อ่านบทความเรื่อง "หญิงร้ายในพระอภัยมณีของสุนทรภู่" ที่คุณนัทธนัย ประสานนาม เขียนลงใน www5.sac.or.th เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ ลองอ่านดูนะคะ....
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสุนทรภู่เป็นกวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ที่โดดเด่นหาคนทัดเทียมได้ยาก ท่านได้สรรค์สร้างผลงานไว้มากมายให้เป็นมรดกวรรณคดีที่ล้ำค่าของไทย ผู้เขียนในฐานะครูสอนวรรณคดีขอระลึกถึงคุณูปการของสุนทรภู่ด้วยการหยิบงานของท่านขึ้นมาอ่านใหม่ โดยหวังว่าจะจุดประกายให้ผู้มีใจรักวรรณคดีไทยได้กลับไปอ่านหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อต่อลมหายใจแก่วรรณคดีมรดกของไทยให้อยู่ในสังคมสมัยใหม่ได้ต่อไป
ผลงานของสุนทรภู่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี อันเป็นผลงานที่มีผู้ศึกษาไว้มากมายหลายแง่มุม ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงบทบาทของ "หญิงร้าย" ที่ปรากฏในพระอภัยมณี เพื่อตอบคำถามว่าสุนทรภู่ในฐานะที่เป็นผู้ชายแสดงทัศนะต่อหญิงร้ายผ่านการสร้างตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องอย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ทัศนะดังกล่าวน่าจะนำไปสู่ความเข้าใจค่านิยมเกี่ยวกับบทบาทหญิงชายในสังคมไทยของเราได้ดียิ่งขึ้น
ในการทำความเข้าใจบทบาทของหญิงร้าย เราอาจนำบทบาทของตัวละครมาเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่อง "ความเป็นธรรมทางวรรณศิลป์" (Poetic Justice) ซึ่งเป็นคำที่โธมัส ไรเมอร์นักวิจารณ์ชาวอังกฤษแห่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 สร้างขึ้นเพื่อให้หมายถึงการแบ่งปันรางวัลและลงโทษในทางโลกแก่ตัวละครต่างๆ ในตอนจบเรื่องตามสัดส่วนของความดีและความชั่วที่ตัวละครเหล่านั้นปฏิบัติมาแล้ว (จาก อธิบายศัพท์วรรณคดี ของอาบรามส์ แปลโดย ทองสุก เกตุโรจน์, 2538:261) เราอาจพิเคราะห์ตัวละครหญิงร้ายในเรื่องนี้ว่ามีพฤติกรรมอย่างไรและถูกตัดสินชะตาชีวิตอย่างไร โดยมีสมมติฐานว่าทั้งบทบาท รางวัลและบทลงโทษของตัวละครหญิงเหล่านี้ล้วนผูกพันกับบทบาทหญิงชายของเธอ
ตัวละครหญิงที่เลือกมากล่าวถึงในที่นี้ได้แก่นางผีเสื้อสมุทร นางวาลีและนางละเวง
นางผีเสื้อสมุทร
จากในเรื่อง นางผีเสื้อสมุทรเป็นยักษ์ พระอภัยมณียอมร่วมภิรมย์อยู่ด้วยหลายปีเพราะความเกรงกลัว จนเมื่อสบโอกาส พระอภัยมณีจึงหนีไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่เกาะแก้วพิสดาร นางผีเสื้อสมุทรตามมาจองล้างและทำให้คนอื่นในเกาะต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น นางยังใช้วาจาจาบจ้วงพระอภัยมณีอย่างไม่มีความยำเกรง
นางผีเสื้อเบื่อหูว่าจู้จี้
|
เจ้าบาลีเลือกแปลมาแก้ไข
|
ไหนนรกตกลงที่ตรงใด |
ช่วยพาไปดูเล่นให้เห็นจริง |
เมืองสวรรค์นั้นก็ไปทางไหนเล่า |
อย่าพูดเปล่าปลิ้นปลอกหลอกผู้หญิง |
หนีไปไหนก็ไม่รอดจะทอดทิ้ง |
มานั่งนิ่งอยู่กับเกาะเห็นเหมาะใจ |
เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้ พระอภัยมณีจึงตัดสินใจเป่าปี่สังหารนางผีเสื้อสมุทรเสีย
บทบาทของนางผีเสื้อสมุทรคือเป็น "แม่" และ "เมีย" หากคิดเชื่อมโยงกับลักษณะอุดมคติของผู้หญิงที่ปรากฏในวรรณคดีคำสอนและตัวละครเอกหญิงเรื่องอื่นๆ ในวรรณคดีไทย นางผีเสื้อเข้าข่ายว่าทำตน "นอกรีตนอกรอย" นางลักพาพระอภัยด้วยกำลัง มิได้ใช้ความงาม เสน่ห์ หรือความดีมามัดใจ นางไม่เชื่อฟังคำสั่งของสามี ไม่สำรวมกิริยา สังเกตจากการใช้วาจาบริภาษอย่างไม่มีความเกรงกลัว ความเป็นธรรมที่นางได้รับจึงมิใช่สิ่งอื่นนอกจากความตาย
อย่างไรก็ตาม กวีได้หา "ทางหนีทีไล่" เอาไว้ให้แก่พระอภัยมณีแล้วหากจะมีผู้ตำหนิว่าพระอภัยมณีใจคอโหดร้ายถึงขนาดสังหารภรรยาได้ลงคอ การที่พระอภัยมณีคร่ำครวญรำพันและโศกเศร้าจนหมดสติไปเป็นเสมือนการชดเชยให้แก่ความตายของนางยักษ์ ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ชายว่ากระทำสิ่งโหดร้ายเพราะความจำเป็น ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่านางผีเสื้อไม่มีความรู้ดีรู้ชั่วต่างกับพระอภัยมณีอย่างเห็นได้ชัด
ถึงแม้พระอภัยมณีจะมีภาพลักษณ์ของพระเอกศิลปิน แต่ก็ยังถูกมอบหมายบทบาทที่แสดงความมีเหตุผลได้มากกว่านางยักษิณีที่ทำตามอำเภอใจของตนเองฝ่ายเดียว และอาจเป็นไปได้ว่านางผีเสื้อสมุทรเป็นภาพจำลองความเจ้าอารมณ์ของเพศหญิงที่หากมีมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ก็อาจสร้างผลเสียให้แก่ตนเอง โดยเฉพาะการก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในครัวเรือน
นางวาลี
นางวาลีก็เป็นตัวละครที่มีลักษณะไม่สอดคล้องกับลักษณะอุดมคติของหญิงไทยเช่นกัน นางมีรูปชั่ว "เหมือนคุลาหน้าตุเหมือนปรุหนัง แลดูดังตะไคร่น้ำดำมิดหมี" แต่พระอภัยมณีรับนางไว้เป็นหม่อมห้ามก็เพราะเห็นว่านางเป็นคนมีสติปัญญา "แต่กิริยามารยาทประหลาดดี เห็นจะมีความรู้อยู่ในใจ" ในประเด็นนี้ อาจกล่าวได้ว่าสุนทรภู่เชิดชูความรู้เหนือรูปลักษณ์ภายนอก แต่ความรู้และปัญญาดังกล่าวก็ยังต้องรับใช้ผู้ชายอยู่นั่นเอง ดังที่นางวาลีได้ใช้ปัญญาของตนช่วยเหลือพระอภัยมณีหลายครั้งทั้งด้านการรบและด้านการรัก
ครั้งหนึ่ง นางต้องการฆ่าอุศเรนหลังจากเจ้าลังกาสิ้นแล้วเพราะนางคิดว่าต่อไปภายหน้าอุศเรนอาจเป็นเสี้ยนหนามที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พระอภัยมณีได้ วาทะของนางที่วิจารณ์ผู้ที่อยู่เหนือกว่าทั้งพระอภัยมณีและนางสุวรรณมาลีนั้นแสดงให้เห็นว่านางไม่ "สบอารมณ์" กับท่าทีของตัวละครอื่นที่มีต่ออุศเรน ซึ่งคิดไว้ชีวิตเพราะเห็นแก่บุญคุณครั้งเก่า ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความอหังการ เชื่อมั่นในความคิดของตนเองมากเกินไปของนางด้วย
พระผ่านเกล้าเรานี้อารีเหลือ |
เหมือนดูถูกลูกเสือเบื่อนักหนา |
พระทัยซื่อถือว่าคุณเขามีมา |
ถึงจะว่าเห็นไม่ฟังกำลังเมา |
ทั้งองค์พระมเหสีก็มิห้าม |
เพราะมีความการุญคิดคุณเขา |
ด้วยเป็นมิตรบิตุรงค์ของนงเยาว์ |
เว้นแต่เราจะต้องทำแต่ลำพัง |
ประเวณีตีงูให้หลังหัก |
มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง |
จระเข้ใหญ่ถึงน้ำมีกำลัง |
เหมือนเสือขังถึงดงก็คงร้าย |
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า |
ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย |
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย |
จะทำภายหลังยากลำบากครัน |
จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ |
ประหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ |
ต้องตัดศึกลึกล้ำที่สำคัญ |
นางหมายมั่นมุ่งเห็นจะเป็นการ |
นางวาลีจัดการ "พลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ" ด้วยการใช้วาจาพูดเชือดเฉือนทิ่มแทงอุศเรนจนอกแตกตาย ผลจากการกระทำของนางคือถูกปีศาจอุศเรนเข้าสิงจนต้องตายตามไป นี่คือความเป็นธรรมทางวรรณศิลป์ที่นางวาลีได้รับ ถึงแม้ว่านางจะอยู่ฝ่ายของพระอภัยมณีแต่ด้วยความอวดดี ทำเกินคำสั่ง แสดงตนว่าเก่งกล้าฉลาดเหนือชาย ใช้วาจาหยาบหยามทั้งที่ตนเองรูปชั่ว การเป็นผู้หญิงไม่ดีของนางวาลีจึงต้องสังเวยด้วยชีวิต นอกจากนั้น เนื้อเรื่องต่อมายังแสดงให้เห็นว่านางผิดเพราะการฆ่าอุศเรนที่นางคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องกลับก่อให้เกิดสงครามยืดเยื้อตามมาอีกหลายครั้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
นางละเวง
ตัวละครตัวสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือนางละเวง นางเป็นผู้หญิงเก่งกล้าเช่นเดียวกับตัวละครหญิงอื่นๆ ในเรื่อง ถึงแม้นางละเวงจะเป็นเสมือน "นางเอก" คนหนึ่ง แต่เราอาจจัดนางละเวงให้เป็นตัวละครหญิงแบบ "นารีพิฆาต" ได้ นารีพิฆาตเป็นตัวละครที่เป็นตัวร้ายฝ่ายหญิงผู้ซึ่งมีเล่ห์เหลี่ยม ใช้กลลวงขุดล่อตัวละครเอกฝ่ายชายที่เคราะห์ร้ายหรือผู้ชายคนอื่น ๆ เพื่อให้ได้รับผลบางอย่างที่เธอปรารถนา คำคำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า "Femme Fatale" หมายถึงผู้หญิงอันตราย นารีพิฆาตมักจะพยายามบรรลุวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นของตนเองโดยใช้มารยาหญิง (ความงาม เสน่ห์ ทักษะทางเพศ) ตัวละครกลุ่มนี้จะพ่วงพาคุณสมบัติดังกล่าวไปด้วยเสมอ ดังตอนที่นางละเวงพยายามใช้เสน่ห์ของตนเองโดยให้ช่างวาดรูปของนางเพื่อดึงดูดเจ้าเมืองต่างๆ ให้มาช่วยรบกับพระอภัยมณี
ความร้ายของนางละเวงเกิดจากการที่นางใช้เสน่ห์ เล่ห์กล จริตมารยาและเวทย์มนต์ในการรบ นางมีทหารองครักษ์จำนวนมากที่เป็นหญิงผู้รบเก่งและมีเล่ห์มายา
แล้วเลือกเหล่าสาวสุรางค์สำอางโฉม |
งามประโลมล้ำหญิงในสิงหล |
ที่รุ่นราวสาวน้อยได้ร้อยคน |
มาสอนกลสัตรีให้ปรีชา |
แม้นชายใดได้ปะพอประเนตร |
แสนเทวษหวังรักนั้นหนักหนา |
แล้วฝึกหญิงยิงธนูรู้สาสตรา |
เป็นรักษาองค์นั้นสามพันคน |
นางละเวงเองไม่มีฝีมือในการรบเท่าใดนักถึงแม้จะมีความรู้ด้านนี้อยู่บ้างก็ตาม แต่นางละเวงเป็นผู้หญิงอันตรายเพราะรู้จุดอ่อนของผู้ชายว่า "เพราะรักยศรักหญิงช่วยชิงชัย" นางจึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าเมืองต่างๆ ที่มาช่วยรบกับพระอภัยมณี แต่ถึงอย่างไร นางก็ไม่อาจเอาชนะได้ ประเด็นนี้อาจเป็นความเป็นธรรมทางวรรณศิลป์ด้วยเช่นกันที่นางไม่สมควรชนะเพราะนางใช้วิธีสกปรกในการรบและเป็นเพียงผู้หญิง
เท่าที่กวีแสดงให้เห็น เป็นที่น่าสังเกตว่าความร้ายของนางละเวงมิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวของนางเองแต่เกิดจากการยุยงส่งเสริมของบาทหลวง ความเป็นธรรมทางวรรณศิลป์ของสุนทรภู่จึงไม่เล่นงานนางถึงชีวิต ต่างกับผีเสื้อสมุทรและนางวาลีที่ร้ายด้วยตนเอง
ความขัดแย้งในเรื่องเกิดจากนางละเวงหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างนางกับนางสุวรรณมาลีซึ่งต่างก็เป็นชายาของพระอภัยมณี แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าตัวละครหญิงในเรื่องนี้จะมีความสามารถมากเพียงไรแต่ก็ยังปรากฏตัวในฐานะภาพเหมารวมของผู้หญิงที่จะต้องมีความหึงหวง เจ้าแง่แสนงอนและผูกพยาบาท ซึ่งล้วนเป็นลักษณะด้านลบทั้งสิ้น สุดท้าย เมื่อพระอภัยมณีออกบวช นางทั้งสองขอติดตามไปด้วย แต่ลำดับของการ "คิดได้" ว่าสมควรละทางโลกเพื่อยุติความวุ่นวาย พระอภัยมณีก็ยังคิดได้ก่อน นางละเวงผู้เป็นชายาจึงหลุดพ้นจากโมหะได้ด้วยอานิสงส์เกื้อกูลจากคุณธรรมสูงส่งของพระอภัยมณีซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ชาย และความเป็นธรรมทางวรรณศิลป์ที่ไว้ชีวิตของนางเพราะกลับตัวได้นั่นเอง
ตัวละครหญิงร้ายในเรื่องพระอภัยมณีที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมดน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงว่าผู้หญิงสมควรมีกิริยาอ่อนหวาน สำรวมกายใจ ไม่อวดดื้อถือดี และไม่ควรใช้รูปสมบัติหรือเสน่ห์ของตนในทางที่ผิด อันที่จริง มีตัวละครหญิงตัวอื่นๆ ในเรื่องอีกมากที่เจริญรอยตามนางในอุดมคติของวรรณคดีไทย แต่การสร้างตัวละครหญิงร้ายให้ปรากฏชัดเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้หญิงเองเป็นเพศที่มีความหลากหลายทั้งร้ายดี ทั้งยังส่อนัยให้เห็นว่าสุนทรภู่รู้จักผู้หญิงดีพอที่จะหยั่งเห็นวิญญาณนารีพิฆาตที่อาจมีแฝงอยู่ในตัวของผู้หญิง
ที่ต้องระวังก็คือนารีพิฆาตที่ยังลอยนวลอยู่ในสังคมทุกวันนี้ไม่น่าจะถูกกำราบลงได้โดยง่ายอย่างที่ปรากฏในวรรณคดีเป็นแน่