อ่านแล้ว..สะกิดความรู้สึกนึกคิดได้มากมาย...ก็เลยอยากให้ท่านทั้งหลายลองอ่านดู...ว่าจะรู้สึกเหมือนกันหรือเปล่าคะ..
นี่สิ...! เศรษฐีที่แท้จริง...!!
คนรวยมากๆนั้น
ถ้าเราตัดสินด้วยตาเปล่า
จะรู้สึกเหมือนพวกเขามีทุกอย่าง
เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะอยากมี
ไม่ว่าจะเป็นรถคันยาว คฤหาสน์หลังโต
หรือกระทั่งเกียรติยศและอิทธิพล
ที่มากพอจะเปลี่ยนอะไรในวงกว้าง
ภายในชั่ววันเดียวที่พวกเขาต้องการ
แต่ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาล่ะ?
..เคยอ่านสัมภาษณ์
แล้วก็เคยพบตัวจริงมา
สะท้อนให้เห็นว่าในส่วนลึกยังรู้สึกขาด
เท่าที่รวบรวมแบบแปลกๆไว้ ก็เช่น
๑) บางคนขาดความรู้สึกปลอดภัย
วันๆต้องเปลี่ยนเส้นทางเข้าออกจากที่ทำงาน
เพราะกลัวพี่น้องด้วยกันจะส่งมือปืนมายิง
๒) บางคนขาดความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า
เพราะเจอแต่ลูกน้องคนสนิทที่ปั้นมากับมือ
แย่งเก้าอี้ แย่งอำนาจ หรือรวมหัวกันด่าทอในห้องประชุม
และน่าเศร้าที่หลายคนในนั้นกระเด็นจากบัลลังก์จนได้
๓) บางคนขาดความรู้สึกว่ามีครอบครัว แม้จะมีลูกเมีย
รายหนึ่งแบ่งสมบัติให้ลูกไปเกือบหมด
ของตัวเองเหลือพอทำธุรกิจได้ต่อไป
แต่วันดีคืนดีธุรกิจเกิดปัญหา ใกล้ล้มละลาย
เขาเรียกลูกชายหญิงสามคนมาขอเงินบางส่วนคืน
เพื่อจะเอาไปประทังหนี้ที่ต้องจ่ายเดี๋ยวนั้น
แต่ลูกทั้งสามปฏิเสธ และบอกว่ามันเป็นปัญหาของพ่อ
พ่อก่อปัญหาแล้วไม่ควรทำให้พวกเราเดือดร้อน
เขามึนงงและไม่เชื่อหูตัวเอง
แต่จากนั้นสองปีเขาก็กู้วิกฤตได้ด้วยตนเอง
ทว่าเมื่อมีใครถามถึงลูกๆของเขา
เขาจะทำหน้าเฉยชา นัยน์ตาว่างเปล่า
และถามกลับว่า "ลูกไหน? ผมไม่เคยมีลูก"
๔) บางคนขาดความรู้สึกว่าตัวเอง "มี"
เพราะถ้ามีจริง ทำไมถึงรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลย
บางคนต้องวิ่งไปขอความสุข
ขอความรู้สึกว่า "มี" จากใครบางคน
ที่ดูภายนอกเหมือนมี "ไม่" ในสายตาคนทั่วไป
ซึ่งก็ได้แก่พระสงฆ์องค์เจ้า
ผู้สละเรือน สละสมบัติ สละกรรมสิทธิ์ทุกอย่างทางโลก
เหลือเพียงผ้าพันกายกันอุจาด
กับที่อยู่อาศัยซึ่งชาวบ้านลงขันกันสร้างเป็นของกลางของสงฆ์
และอาหารแต่ละมื้อที่ชาวบ้านใส่บาตรให้ตามกำลัง
คนที่มีอะไรทุกอย่าง
แต่กลับรู้สึกว่าไม่มีอะไรสักอย่าง
ต้องเร่ขอความมีไปทั่วทุกทิศ
กับคนที่ไม่มีอะไรสักอย่าง
แต่กลับรู้สึกว่ามีครบทุกอย่าง
แถมเป็นฝ่ายแจกความมีให้กับใครต่อใครที่เข้ามาหา
สะท้อนให้เห็นว่าคนเรามีหรือไม่มี
ไม่ใช่เรื่องของการครอบครองวัตถุภายนอก
แต่เป็นเรื่องของการครอบครองสมบัติภายใน
ถ้าใครเข้าใจ และสามารถเข้าถึงได้
ก็ย่อมเป็นคน "มั่งมี" ที่ฉายชัดออกมา
ให้คนอื่นรู้สึกอยาก "ขอแบ่ง" บ้าง
ความมั่งมี หรือทรัพย์อันเป็นภายใน เป็นอย่างไร?
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธนสูตรที่ ๒
ใจความสรุปว่าท่านถือเหล่าอริยเจ้า
เป็นพวกที่มีทรัพย์จริง ไม่อาจเรียกว่ายากจนเลย
เพราะเป็นของติดตัว เป็นของทำลายไม่ได้
สะสมแล้วไม่อาจเป็นผู้มีใจแห้ง
และเป็นเครื่องยืนยันอย่างเป็นแก่นสาร
ว่าชีวิตของพวกท่านคุ้มค่าแล้ว
ทรัพย์อันเป็นภายในดังกล่าวนี้
แม้เหล่าอริยเจ้าก็มีไม่เท่ากัน
มากบ้างน้อยบ้างตามบารมีที่สั่งสมมา
และแม้ยังเป็นปุถุชน
ก็อาจมีทรัพย์เช่นเดียวกันนี้ได้
เพียงแต่อาจจะไม่คงทนถาวรเหมือนเหล่าอริยเจ้า
ผู้บรรลุธรรมแล้ว เที่ยงที่จะถึงนิพพานแน่แล้ว
มีอัธยาศัยในการสละมายาลวงตาแน่แล้ว
มาฟังที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับทรัพย์ภายในกันค่ะ
๑) ศรัทธา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา
คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
ว่าด้วยการบำเพ็ญเพียรโดยชอบ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จึงเป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา
๒) ศีล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เป็นผู้เว้นขาดจากการผิดประเวณี
เป็นผู้เว้นขาดจากการโป้ปด
และเป็นผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล
๓) ความละอายต่อบาป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีความละอาย
คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ละอายต่อการแปดเปื้อนด้วยอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ
๔) ความสะดุ้งกลัวต่อบาป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว
คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
สะดุ้งกลัวต่อการแปดเปื้อนด้วยอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือโอตตัปปะ
๕) ความรู้อันเป็นสัทธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ทรงจำความรู้อันเป็นสัมมาทิฏฐิไว้มาก
ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดโดยดีด้วยความเข้าใจในธรรมทั้งหลาย
อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
แสดงการประพฤติธรรมได้ตลอดสาย
ทั้งในส่วนของศัพท์แสงและความเข้าใจ
บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ
๖) น้ำใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
สละได้แม้การครองเรือน
มีอาการปล่อยแล้ว
มีฝ่ามืออันชุ่มด้วยความยินดีในการสละ ควรแก่การขอ
ปลาบปลื้มในทานและการจำแนกทาน
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ
๗) ปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีปัญญา คือ
ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ
เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา
ข้าวของภายนอกจะบอกว่าคุณรวยหรือจนไม่สำคัญ
ถ้ามีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้
พระพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้เลยว่าจะรู้สึก "ไม่จน"
ขอยกตัวอย่างให้เห็นง่าย
นั่นคือถ้าคุณเป็นผู้มีศีล
คุณย่อมไม่เพ่งเล็งอยากได้ของใครด้วยอาการแห่งขโมย
ตราบใดไม่เป็นขโมย
ตราบนั้นคุณย่อมไม่รู้สึกว่าตัวเองยากจนกระทั่งสิ้นท่า
และถ้าคุณเป็นนักให้ทาน ชอบสละออก
คุณย่อมรู้สึกว่าตนเองมีพอจะให้
และในระดับของพระ
ที่ใจถึงขนาดสละเรือนได้แล้ว
แน่พอจะยกทรัพย์ทั้งหมดของตนให้คนอื่นได้แล้ว
จะมีอะไรอีกเล่าที่ให้ไม่ได้?
พอถึงจุดที่สามารถทิ้งอาการกระเสือกกระสนเอาเข้าตัว
ธรรมชาติของใจคือจะเกิดความรู้สึก "พอ"
และความพอ ความไม่อยากเอาเพิ่มนั่นแหละ
คือความรู้สึกของเศรษฐีที่แท้จริง!
....กว่าจะเป็นเศรษฐีได้นี้ยากไหมคะ?...และทำอย่างไร?เราจึงจะได้เป็นเศรษฐีกันล่ะ.... ยากยิ่งสิ่งเดียว..อยู่ที่...???????
ขอบคุณที่มาข้อมูล ธรรมะใกล้ตัว