ช่วงนี้จะลงบทความเกี่ยวกับสุนทรภู่มากเป็นพิเศษค่ะ เพราะมีพันธะกับนักเรียน ให้เขาทำกิจกรรมหลายอย่าง เลยต้องหาข้อมูลให้ เพื่อที่เขาจะได้ศึกษาค้นคว้าไปทำกิจกรรมตามที่กำหนด และวันนี้เอาบทความของคุณมหา สุรารินทร์ ที่ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2552 มาให้อ่านค่ะ เป็นบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง....
สุนทรภู่ นับเป็นมหากวีสามัญชนที่โดดเด่นในหมู่กวีประจำชาติ ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อพระวงศ์เสียทั้งสิ้น ทั้งนี้สังคมไทยที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยอยุธยา ทั้งยังชีวิตในแวดวงของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงของความเปลี่ยนแปลง มีความสอดคล้องกับทัศนคติและค่านิยมของพวกกระฎุมพี
'กระฎุมพีไทย' (ในที่นี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า bourgeois หมายถึง คนมั่งมี หรือสามัญชนที่สร้างฐานะจนร่ำรวยขึ้นมา) ไม่มีกำเนิดเป็นอิสระจากระบบศักดินา ไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่หนีอำนาจทางการเมืองของพวกศักดินา ไปอยู่ในชุมชนที่สร้างใหม่ตามชุมชนทางคมนาคมและพัฒนาเมืองขึ้นเป็นฐานอำนาจอิสระของตนเอง มีรายละเอียดอธิบายอยู่ในงานเขียนชุด 'ปากไก่และใบเรือ' ของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
วรรณกรรมนิราศของสุนทรภู่ทั้ง 8 เรื่อง คือ นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศภูเขาทอง, นิราศวัดเจ้าฟ้า, โคลงนิราศสุพรรณ, นิราศประธม, นิราศเมืองเพชร และรำพันพิลาป จึงเป็นสะพานเชื่อมวาทกรรมกับคนชายขอบที่เป็นมุมมองคนเมืองอย่างที่สุนทรภู่มองเห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน คือ การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การแต่งกาย วัฒนธรรม และสำเนียงภาษา เป็นสิ่งกำหนด 'ความเป็นอื่น' ต่างจากสังคมกระแสหลักในคนบางกอก ที่ค่อนข้างละเอียดกว่านิราศที่มีมาก่อนหน้านี้
นิราศเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่มองผ่านการสร้าง 'วาทกรรม' ในนิราศกับวิถีชีวิตคนชายขอบที่เป็นทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนชายขอบที่เรียกตัวเองว่าเป็น 'คนไทย' หมายถึง ผู้คนในศูนย์กลางอำนาจรัฐของวัฒนธรรมชั้นสูงในกรุงรัตนโกสินทร์ อาจเปรียบเทียบสำเนียงเสียง 'เหน่อ' ที่ไม่ใช่คนเมืองหลวงกับสำเนียงพูด 'เยื่อง' ของคนบางกอกและกลุ่มคนชายขอบที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น มอญ ลาว เขมร เจ๊ก จีน จาม และลูกผสม เป็นต้น
สุนทรภู่ เป็นกวีไม่กี่คนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและพบเห็นคนชายขอบเหล่านี้และมีส่วนในการเผยแพร่การมองคนชายขอบผ่าน 'อัตลักษณ์' จากสายตา 'คนส่วนใหญ่' ในบางกอกที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างอัตลักษณ์คนชายขอบ สื่อสารผ่านทั้งในแง่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และเศรษฐกิจ การเมืองของช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
นิราศภูเขาทอง เป็นวรรณคดีประเภทนิราศ แต่งด้วยกลอนแปดมีความยาวเพียง 89 คำกลอนเท่านั้น สุนทรภู่แต่งนิราศเรื่องนี้จากการเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง ขณะบวชเป็นพระภิกษุไปเมื่อราวเดือนสิบเอ็ด ปีชวด พ.ศ.2371 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3
แม้จะเป็นนิราศสั้นๆ ไม่ยาวมากนัก แต่มีความไพเราะและเรียบง่ายตามแบบฉบับของสุนทรภู่ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย บรรยายความรู้สึก ขณะเดียวกันก็เล่าถึงสภาพของเส้นทางที่กำลังเดินทางไปด้วย ท่านมักจะเปรียบเทียบชีวิตและโชคชะตาของตนกับธรรมชาติรอบข้างที่ตนได้เดินทางผ่านไป มีหลายบทที่เป็นที่รู้จักและท่องจำกันได้
ภิญโญ ศรีจำลอง อธิบายเส้นทางการเดินทางไปภูเขาทองของสุนทรภู่ในหนังสือ 'ท่องโลกกวี เทิดอักษร สุนทรภู่' ไว้ว่า... "สุนทรภู่เดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่พระนครศรีอยุธยาพร้อมด้วยเณรหนูพัด โดยเรือจากวัดราชบูรณะ ตามลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านพระบรมมหาราชวัง-บางจาก-บางพลู-บางพลัด-บางโพ-บ้านญวน-วัดเขมาภิรตาราม-ตลาดแก้ว-ตลาดขวัญ-นนทบุรี-ปากเกร็ด-บางพูด-บางเดื่อ-สามโคก-บ้านงิ้ว-เกาะใหญ่ราชครามและถึงกรุงเก่า คือ พระนครศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องว่าเป็นนิราศดีที่สุด มีสำนวนคมคายและแฝงไว้ด้วยปรัชญาและสุภาษิตอันลึกซึ้งตามคติพระพุทธศาสนาและค่านิยมของคนไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เต็มไปด้วยสำนวนบอกถึงความสงบสำรวม ไม่โลดโผนตามวิสัยฆราวาสเหมือนในนิราศเรื่องอื่นๆ ของท่าน"
คุณค่าทางวรรณศิลป์ในกลอน นิราศภูเขาทอง คือการเลือกใช้คำดีเด่นต่างๆ ดังนี้
สัมผัสสระ คือ คำที่ใช้สระตัวเดียวกัน
สัมผัสอักษร คือ คำที่มีอักษรคล้องจองกัน การซ้ำเสียง คือ การสัมผัสอักษรอย่างหนึ่ง นับเป็นการเล่นคำที่ทำให้เกิดเสียงไพเราะ
การซ้ำเสียงจะต้องเลือกคำที่ให้จินตภาพแก่ผู้อ่านอย่างแจ่มชัดด้วย การใช้กวีโวหาร มีภาพพจน์ลักษณะต่างๆ ที่กวีเลือกใช้ ทำให้ผู้อ่านได้เข้าถึงความคิด ความรู้สึกของกวี
ภาพพจน์อุปมา คือโวหารที่เปรียบเทียบของสองสิ่งว่าเหมือนกัน มักใช้คำว่า เหมือน คล้าย ดุจ ดูราว ราวกับ
ภาพพจน์กล่าวเกินจริง คือ การที่กวีอาจกล่าวมากหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เพื่อสื่อให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นภาพในความคิดคำนึงได้ดีขึ้น
การเลียนเสียง คือ กวี ทำให้เสียงที่ได้ยินมาบรรยายให้เกิด มโนภาพและความไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น
การเล่นคำ คือ การใช้ถ้อยคำคำเดียวในความหมายต่างกันเพื่อให้ การพรรณนาไพเราะน่าอ่าน และมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ประเพณีการแต่งคำประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ร้อยกรองอย่าง 'จดหมายเหตุ' มีมาแล้วตั้งแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา เช่น ยวนพ่าย-ทวาทศมาส ที่แต่งเป็นบันทึกการเดินทางก็มี เช่น โคลงหริภุญไชยของล้านนา แต่ที่เป็นต้นแบบบันทึกการเดินทางอย่างจดหมายเหตุ คลุกเคล้าด้วย จดหมายรัก คือ กำสรวลสมุทรที่รู้จักกันดีชื่อ กำสรวลศรีปราชญ์
นิราศ หรือ เพลงยาว คือ กลอน มีรากเหง้าเค้าเดิมมาจากคำคล้องจองในชีวิตประจำวันของกลุ่มชนตระกูลไทย-ลาว การเขียนนิราศอาจเป็น บันทึกการเดินทางและการอ่านเพื่อเข้าถึงเรื่องเล่าท้องถิ่น
บันทึกการเดินทางอย่างจดหมายเหตุ แล้วคร่ำครวญหวนในลักษณะจดหมายรัก คงเป็นที่นิยมกว้างขวางตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศสืบมาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 เพราะมีต้นฉบับเพลงยาวตกทอดมาจำนวนไม่น้อย รวมเรียกว่าเพลงยาวความเก่า ขณะที่ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ในปลายรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นั้นถือเป็นลักษณะหนังสือสนเท่ห์ อิงกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในเรื่องพุทธทำนาย
นิราศที่ปรากฏในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับเมืองจีน พระยามหานุภาพที่ได้ไปด้วย ก็แต่งบันทึกการเดินทาง เรียกกันภายหลังว่า นิราศกวางตุ้ง
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลอนนิราศที่ถือว่าเป็นเรื่องแรก คือ เพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นิราศเรื่องทรงพระราชนิพนธ์เมื่อคราวศึกรบพม่าที่ตำบลท่าดินแดง พ.ศ.2329 ปีเดียวกับที่ สุนทรภู่ เกิดที่วังหลังพอดี
อีกบทหนึ่งคือเพลงนิราศฯที่เป็นพระราชนิพนธ์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งจะต้องทรงแต่งอย่างชำนาญมาแต่ครั้งรับราชการอยู่กรุงศรีอยุธยาแล้ว
เพลงยาวที่แต่งอย่างนิราศมีต้นฉบับเหลืออยู่ให้เห็นเป็นหลักฐานคือเพลงยาวของหม่อมภิมเสนถือเป็นเก่าที่สุด และตำนานท้าวปาจิตนางอรพิม ตำนานเมืองพิมายที่เขียนในสมัยกรุงธนบุรีต้นฉบับค้นพบที่พระราชวังหลัง หรือบริเวณโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน เป็นลักษณะกลอน 8 ที่ส่งสัมผัสแพรวพราว
จากนั้นได้มีพัฒนาการสืบมาจนถึงนิราศแบบสุนทรภู่ และลีลากลอน 8 แบบสุนทรภู่ยุคต้นกรุงเทพฯ ที่บรรดากวียุคหลังถือเป็น 'ครู' แล้วนิยมแต่งนิราศแบบสุนทรภู่กันอย่างแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้