การสมรส หมายถึงการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น ถึงจะไดรับการคุ้มครองตามกฏหมายดังกล่าว เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้ว บุคคลทั้งสองจะต้องก่อร่างสร้างตัว เพื่อความมั่นคงของชีวิตสมรส สร้างครอบครัวให้มีความสมบูรณ์พูนสุข สิ่งที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับชีวิตสมรส ก็คือทรัพย์สิน เงินทอง และของมีค่าต่าง ๆ ที่หามาได้ร่วมกัน และติดตัวมาก่อนจะมาอยู่ด้วย
ในเรื่องการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวจะทำอย่างไร และทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัว หรือสินสมรส และจะมีวิธีการจัดการกันอย่างไร ซึ่งพอจะแยกได้ ดังนี้
๑. สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สิน
๑.๑ ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
๑.๒ ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
๑.๓ ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
๑.๔ ที่เป็นของหมั้น
* สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
๒. สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สิน
๒.๑ ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
๒.๒ ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ ระบุว่าเป็นสินสมรส
๒.๓ ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
* สินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน
* สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสดังต่อไปนี้ร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง คือ
๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจำนองได้
๒) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลง ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระตัดพันในอสังหาริมทรัพย์
๓) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
๔) ให้กู้ยืมเงิน
๕) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูป ของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
๖) ประนีประนอมยอมความ
๗) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
๘) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
* การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีดังที่กล่าวมานี้ สามีหรือภริยาจัดการได้เอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
* ผลของการไม่จัดการสินสมรสร่วมกัน หรือโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม *
* ถ้าคู่สมรสฝ่ายใด ได้ทำนิติกรรมดังกล่าวไป แต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง อาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้ให้สัตยาบัน (รับรอง) แก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน
* ห้ามมิให้ฟ้องเพิกถอน นิติกรรมดังกล่าว เมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปี นับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
* หนี้สินของสามีภริยา *
* ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้น ด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น
* ถ้าสามี ภริยา เป็นลูกหนี้ร่วมกันให้ชำระหนี้นั้น จากสินสมรส และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
* หนี้ที่สามีภริยา เป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่ สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้
๑) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน และจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาล บุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตร ตามสมควรแก่อัตภาพ
๒) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
๓) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
๔) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้น เพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน (รับรอง)
---------------------------