คาถาดีมีมาฝาก.....จากใจครูผู้มีแต่ให้
ท่องคาถานี้ เป็นเศรษฐีอันดับโลก
คาถาหัวใจเศรษฐี
(คาถาแก้จน)
อุ. อา. กะ. สะ.
(ท่องเศกน้ำล้างหน้าเวลาก่อนรุ่งอรุณ ๐๕.๐๐ น.ทุกวันรับรองรวย)
อุ. = อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยัน
อา. = อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา เช่นรักษาทรัพย์ รักษาการงาน
กะ. = กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว
สะ. = สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิต ตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้
คาถาความ ตามบท คำพจน์แถลง
คนโบราณ นานมา ว่าแสดง
บอกชี้แจง แจ้งเจตน์ ตามเหตุการณ์
ทิฏฐะธัมมิกัตถะประโยชน์
จักเอื้อนโอษฐ์ โปรดสอน เป็นกลอนสาร
บทลายแทง แจ้งมา คาถาการณ์
ตามโบราณ ท่านสอน เป็นตอนไป.
อุ. อา. กะ. สะ. ศัพท์ ให้นับท่อง
คาถาของ คนมี เศรษฐีใส
ท่องให้ได้ จำไว้ ให้ขึ้นใจ
จะไปไหน ใจนึก ตรึกได้จริง
ใช้เศกน้ำ ล้างหน้า หรือทาแป้ง
ให้จัดแจง ว่ากลอน เชิญพรสิง
ด้วยคาถา ภาวนา มาประวิง
มาอ้างอิง อวยชัย ให้ใจจำ
อุ. คำย่อ พอดี นะพี่หนา
อุฏฐานะสัมปทา ว่างามขำ
ให้ขยัน หมั่นเพียร เรียนประจำ
หรือจะทำ งานใด ให้ใจตรอง
อา. ย่อมา บาลี ที่นี้ว่า
อารักขะ สัมปทา ว่าข้อสอง
รู้รักษา ทรัพย์สิน สิ้นเงินทอง
หรือรักของ คู่ดี วจีกาย
กะ. คาถา กัลยาณมิตร ที่คิดคบ
ให้บรรจบ เจนจัด อรรถขยาย
เป็นคนดี มิหมอง ต้องใจกาย
ดีคบไว้ ได้ดี มีคนชม
สะ. คำนี้ มีความ ว่าตามศรี
สะมะชีวิตา พางามสม
รู้จักใช้ จ่ายมา ปัญญาคม
ไม่ล่มจม จ่ายมาก ลำบากนาน
ที่กล่าวมา ว่าย่อ ให้พอเห็น
พอได้เป็น บทสั้น บรรณสาร
บทขยาย ร่ายพร่ำ อย่ารำคาญ
จะขับขาน ขยายอรรถ ให้ชัดไป
อุ. ข้อหนึ่ง นั่นขยัน ให้มั่นคิด
ฝึกชีวิต จิตแจ่ม ยิ้มแย้มใส
สู้ทนทุกข์ ยุคเข็น ลำเข็ญใจ
ทำงานใด ไม่ถอย คอยชะตา
เมื่อวัยเรียน ก็เพียร ไม่เหียนหัน
ล่วงวัยนั้น ทำงาน การศึกษา
รู้ลำบาก จากงาน ทำการมา
ประสบพา เพียงเตือน เหมือนได้ครู
ทำอะไร ใจจิต คิดจดจ่อ
จักไม่ท้อ ถอยทด ทนอดสู
ปากตีนถีบ ทำจริง อวดลิงดู
จักต่อสู้ เสริมพลัง ไม่รั้งรอ
ทำงานนิด งานหน่อย ไม่ถอยหลัง
ใครจะรั้ง เร่งรุด ไม่หยุดหนอ
ทำต่อไป ใจสู้ ไม่รู้พอ
จักทำต่อ เติมไป ให้ใจสบาย
เมื่อทำจริง ได้จริง เป็นสิ่งสัตย์
ปรมัตถ์ อรรถธรรม นำขยาย
จักมีสุข สำราญ การสบาย
ผลที่ได้ เพียรพาก ลำบากมา
เมื่อก่อนจน กลับรวย ด้วยทรัพย์สิน
มั่งมีกิน เกินใช้ จับจ่ายหนา
เป็นเศรษฐี แสนหมื่น รวยเงินตรา
ขยันมา พาเหตุ สังเกตดู
ไม่ต้องทุกข์ ทนหนี้ เพราะมีจ่าย
อยู่สบาย คลายทุกข์ ยุคอดสู
จะอยู่ไหน ไม่หวั่น สัพพัญญู
เชื่อฟังครู รู้ขยัน นั้นสบาย
อา. ข้อสอง ท่องว่า รักษาทรัพย์
รู้จักนับ เนื่องตาม มีความหมาย
รู้รักษา พาตัว ให้กลัวตาย
เก็บทรัพย์ไว้ จ่ายเผื่อ ให้เหลือกิน
รักษาทรัพย์ นับส่วน ให้ถ้วนถี่
แบ่งเป็นสี่ ส่วนทรัพย์ แบ่งนับสิน
ส่วนหนึ่งเพียง เลี้ยงดู คู่ชีวัน
สองไม่กิน เก็บไว้ เพื่อใช้การ
คราวจำเป็น เช่นแก่ ใครแลเหลียว
โรคก็เกี่ยว กับกฎ หมดแก่นสาร
ร่างชะแร แก่ชรา ให้พาพาล
โรครุกราน พาลรุก ไม่สุขเลย
เมื่อมีทรัพย์ นับใส่ เก็บไว้ใช้
นำมาจ่าย จัดยา พาเฉลย
ก็หายโรค โรคา พาเสบย
เพราะได้เคย คิดไว้ ไม่อายใคร
ไม่ต้องกู้ เกี้ยวยืม เพราะลืมคิด
ผันชีวิต ผิดชีวา หมดอาศัย
จะพึ่งพิง เพ่งดู มองผู้ใด
มิต้องใย ยังทรัพย์ เก็บกับตัว
อีกสองส่วน เสริมหมุน ทำทุนส่ง
ก็จักคง เพิ่มพูน พ่อทูนหัว
ได้กำไร ในทรัพย์ นับเท่าตัว
ไม่ปวดหัว มัวหมอง เป็นของจริง
กะ. ข้อสาม งามขำ อย่าจำผิด
รู้จักคิด คบคน จนชายหญิง
พิจารณา หาความ ไปตามจริง
รู้จักสิ่ง จำแนก หรือแจกแจง
ว่าคนไหน ใครดี ที่ควรคบ
ก็ประจบ แจ้งจิต คิดแถลง
เข้านั่งใกล้ ได้ชิด คิดแสดง
คารมแฝง แกล้งเหมือน เป็นเพื่อนกัน
ได้เพื่อนดี มีเตือน ให้เพื่อนดี
ไม่เสียที มีเพื่อน มาเตือนสรรค์
ได้เพื่อนดี มีสุข ทุกคืนวัน
เหมือนสวรรค์ ชั้นฟ้า มาโปรดปราน
สะ. ข้อสี่ นี้หนา ว่าสุดท้าย
จงจำไว้ ให้ดี มีหลักฐาน
สะมะชีวิตา ว่าตำนาน
ให้ทุกท่าน ท่องจำ อย่าทำเมิน
รู้จักจ่าย ใช้ทรัพย์ ขยับขยาย
รู้จับจ่าย แจกปัน โลกสรรเสริญ
ไม่ฝืดเฟือง ฟุ่มฟาย อย่าจ่ายเพลิน
เดี๋ยวจะเดิน ตูดขาด ตลาดจน
เป็นเศรษฐี มีมาก อยากขลุกขลิก
กินน้ำพริก ขาดแกง แจ้งสับสน
เพราะขี้เหนียว เขี้ยวยาว กินข้าวปน
แล้วนอนทน ตดดัง ฟังเป็นเพลง
จ่ายให้ดี มีจ่าย อย่าจ่ายมาก
อย่าลำบาก ปากกิน สิ้นโฉงเฉง
ใช้พอดี มีหลัก ใช่นักเลง
ทำตนเอง อดอยาก ลำบากครัน
ทั้งสี่ข้อ พอดี ที่กล่าวขาน
ตามตำนาน ขานคำ ที่ขำขัน
อุตส่าห์เพียร เพียรคำ ให้จำกัน
เพื่อสุขสันต์ เป็นเศรษฐี มั่งมีเอย.
...หยาดกวี...
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒
...............
กราบขอบพระคุณคาถาดี อ.หยาดกวี ที่เมตตา เซียงครูหนูขออนุญาตนำมาฝากครู