การดูดวงชาตาราศี หรือโหราศาสตร์ เป็นเรืองที่ดี หากเรานำผลการทำนายมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เพื่อมิให้เกิดความประมาท อย่างน้อยยังเพิ่มขวัญและกำลังใจสำหรับผู้ที่ตกอยู่ในภาวะที่จิตตกต่ำ แต่มิใช่ดูด้วยความหลงงมงาย เพราะทุกสิ่งมีทั้งด้านดี และด้านเสีย อยูที่การมองของแต่ละคน
ทุกคนล้วนมีชาตาชีวิต อันเกิดจากการกระทำกรรมที่ดี และไม่ดี(กุศล และอกุศล)ทั้งในชาติที่แล้วและชาตินี้ จึงมีเจ้ากรรมและนายเวรทุกคน เหตุที่ชีวิตจะมีเคราะห์กรรม หรือโชคนั้นก็ล้วนมาจากเจ้ากรรมและนายเวรนั่นเอง และจะมีวิธีแก้ไขชาตาชีวิตหรือไม่
ท่านเหลี่ยวฝานได้ให้โอวาทแก่ลูกว่า หากฟ้าจะประทานความเจริญรุ่งเรืองแก่ใคร มักจะประทานสติปัญญาให้ก่อน เมื่อมีสติปัญญาแล้ว คนที่เจ้าอารมณ์ก็จะเปลี่ยนเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ คนที่อวดดีก็กลายเป็นคนถ่อมตนได้ เมื่อพัฒนาตนเองได้แล้วฟ้าย่อมประทานบุญวาสนาให้
นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงนักศึกษาแซ่จางคนหนึ่ง ที่เป็นคนมีความรู้ความสามารถดี แต่เมื่อเดินทางไปสอบจอหงวนแล้ว ปรากฎว่าสอบตก และโทษกรรมการว่าไม่มีความรู้ เห็นหลวงจีนยิ้มก็ยังโกรธให้ ต่อมาจึงมอบตัวเป็นศิษย์หลวงจีน และหลวงจีนได้สอนนักศึกษแซ่จางไว้
หลวงจีน สอนว่า การสอบไล่ได้หรือไม่ ล้วนขึ้นอยู่กับชาตาชีวิต ถ้าชาตาไม่ดี แม้จะเขียนบทประพันธ์ได้ดีอย่างไรก็สอบไม่ได้ จึงต้องแก้ไขที่ตนเองเสียก่อน
นักศึกษาแซ่จางถามว่า หากขึ้นอยู่กับชาตาชีวิตแล้ว จะแก้ไขได้หรือไม่ ?
หลวงจีนสอนว่า ฟ้าประทานชีวิตให้เรา แต่ชาตาชีวิตเราต้องสร้างสมเอง หากกระทำแต่กรรมดี มีศีลธรรม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ยิ่งไม่มีผู้รู้เห็น ก็ยิ่งเป็นกุศลมหาศาล เมื่อเราสั่งสมความดีจนเต็มเปี่ยมแล้ว เราต้องการชาตาชีวิตอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น
นักศึกษแซ่จางจึงปรารภว่า ข้าพเจ้าเป็นคนจน จะมีปัญญาช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร ?
หลวงจีนชี้แจงว่า การทำความดีต้องเริ่มที่ใจ มุ่งแก้ไขตนเองเสียก่อน เช่นการอ่อนน้อมถ่อมตน ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย
หลังจากนั้นนักศึกษาแซ่จาง จึงเริ่มปฎิบัติตนเสียใหม่ ลดความหยิ่งผยองลงไปทุกวัน เพิ่มคุณธรรมให้กับตนเองมากขึ้น ครั้นอีกสามปีต่อมาก็สอบจอหงวนได้ตามความประสงค์ (โอวาทสี่ของท่านเหลียวฝาน : เจือจันทน์ อัชพรรณ : หน้า 92-94)