ชื่อ 'ฝาง' ใช่-ไม่ใช่??
นอกจากดังเรื่องลูกหมีแพนด้าแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ระยะนี้ยังมีอีกข่าวที่น่าติดตาม นั่นคือการเสนอแยกพื้นที่ 3 อำเภอของ จังหวัดเชียงใหม่เพื่อตั้งเป็น “จังหวัดใหม่” ในชื่อ “จังหวัดฝาง”
ปัจจุบันประเทศไทยมี 76 จังหวัดดังที่ทราบ ๆ กัน
หรือ “ฝาง” จะเป็น “จังหวัดที่ 77” จังหวัดใหม่ ??
ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ประกอบด้วย 24 อำเภอ ซึ่งเมื่อ วันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้เข้ายื่นหนังสือ ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. 2552 พร้อมบันทึกหลักการและเหตุผล บันทึก วิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. เอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จำนวน 10,500 ชุด ต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้รัฐสภามีการพิจารณาตามบทบัญญัติ ตามหลักการรัฐธรรมนูญมาตรา 163 โดยหลักใหญ่ใจความสำคัญคือร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาแยกพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ คือ “ฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ” เพื่อจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ ซึ่งกับเรื่องนี้แน่นอนว่าย่อมจะต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และที่คัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ว่ากันถึง 3 อำเภอที่มีการเสนอตั้งเป็นจังหวัดใหม่ ก็มีข้อมูลจำเพาะโดยสังเขปดังต่อไปนี้... เริ่มที่ “อำเภอไชยปราการ” อำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่อำเภอนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้คือ... ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอฝาง, ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอพร้าว, ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเชียงดาว ส่วนทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
ไชยปราการมีคำขวัญอำเภอคือ... “พระเจ้าพรหมสร้างเมือง รุ่งเรืองวัฒนธรรม งามล้ำถ้ำตับเตา เมืองเก่าไชยปราการ” หรืออีกคำขวัญ “กระเทียมดี ลิ้นจี่หวาน ไชยปราการเมืองเก่า ถ้ำตับเตางามตา ดอยเวียงผาสูงล้ำ วัฒนธรรมล้านนา พระพุทธศาสนามั่นคง” อำเภอนี้มี 4 ตำบลคือ... ตำบลปงตำ มี 8 หมู่บ้าน, ตำบลศรีดงเย็น 18 หมู่บ้าน, ตำบลแม่ทะลบ 7 หมู่บ้าน, ตำบลหนองบัว 11 หมู่บ้าน อำเภอนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง มีพื้นที่ 510.9 ตร.กม. มีประชากร 47,919 คน (ปี 2551)
ต่อด้วย “อำเภอแม่อาย” ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของจังหวัดเชียงใหม่ ทิศเหนือติดต่อกับรัฐฉาน (ประเทศพม่า), ทิศตะวันออกติดต่อกับ อำเภอแม่จัน อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอแม่สรวย (จังหวัดเชียงราย), ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอแม่สรวย (จังหวัดเชียงราย) และอำเภอฝาง, ทิศตะวัน ตกติดต่อกับอำเภอฝาง
แม่อายมีคำขวัญอำเภอคือ... “เหนือสุดเวียงเชียงใหม่ ยิ่งใหญ่ดอยฟ้าห่มปก แม่น้ำกกแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระธาตุสบฝาง เมืองพระนางมะลิกา เด่นสง่าวัดท่าตอน ลือขจรผลไม้ไทย มากมายหลายเผ่าชน” หรืออีกคำขวัญ “เมืองเจ้าแม่มะลิกา เด่นสง่าวัดท่าตอน น้ำพุร้อนเมืองงาม ล่องแพตามลำน้ำกก ดอยผ้าห่มปกบังเงา ชนชาวเขาหลากหลาย มากมายด้วยไม้ผล” อำเภอนี้แบ่งเป็น 7 ตำบลคือ... ตำบลแม่อาย มี 13 หมู่บ้าน, ตำบลแม่สาว 16 หมู่บ้าน, ตำบลสันต้นหมื้อ 12 หมู่บ้าน, ตำบลแม่นาวาง 17 หมู่บ้าน, ตำบลท่าตอน 15 หมู่บ้าน, ตำบลบ้านหลวง 10 หมู่บ้าน, ตำบลมะลิกา มี 10 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง มีพื้นที่ 736.701 ตร.กม. มีประชากร 77,690 คน (ปี 2551)
สำหรับ “อำเภอฝาง” ซึ่งชื่อถูกเสนอเป็นชื่อจังหวัดใหม่ด้วย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ตั้งอยู่ทางเหนือของเชียงใหม่ ทิศเหนือติดต่อรัฐฉาน (ประเทศพม่า) และอำเภอแม่อาย, ทิศตะวันออกติดต่ออำเภอแม่อาย, ทิศใต้ ติดต่ออำเภอแม่สรวย (จังหวัดเชียงราย) และอำเภอไชยปราการ, ทิศตะวันตกติดต่อรัฐฉาน (ประเทศพม่า)
ฝางมีคำขวัญอำเภอว่า... “เมืองพระเจ้าฝาง ดอยอ่างขางสูงซ้อน น้ำพุร้อน-เย็นลือเลื่อง เมืองเกษตรกรรม แหล่งวัฒนธรรมล้านนา ล้ำเลอค่าน้ำมันดิบ” อำเภอนี้มี 8 ตำบลคือ... ตำบลเวียง มี 19 หมู่บ้าน, ตำบลม่อนปิ่น 22 หมู่บ้าน, ตำบลแม่งอน 18 หมู่บ้าน, ตำบลแม่สูน 17 หมู่บ้าน, ตำบลสันทราย 17 หมู่บ้าน, ตำบลแม่คะ 15 หมู่บ้าน, ตำบลแม่ข่า 13 หมู่บ้าน, ตำบลโป่งน้ำร้อน 7 หมู่บ้าน มี 10 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีพื้นที่อำเภอ 888.164 ตร.กม. มีประชากร 123,487 คน (ปี 2551)
รวมเบ็ดเสร็จ 3 อำเภอ ไชยปราการ-แม่อาย-ฝาง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,135.765 ตร.กม. และมีจำนวนประชากร (ณ ปี 2551) รวม 249,096 คน
ว่ากันถึงการพิจารณาจัดตั้งจังหวัดใหม่นั้น จริง ๆ แล้วต้องมีเกณฑ์-มีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาทิ... ทั้งจังหวัดที่ถูกแยกพื้นที่และจังหวัดใหม่ควรมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ตร.กม., จังหวัดใหม่ควรมีประชากรไม่น้อยกว่า 600,000 คน, จังหวัดเดิมที่จะถูกแยกพื้นที่ต้องมีรายได้ภาษีปีละไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาท และเมื่อมีการแยกพื้นที่แล้วจังหวัดเดิมควรมีรายได้คงเหลือปีละไม่น้อยกว่า 2,500,000 บาท, จังหวัดใหม่ควรมีไม่น้อยกว่า 12 อำเภอและกิ่งอำเภอ ขณะที่จังหวัดเดิมควรมีไม่น้อยกว่า 6 อำเภอและกิ่งอำเภอ
และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ทั้งลักษณะพิเศษของจังหวัด, ผลต่อประชาชน, ความพร้อมเรื่องเจ้าหน้าที่ราชการ-สถานที่ราชการ, ความเห็นประชาชน, เหตุ ผลด้านการเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์, นโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มีการเสนอแยกพื้นที่อื่น ๆ ตั้งจังหวัดใหม่ แต่ก็ยังไม่ผ่าน ส่วนกับ “จังหวัดฝาง” นั้น ณ ที่นี้ก็มิใช่จะเชียร์หรือต้านเรื่องการตั้งจังหวัด ก็เป็นแต่เพียงนำเสนอข้อมูลให้คนไทยโดยรวมได้ลองพิจารณา
มิใช่เรื่องง่าย...และถึงองค์ประกอบครบก็มิใช่ว่าตั้งได้เลย
ก็ตามดูกัน...ว่า “ฝาง” จะเป็นชื่อจังหวัดใหม่หรือไม่ ??.
.............................
พวกเราคงต้องรอลุ้น ครับ
แสดงทรรศนะของท่ายเลยครับ กับบล็อกครูหนูเหลี่ยง เพียงเพื่อรับทราบความเห็น
ขอบคุณ สกู๊ปข่าวหน้า 1 เดลินิวส์ ครับ