แนวการจัดกิจกรรมการเรียนดนตรีและนาฏศิลป์
ในการจัดกิจกรรมการเรียนดนตรีและนาฏศิลป์ ครูต้องทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าดนตรีนาฏศิลป์ เป็นสิ่งน่าสนุกสนาน น่ารื่นรมย์ น่าพอใจและประสบการณ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เขาปรารถนา ชั่วโมงดนตรีและนาฏศิลป์ ควรเป็นชั่วโมงที่เด็กมีความสุข ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เขาพอใจประสบการณ์ที่เด็กได้รับควรเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ (ที่มา อรวรรณ บรรจงศิลป์ และอาภรณ์ มนตรีศาสตร์, 2527)
ดังนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือ จิตวิทยาในการสอนและพัฒนาการของเด็ก ผู้สอนควรจะเรียนรู้ถึงธรรมชาติของผู้เรียนในกลุ่มของตนเองอย่างถ่องแท้ และ พยายามปรับวิธีสอนให้เหมาะสมกับความพร้อมและความ สนใจของผู้เรียน การจัดการเรียนสอนดนตรีและนาฏศิลป์ให้ประสบผลสำเร็จ ครูจะต้องรู้วิธีสอนซึ่งเป็นหลักที่ควรปฏิบัติดังนี้
1. ให้นักเรียนลองปฏิบัติก่อน แล้วให้ช่วยกันสรุปเป็นหลักการ โดยครูอาจใช้วิธีการแนะนำหรือสาธิตให้นักเรียนปฏิบัติ แล้วให้นักเรียนได้ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลในการสรุปเป็นหลักการ ครูมีหน้าที่ช่วยป้อนคำถาม หรือชี้แนะแนวทางเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง
2. สอนให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ครูต้องให้โอกาสนักเรียนในการคิดหรือแสดงออกใน กิจกรรมดนตรีและนาฏศิลป์บ่อยๆ เช่น การให้คิดท่าทางประกอบเพลงประเภทต่างๆ เปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมกันทำจังหวะประกอบเพลง ด้วยเครื่องประกอบจังหวะที่นักเรียนคิดหรือเลือกหามาเอง ตามที่คิดว่าเหมาะสม เปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งเนื้อร้องเอง เป็นต้น
3. จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผสมผสานกัน ในการสอนแต่ละครั้งครูไม่ควรมุ่งเน้นเนื้อหาหรือประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น กิจกรรมเน้นการฟัง การร้องเพลง กิจกรรมเน้นจังหวะและกิจกรรมนาฏศิลป์ ควรผสมกลมกลืนกันไปเพราะกิจกรรมต่างๆไม่สามารถแยกกันได้โดยเด็ดขาด เด็กจะร้องเพลงได้จะต้องผ่านการฟังมาก่อน ต้องรู้จังหวะของเพลง และถ้าจะรำหรือแสดงท่าประกอบเพลงได้ เด็กจะต้องร้องเพลงได้ก่อน มิฉะนั้นก็ไม่สามารถกำหนดท่าทางได้ถูกต้อง
4. สอนให้เชื่อมโยงกับสาระอื่น ครูสามารถใช้กิจกรรมดนตรีและนาฏศิลป์ เป็นแกนในการเชื่อมโยงวิชาอื่นๆหรือบูรณาการการเรียนการสอนได้ เช่น ครูสอนเพลงนก เมื่อนักเรียนร้องเพลงนกได้ รู้จังหวะและทำท่าบินแบบนกได้ ครูอาจเชื่อมโยงไปถึงความรู้เรื่องนกชนิดต่างๆ โยงไปถึงสัตว์ต่างๆที่มีปีก ไม่มีปีก
5. การสอนโดยเน้นคุณลักษณะนิสัย จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนดนตรีนาฏศิลป์ ในระดับประถมศึกษา มิได้มุ่งหมายเพียงให้ผู้เรียนมีความรู้มีทักษะ และเจตคติที่ดีต่อกิจกรรมดนตรีนาฏศิลป์เท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มุ่งเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ นักเรียนจะพัฒนาลักษณะนิสัยได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนการสอนของครูและความเอาใจใส่ของครู ครูจำเป็นต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ไปพร้อมๆกันกับการให้ความรู้ ทักษะและเจตคติด้วย ลักษณะนิสัยของนักเรียนที่ครูต้องเอาใจใส่ เช่น มารยาทในการฟังและชมการแสดง สมาธิในการฟังหรือชม ความอดทน การทำงานร่วมกับคนอื่น การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่
คงเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพของผู้เรียน นะครับ
****************************************************************
อ้างอิงที่มา
อรวรรณ บรรจงศิลป์ และ อาภรณ์ มนตรีศาสตร์. (2527). หลักการสอนดนตรีนาฏศิลป์. เอกสาร การสอนชุดวิชา การสอนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย เล่มที่ 2 หน่วยที่ 8 สาขาศึกษาศาสตร์. กรุงเทพ ฯ : มหาวิทนาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช.