเพลงยาวถวายโอวาท แต่งขึ้นถวายเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว ในราว พ.ศ. ๒๓๗๑ - ๒๓๗๒

เรื่องอภัยนุราช เป็นบทละครเพียงเรื่องเดียวของท่าน ประพันธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ปัจจุบันนี้หาอ่านได้ยากยิ่งนัก ด้วยไม่ได้พิมพ์เผยแพร่มานาน

สำหรับบทเห่กล่อมพระบรรทม อาจารย์ปราณี บุญชุ่ม และอาจารย์มณฑนา วัฒนถนอม ได้กล่าวถึงบทเห่กล่อมไว้อย่างน่าฟัง ในหนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ ๒๐๐ ปี" จนผู้จัดทำไม่บังอาจจะเขียนขึ้นใหม่ จึงขออนุญาตนำบทความที่กล่าวถึงนี้ มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

"บทเห่กล่อมโดยทั่วไปแต่งขึ้นเพื่อร้องขับกล่อมให้เด็กหลับ แม้ว่าเด็กจะเยาว์วัย ยังไม่สามารถเข้าใจความหมายของเนื้อเพลงก็ตาม แต่เด็กก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เห่กล่อมว่ารักใคร่และเอ็นดูตน เด็กจะเกิดความอบอุ่นใจและหลับไปอย่างมีความสุข
image
บทเห่กล่อมของสามัญชน จะแต่งตามความรู้สึก ความคิด หรืออื่นๆ ตามแต่ผู้เห่กล่อมจะนึกอะไรได้ก็ร้องเป็นทำนอง อาจมีเนื้อร้องในทำนองปลอบขวัญ ให้ความอบอุ่น หรือบางทีก็มีขู่ให้กลัวบ้างก็มี มีการจดจำบทร้องเห่กล่อมกันต่อๆ มา

สำหรับบทเห่กล่อมพระบรรทมสำหรับเจ้านายก็เช่นเดียวกัน กวีนำเอาเนื้อความจากเรื่องในวรรณคดีบ้าง เรื่องราว ตำนานต่างๆ บ้าง มาผูกเป็นเนื้อร้อง โดยใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์ กลอน เพื่อไว้เห่กล่อมพระราชโอรส ธิดา ของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง เนื้อร้องบทเห่กล่อมไม่กำหนดเรื่องราวเป็นแบบแผน แต่จะมีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อม ตามสภาพท้องถิ่นนั้น"

บทเห่กล่อมเหล่านี้ เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งถวายสำหรับขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อสุนทรภู่ถึงแก่กรรมแล้ว บทเห่กล่อมนี้ได้ใช้กล่อมบรรทมพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอ ยู่หัว ตลอดรัชกาลที่ ๔ ด้วย
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม : www.rayongzone.com/soontornpoo

สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี
ปาฐกถาโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประเด็นที่ผมต้องการจะพูดในวันนี้มี 2-3 ประเด็นด้วยกัน ประการแรก คือ สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความแตกต่างจากกวีที่เคยมีมาก่อนในสมัยอยุธยา เราไม่สามารถนำท่านไปเปรียบเทียบกับกวีในสมัยอยุธยาได้เลยสักคนเดียว


 

ประเด็นที่ 2 สุนทรภู่เป็นกวีที่เกิดในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างจากอยุธยามากทีเดียว เพราะกรุงเทพฯ มีชนชั้นกระฎุุมพี กระฎุมพี คือ พวกที่ไม่ได้มีฐานอำนาจหรือฐานผลประโยชน์จากการปกครอง หรือการเกษตรกรรม หรือล่องแพ เป็นพวกที่ได้ประโยชน์จากการค้า ซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในเฉพาะกรุงเทพฯ แต่มีอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น อยุธยา คือมีการเกี่ยวข้องกับการค้า คนพวกนี้ไม่ได้มีอาชีพทำนาปลูกข้าวกินเอง เมื่อซื้อข้าวก็ทำให้ชาวนาปลูกข้าวให้เหลือพอที่จะขาย พูดง่ายๆ ก็คือว่า สังคมกรุงเทพฯ มีกลุ่มคนที่ไม่ได้ผลิตข้าวเอง แต่ต้องทำการค้าขายแล้วเอาเงินไปซื้อข้าวปลามาบริโภค ตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์

 


จำนวนของกระฎุมพีมีไม่มาก แต่คนเหล่านี้เข้ามาครอบงำรสนิยม ครอบงำวัฒนธรรม สุนทรภู่รับราชการอยู่ในวังระยะสั้นมาก พอรัชกาลที่ 2 สวรรคตแล้ว ท่านก็ออกมาอยู่ข้างนอก สุนทรภู่ไม่ใช่กวีราชสำนัก ซึ่งที่ผ่านมากวีที่ไม่ใช่กวีราชสำนักนั้นไม่มี ที่เราใช้เรียกก็อาจจะมีกวีชาวบ้านซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียง

 

ส ุนทรภู่ไม่ได้ทำงานรับใช้ราชสำนัก แต่ท่านมีตลาดของท่านอย่างไรก็ตามคนที่อ่านงานสุนทรภู่ไม่ใช่แบบเดิม แต่เป็นกลุ่มที่ทำการค้ามีการศึกษาอยู่พอสมควร ไม่มากนัก และหลังสุนทรภู่ เราก็พบกวีที่มีลักษณะรับใช้ตลาดมากขึ้น


แต่ในฐานะที่ท่านเป็นคนแรก ผมคิดว่าท่านเป็นมหากวีคนแรก ในบรรดากวีที่รับใช้กระฎุมพีด้วยกันแล้วไม่มีใครผลิตงานได้มากเท่ากับสุนทรภู่


อะไรบ้างที่เป็นความแตกต่างจากกวีคนอื่นๆ

image

 

ประการแรก ท่านใช้รูปแบบที่ต่างจากที่เคยใช้ นั่นคือกลอนตลาด เป็นกลอนที่พบตั้งแต่ปลายอยุธยาเท่านั้น คือเป็นคำประพันธ์ที่เพิ่งแต่งขึ้นมาในภาษาไทย เป็นการเลือกเอาคำประพันธ์ที่ค่อนข้างใหม่เป็นชาวบ้าน


 

แบบฟอร์มของสิ่งที่ท่านแต่งก็ค่อนข้างใหม่ นิราศเป็นตัวอย่าง ถามว่าก่อนหน้าสุนทรภู่ขึ้นไปในสมัยอยุธยามีไหม มี แต่เขาไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนิราศ สุนทรภู่เป็นคนแรกๆ ที่สร้างลักษณะเฉพาะของกวีนิพนธ์ที่เรียกว่าเป็นนิราศ ส่วนหนึ่งก็คือการรำพันถึงการจากไป รำพันถึงผู้หญิงที่จากไป แต่น่าประหลาดว่าเท่าที่พบก็คือ สุนทรภู่รำพันถึงผู้หญิงที่มีตัวตนจริงๆ


 

อย่างเกษียรสมุทรนั้นเป็นนิราศ แต่มีผู้หญิงคนที่ว่านั้นอยู่จริงๆ หรือไม่ ไม่รู้ แต่เป็นประเพณีว่า เมื่อแต่งนิราศแล้วต้องรำพันถึงผู้หญิง


 

แต่สุนทรภู่ซึ่งรำพันถึงผู้หญิงนั้นมีตัวตนจริง และบรรยายถึงลักษณะความสัมพันธ์ด้วย

 

อย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากๆ ก็คือนิทานกลอน ก่อนหน้านั้นไม่มี สุนทรภู่ทำให้นิทานกลอนแพร่หลายมาก วิธีเล่านิยายในวรรณคดีไทยก่อนหน้านั้นไป เล่าโดยผ่านกลอนบทละคร หรือมิฉะนั้นก็เล่าแบบสมุทรโฆษ


 

ท่านไม่ได้เป็นคนแรก แต่ท่านทำให้แพร่หลาย มันแตกต่างกันอย่างไร เนื้อร้องเพลงไทยที่นิยมเอามาร้องกันทีเป็นบทประพันธ์สุนทรภู่นั้นมีบ้างหรือไม่ คำตอบคือมี แต่น้อยมาก ผมนึกถึงเหตุผล ก็คือสุนทรภู่เป็นคนแรกๆ ที่เขียนกลอนโดยไม่ได้นึกถึงทำนอง ก่อนหน้านั้น มักจะมีการนึกถึงทำนอง นึกถึงหน้าพาทย์ด้วยซ้ำไป


 

กวีไทยก่อนหน้านี้จะนึกถึงเพลง นึกถึงทำนองด้วย สุนทรภู่จึงเป็นคนแรกๆ ที่ไม่มีเพลง สุนทรภู่จึงเป็นกวีคนแรกๆ ที่เขียนหนังสือเพื่ออ่าน ก่อนหน้านั้น เขาเขียนเพื่อเอาไปแสดง เขียนดุษฎีกล่อมช้าง เพื่อกล่อมช้าง เป็นต้น สุนทรภู่เป็นกวีคนแรกๆ เป็นคนที่เขียนกวีเพื่ออ่าน


 

ทุกวันนี้ เราอ่านเพื่ออ่าน เราใช้ประสาทในการรับรับรู้เพื่ออ่านอย่างหนึ่ง ใช้ประสาทในการรับรู้เพื่อการแสดงอย่างหนึ่ง


 

สุนทรภู่เป็นผู้ที่เสนอกวีนิพนธ์ให้กับคนอ่านเพื่ออ่าน นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก


คนอ่านกวีนิพนธ์สุนทรภู่ (อาจจะมีเจ้านายหลายพระองค์อุปถัมภ์สุนทรภู่อยู่นาน บางองค์ก็โปรดมาก เช่นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่โปรดพระอภัยมณี) แต่คนที่อ่านงานของสุนทรภู่มีเยอะแยะกว่า ฉะนั้น ลูกค้าของท่านไม่ใช่แค่ผู้อุปถัมภ์เพียงอย่างเดียว แต่คือคนจำนวนมากที่เรียกว่ากระฎุมพี


 

มาดูที่เนื้อหา สุนทรภู่แตกต่างจากก่อนหน้านั้นอย่างไร ผมคิดว่า สุนทรภู่เป็นกวีที่ค่อนข้างแตกต่าง คือท่านสร้างตัวละครในลักษณะที่สมจริง ถ้าเราอ่านพระภัยมณี ตัวพระอภัยมณีเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นละครทีวีสมัยปัจจุบัน เราจะพบว่าพระอภัยมณีมีที่ลักษณะทั้งอ่อนแอและเข้มแข็ง มีความเป็นมนุษย์ และตัวละครของสุนทรภู่ไม่เหมือนกับตัวละครก่อนหน้านั้น


 

สุนทรภู่มีลักษณะของกระฎุมพี ค่อนข้างจะเหยียดหยามไสยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไสยศาสตร์ของชาวบ้าน แม้ท่านจะเล่นแร่แปรธาตุ แต่ก็เป็นไสยศาสตร์แบบตำรับตำรา แต่ไสยศาสตร์ฉบับชาวบ้าน เช่น เมื่อท่านไปเมืองแกลงเกิดเจ็บมือขึ้นมา ก็มีคนบอกว่า ท่านไปเก็บดอกไม้ไม่บอกเจ้าป่าเจ้าเขา จึงให้หมอผีมาเป่า แล้วก็หาย แต่ท่านก็ไม่เชื่อ


 

ในขณะเดียวกันที่ให้ความสำคัญกับศาสนา แต่ท่านค่อนข้างให้ความสำคัญกับศาสนาแบบสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับโลกนี้ เช่น ยอมรับเรื่องความสำคัญของความสุขทางเนื้อหนังมังสา เช่น ตอนพระอภัยมณีบวช หวังพระนิพพาน พอเห็นนางสุวรรณมาลีก็สึกเลย


 

หรืออย่างการเล่นเครื่องดนตรี ก็นำไปสู่พระนิพพาน ดังในพระอภัยมณีที่ว่า ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง


 

ในนิราศของท่านพูดถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากเสียจนผมสงสัยว่าท่านคุย(โม้) หรือเปล่า แต่นี่เป็นข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ชายสมัยสุนทรภู่เป็นเพลย์บอยหรือเปล่า แต่สุนทรภู่ไม่อายที่จะเสนอภาพของตัวเองให้มีลักษณะเพลย์บอย


 

ผมคิดว่า เราอย่ามองให้กวีลอยอยู่บนสังคม การที่คนนิยมสุนทรภู่ แสดงว่าบุคลิกการเป็นเพลย์บอยได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้นด้วย

 


ท่านให้ความสำคัญกับกำเนิดสูงไม่เท่าไหร่ ความสำคัญของกำเนิดถูกตั้งข้อสงสัยในงานของสุนทรภู่เสมอๆ ซึ่งก็ตรงกับรากเหง้าของกระฎุมพี พ่อค้าวาณิชย์ คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถยอมรับโดยดุษฎีในคุณค่าของกำเนิดของคนอื่นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่คลายลงไป เช่น อาเสี่ยสมัยนั้นยกลูกสาวให้เจ้านายไป เมื่อมีลูกก็กลายเป็นพระองค์เจ้า อาเสี่ยคนนั้นก็กลายเป็นคุณตาของพระองค์เจ้าไปแล้ว

 


ผู้อ่านสุนทรภู่เองก็รับทัศนคติแบบเดียวกันในเรื่องทรัพย์และกำเนิด บางครั้งก็ดูแคลนว่ามีแต่ทรัพย์ไม่มีกำเนิด แต่บางครั้งทรัพย์สำคัญนะ


 

เวลาที่ท่านอธิบายเรื่องบุญเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องโลกนี้มากขึ้น เช่น บทละครอภัยนุราช พระเจ้าแผ่นดินไปตัดต้นไม้ ทำให้ศาลเจ้าหรือเทพารักษ์ให้พินาศฉิบหายไป แต่แทนที่พระเจ้าแผ่นดินจะฉิบหายไปทันทีก็เล่าต่อไปว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรผิดพลาดบ้าง เพื่อสื่อว่า ผลกรรมเกิดจากการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่การกระทำที่ไปตัดต้นไม้หรือรื้อศาลเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลของกรรมที่ต่อเนื่องกันมา


 

ก่อนหน้านี้ กวีจะเขียนถึงกรรมเป็นเรื่องชาติก่อน สุนทรภู่ทำให้กรรมอยู่ในชาตินี้


 

ถึงแม้จะอธิบายหรือยกย่องศาสนาอย่างไร แต่ท่าทีของสุนทรภู่ต่อพระสงฆ์ค่อนข้างจะผ่อนคลาย ไม่ค่อยเครียด จะสร้างภาพกับบทอัศจรรย์ เช่น เรื่องพระชัยสุริยา บทอัศจรรย์ ท่านเอาบทอัศจรรย์ของท่าน ท่านพูดเรื่องแผ่นดินไหว ฟ้าผ่า อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดในวัด แล้วท่านก็พูดเรื่องหลวงชี วิธีปฏิบัติต่อพระของท่านเป็นท่าทีสบายๆ แบบชาวบ้านๆ คือนับถือด้วยแต่ล้อเล่นได้บ้าง

 


อีกประการหนึ่งคือสุนทรภู่เป็นหนึ่งในกวีที่พูดถึงความรักแปลกประหลาดจากที่เ คยมีมา ปัจจุบันเราพูดถึงความรักเหมือนพูดถึงความจริง มันจริงในแง่หนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่ง ความรักเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วยแต่ละยุคจะสอนให้คนรักอย่างไร แสดงออกต่อความรักอย่างไร ในแต่ละยุคสมัยต่างกัน

 


ความรักแบบสุนทรภู่เป็นความรักระหว่างปัจเจกชน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมเลย เช่น พระรามกับนางสีดา เป็นความรักที่เกิดจากการลิขิตของพระเจ้าเลยแหละ นางสีดาเกิดมาเป็นเมียพระรามทุกชาติ พระรามไม่มีทางมีเมียน้อย เป็นความรักที่ถูกชะตาลิขิตมาแต่ต้น


 

เมื่อมาถึงเรื่องอิเหนา อิเหนาเป็นวงศ์อสัญแดหวา เป็นวงศ์กษัตริย์ที่สูงกว่าระตูต่างๆ อิเหนาต้องแต่งงานกับวงศ์อสัญแดหวาด้วยกัน คือนางบุษบา แต่อิเหนาผ่านไปเจอนางจินตะหราเสียก่อน ก็เห็นแต่นางจินตะหรา ไม่มองนางบุษบาเลย แม้อิเหนารู้ว่า พ่อแม่ไม่ให้แต่ง นี่เป็นความรักเป็นการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลไม่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคม ของอิเหนาหรือจินตะหราเลย ความรักแบบนี้แหละที่ปรากฏในงานของสุนทรภู่

 


ไม่มีการอธิบายถึงความเหมาะสมทางเศรษฐกิจทางสังคม เป็นความรักที่เอกบุคคลมีต่อเอกบุคคล ถ้าสุนทรภู่เขียนในสมัยอยุธยาคนอยุธยาก็คงอ่านแล้วทิ้งไปเพราะอ่านไม่รู้เรื่องพระอภัยมณีกับนางละเวง จะไปรักกันได้อย่างไร

 


ความรักแบบผิดฝาผิดตัวที่นั่งฟูมฟายกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น คู่กรรม สืบสาวไปก็เริ่มมาจากสมัยของสุนทรภู่

 


สุนทรภู่เหมือนกระฎุมพีทั่วไปในแง่ที่เหยียดหยามวัฒนธรรมไพร่ กระฎุมพีของสังคมไทยไม่ได้เกิดในระบบแต่แทรกอยู่ในระบบพวกนี้จึงมองไพร่หรือมองชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างเหยียดหยาม

 


เมื่อไหร่ที่เป็นผู้หญิงไพร่ชาวไร่ชาวนา จะบรรยายว่า ขี้ไคลกลบหู ต่างกับการพูดถึงเมียเจ๊ก เดินทางไปทางไหนท่านก็จะพูดถึงอย่างสนุกสนานเยาะเย้ยนิดๆ แต่ไม่ถึงกับเหยียดหยามแบบเวลาที่พูดถึงชาวไร่ชาวนา ทัศนคติแบบนี้เป็นรสนิยมกระฎุมพีชัดๆ เลย

 


สุนทรภู่ได้รับความนิยมจากชนชั้นกลางสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย ในขณะเดียวกันงานของสุนทรภู่ไม่ได้ถูกพิมพ์โดยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่แต่งานของสุนทรภู่ช่วยเลี้ยงให้ โรงพิมพ์แบบสมัยใหม่อยู่ได้ เพราะเอางานของสุนทรภู่มาพิมพ์ขาย คือถ้าไม่มีงานแบบสุนทรภู่ก็ไม่รู้จะเอางานที่ไหนมาพิมพ์ขาย และส่งผลให้เกิดโรงพิมพ์ของคนจีนต่อมา

 


หลังจากนั้นก็อย่างที่รู้กันอยู่ งานของสุนทรภู่ก็ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแบบเรียน ปฏิเสธไม่ได้เรื่องคุณภาพ แต่ที่ไม่ถูกลืม เพราะสุนทรภู่สร้างงานที่สอดคล้องกับรสนิยมของกระฎุมพี เพราะนับสืบมาถึงทุกวันนี้ วัฒนธรรมที่สืบมาคือวัฒนธรรมของคนชั้นกลางซึ่งถูกสร้างโดยวัฒนธรรมต่างชาติ ผนวกกับวัฒนธรรมเจ้านายบวกกับวัฒนธรรมชาวบ้าน กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ งานของสุนทรภู่เป็นวัฒนธรรมเดียวกับวัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้งานของท่านไม่ตาย


ที่มา : เว็บข่าวประชาไท

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 3113 วันที่ 21 มิ.ย. 2552


ประวัติ .. สุนทรภู่.........มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์ประวัติ..สุนทรภู่.........มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

5 พฤติกรรม....ทำร้ายดวงตา

5 พฤติกรรม....ทำร้ายดวงตา


เปิดอ่าน 7,131 ครั้ง
ผลของกรรมดังรอยเกวียน

ผลของกรรมดังรอยเกวียน


เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง
สูตรการคบเพื่อน

สูตรการคบเพื่อน


เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
~~~~~~~~

~~~~~~~~


เปิดอ่าน 7,204 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

นิทานเวตาล... เรื่องที่ 5

นิทานเวตาล... เรื่องที่ 5

เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาล9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาล9
เปิดอ่าน 7,133 ☕ คลิกอ่านเลย

นิทานบทกลอน  เรื่อง ตีนกับตา
นิทานบทกลอน เรื่อง ตีนกับตา
เปิดอ่าน 7,177 ☕ คลิกอ่านเลย

รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมการงานอาชีพและเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
รายงานการพัฒนาชุดกิจกรรมการงานอาชีพและเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย

10 สูตรผิวสวย...จากผัก 5 ชนิด
10 สูตรผิวสวย...จากผัก 5 ชนิด
เปิดอ่าน 7,132 ☕ คลิกอ่านเลย

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับคณิตศาสตร์
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับคณิตศาสตร์
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย

โอ้ว!! หรือนี่คือที่มาของเลขไทย!!!
โอ้ว!! หรือนี่คือที่มาของเลขไทย!!!
เปิดอ่าน 7,134 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

วิธีตั้งชื่อมิให้เป็นกาลกิณี
วิธีตั้งชื่อมิให้เป็นกาลกิณี
เปิดอ่าน 37,651 ครั้ง

Computing Science : วิชาบังคับสำหรับนักเรียน ป.1 ไทย
Computing Science : วิชาบังคับสำหรับนักเรียน ป.1 ไทย
เปิดอ่าน 26,641 ครั้ง

Adjectives การเปรียบเทียบคำคุณศัพท์ ( Comparison of Adjectives )
Adjectives การเปรียบเทียบคำคุณศัพท์ ( Comparison of Adjectives )
เปิดอ่าน 333,345 ครั้ง

เป็ดแมนดาริน
เป็ดแมนดาริน
เปิดอ่าน 30,856 ครั้ง

"พิกุล" สรรพคุณดีกว่าที่คิด
"พิกุล" สรรพคุณดีกว่าที่คิด
เปิดอ่าน 11,983 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ