ทุกคนล้วนอยากเป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้คงแก่เรียน หรือเป็นพหูสูต เพราะเชื่อว่าความรู้สามารถที่มีจะตอบสนองความต้องการ และแก้ปัญหาในสิ่งเราต้องการได้ อีกทั้งเป็นเครื่องมือนำทางให้การดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ชอบ ประกอบด้วยคุณธรรม นำพาให้ชีวิตมีความสุขที่ยั่งยืน ในปัจจุบัน และอนาคต
ยามมีปัญหา ความรู้ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจ มองเห็นแนวทาง และเข้าแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่มีร่องรอยความบอบช้ำให้เกิดในดวงใจ และไร้ร่องรอยบนร่างกาย
ยามมีความทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจ และ มีความหว้าเหว่ ยังมีความรู้เป็นเพื่อน ทำให้เรามองเห็นทางออก ไม่มืดแปดด้าน ไม่คิดทำร้ายตัวเอง และไม่คิดสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับคนอื่น
ยามที่อยู่ในภาวะจิตตกต่ำ ความรู้ทำให้เราคิด พิจารณาไตร่ตรองจนเกิดปัญญา หาแนวทางที่จะยกสภาวะจิตให้สูงขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรจะให้จิตอยู่ในภาวะสงบ ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลส และพลังมาจากภายนอก มีสภาวจิตอยู่อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ในสภาพถูกกักขังและหน่วงเหนี่ยว
แต่คนเราทุกคนก็ไม่สามารถจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และคงแก่เรียนเป็นพหูสูตได้ ทั้งนี้เพราะขาดองค์คุณของพหูสูต 5 ประการ (ธรรมนูญชีวิต : พระพรหมคุณาภรณ์)คือ
1.พหุสสุตา ฟังมาก คือเล่าเรียน สดับฟัง รู้เห็น อ่าน สั่งสมความรู้ในด้านนั้นให้มากมายกว้างขวาง
2. ธตา จำได้ คือจับหลักหรือสาระได้ ทรงจำเรื่องราวหรือเนื้อหาสาระไว้ได้แม่นจำ
3. วจสา ปริจิตา คล่องปาก คือท่องบ่น หรือใช้พูดอยู่เสมอ จนแคล่วคล่องจัดเจน ใครสอบถามก็พูดแจงแถลงได้
4. มนสานุเปกชิตา เจนใจ คือใส่ใจนึกคิดจนเจนใจ นึกถึงครั้งใด ก็ปรากฎเนื้อความสว่างชัดเจน มองเห็นโล่งตลอดไปทั้งเรื่อง
5. ทิฎฐิยา สุปฎิวิทธา ขบได้ด้วยทฤษฎี คือ เข้าใจความหมายและเหตุผลแจ่มแจ้งลึกซึ้ง รู้ที่ไปที่มา เหตุผล และความสัมพันธ์ของเนื้อหา และรายละเอียดต่าง ๆ
ผู้หวังที่จะเป็นผู้มีความรู้ ผู้คงแก่เรียน หรือเป็นพหูสูต ก็ควรที่จะนำองค์คุณของพหูสูตดังกล่าวนำไปพิจารณา หากแม้นท่านปฎิบัติได้ครบตามองค์คุณดังกล่าว ความไม่รู้ก็จะลดน้อยถอยลง ก็จะกลายเป็นคนที่มีคุณค่า ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติในที่สุด
คนที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นพหูสูต มิใช่เพียง แต่ทำให้ตนเองเป็นคนมีคุณค่าเท่านั้น แต่ยังทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกมีคุณค่าอีกด้วย