ก่อนเกิดเหตุ จำเลยกับผู้เสียหายมีปากเสียงกัน เกี่ยวกับเรื่องที่ผู้เสียหายมาต่อว่ากรณีสั่งเปลี่ยนงาน จากนั้นจำเลยกับผู้เสียหายก็ตกลงชกต่อยกัน การสมัครใจชกต่อยกันดังกล่าว จึงมาจากทั้งสองฝ่ายมีสาเหตุโกรธเคืองกัน และตกลงใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายต่อกัน อันเป็นการขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยไม่อาจอ้างว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยทำร้ายร่างกายแก้ตัวเพื่อให้พ้นผิดได้
เมื่อพยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีปากเสียงกัน จากนั้นได้สมัครใจทำร้ายร่างกายกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นบันดาลโทสะฏีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า...จำเลยเป็นหัวหน้างาน ได้มีคำสั่งเปลี่ยนงานให้ผู้เสียหายไปขับรถขนขยะ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความไม่พอใจ จึงได้ไปต่อว่าแล้วเกิดโต้เถียงกัน และได้ท้ากันชกต่อยตัวต่อตัว จำเลยกับผู้เสียหาย ได้ชกต่อยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บกระดูกสันจมูกหัก ได้รับอันตรายสาหัส ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ๑ ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ เดือน
จำเลยฎีกา โดยต่อสู้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้ทำร้ายร่างกายเอง และกระทำไปเพราะบันดาลโทสะข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้นดังกล่าวข้างต้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๒๙/๒๕๕๑)
ข้อสังเกตุ ความยินยอมในความผิดอาญาบางประเภท หากผู้เสียหายยินยอมให้กระทำโดยบริสุทธิ์ใจ การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิด เช่น ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ.มาตรา ๒๗๖ บัญญัติว่า “ ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลัง ประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ...” (กฏหมายเก่า ขณะนี้มาตรานี้ได้แก้ไขแล้ว) จะเห็นว่าความผิดฐานนี้ถ้าหญิงยินยอมโดยสมัครใจแล้วการกระทำของชายก็ไม่เป็นความผิด ฎีกาที่ ๖๓๘ / ๒๕๑๖ ตัดสินว่า “หญิงยอมให้ ล.ชำเรา แล้วให้ ย.ชำเราอีกเพื่อปิดปากไม่ให้อื้อฉาว ล. และ ย. ไม่มีความผิด ( ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ,ประมวลกฎหมาอาญา,๒๕๔๖ : ๓๔๕ ) โดยถือว่าเป็นการขาดองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา ๒๗๖ ไปเลย ความผิดฐานกระทำอนาจาร ตามมาตรา ๒๗๘ ก็มีหลักอย่างเดียวกัน
ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางมาตรา หากผู้เสียหายยินยอมให้กระทำโดยบริสุทธิ์ใจไม่มีการข่มขู่หรือหลอกลวงการกระทำก็ไม่เป็นความผิด เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ.มาตรา ๓๓๔ บัญญัติว่า
“ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์...”
จากองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ คำว่า “ เอาไป ”ป็นองค์ประกอบภายนอก หมายความว่า พาทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากการครอบครองของผู้อื่น จึงต้องมีการกระทำเป็นสองประการคือ แย่งการครอบครองประการหนึ่งและพาเคลื่อนที่ไปอีกประการหนึ่ง การเอาทรัพย์ไปโดยผู้ครอบครองอนุญาตไม่เป็นการแย่งการครอบครอง ( จิตติ ติงศภัทิย์,กฎหมายอาญา ภาค ๒ ตอน ๒ และภาค ๓ : ๒๔๙๕)
ฎีกาที่ ๒๕๘๖ / ๒๕๒๕
ผู้เสียหายตกลงขายนาพิพาทให้จำเลยแล้วต่อมาได้บอกเลิกการขาย โดยยินยอมให้จำเลยเกี่ยวข้าวในนา และวิดน้ำจับเอาปลาในบ่อไปได้ การที่จำเลยจับปลาในบ่อที่พิพาทของผู้เสียหายไปจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ( เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, ๒๕๔๔: ๓๖๘ )
แต่หากผู้เอาไปก็รู้อยู่แล้วว่าผู้ที่ยินยอมให้เอาไปไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่ใช่ผู้ครอบครองและไม่มีอำนาจให้คำอนุญาตหรือยินยอมได้ ผู้เอาไปก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ได้เช่นกัน ( ฎีกาที่ ๓๖๔๒ / ๒๕๔๐ )
นอกจากนี้ยังมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์อีกหลายฐานที่ผู้เสียหายให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำผิดแล้วไม่มีความผิด เช่น ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ( พ.ต.ท.โอภาส คะรุรัมย์ : บทความทางวิชา เรื่อง ความยินยอม )