ชีวิตของคนเรา คงไม่มีใครมีความสมบูรณ์ไปเสียทุกอย่าง ทำแต่ความดีอย่างเดียว ไม่เคยทำความชั่วเลย คงจะมีอยู่ แต่หายากเต็มที แต่ละคนล้วนแต่มีความบกพร่อง ความผิดพลาด และเคยทำสิ่งที่ไม่ดีมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าผู้ใดจะมีมาก หรือน้อยเท่านั้น
เมื่อเราทราบว่า สิ่งใดทำไปแล้ว ทำให้เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะไม่เกิดประโยชน์ตนละประโยชน์ท่าน เจ้าของชีวิตไม่ควรจะนิ่งนอนใจ ควรรีบหาทางแก้ไข หารั้งรอช้าไม่ มีแต่จะนำความหายนะมาสู่ตัวเจ้าของชีวิต แล ผู้ใกล้ชิดด้วยประการทั้งปวง
การแก้ไข มีหลายวิธี เราจะทำอย่างไร จึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาชีวิต ถูกจุด และทันท่วงที และเป็นการแก้ไขที่ถาวร และยั้งยืน
การแก้ไขมีทั้งระยะสั้น ระยะยาว มีเฉพาะหน้า ใช้เวลา มีขั้น มีตอน มีก่อน มีหลัง มีทั้งก่อนปัญหาเกิด และภายหลังปัญหาเกิด มีทั้งแบบถาวร และเป็นครั้งคราว
ท่านเหลียวฝาน ได้สอนลูกเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขความผิดพลาดไว้ว่า...
การแก้ไขเมื่อเกิดความผิดขึ้นแล้ว และแก้ไขเมื่อยังมิได้กระทำความผิด
การแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือการแก้ไขที่ใจนั่นเอง
โบราณท่านว่าไว้ว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ก็ล้วนเกิดที่ใจทั้งสิ้น ถ้าเราห้ามใจมิให้เกิดกิเลสตัณหาได้ ความผิดใด ๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดุจดั่งดวงตะวันสาดแสงส่องมาคราใด ความมืดก็หมดไป
การแก้ที่ใจ จึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องได้อย่างแท้จริง เพียงเกิดความรู้สึกว่าจะทำผิด ก็รู้สึกตัวเสียก่อนแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ ความผิดจึงเกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือการยับยั้งชั่งใจที่ต้องอบรมบ่มเพาะ ให้สติประคองใจเราไว้ตลอดเวลา...
ผู้ที่มุ่งหวังความเจริญ จึงควรพิจารณาและหาวิธีการแก้ไขความผิด คราใดเมื่อเกิดความผิดขึ้นมา คำสั่งสอนของนักปราชฌ์ก็เปรียบประดุจน้ำทิพย์ที่จะช่วยเยียวยาให้เราเมื่อยามอ่อนแรงครานั้น เราจะได้ไม่อยู่ในสภาพทั้งทุกข์และเจ็บใจ