สวัสดีครับคุณผู้ชมทุกท่าน หลังจากที่ว่างเว้นจากการเขียนนานไปเกือบเดือน เนื่องจากภาระหน้าที่งานประจำ วันนี้พอมีเวลาว่างก็เลยหยิบปากกามาเขียนสุภาษิตที่คนเฒ่าคนแก่เคยสอนเราตั้งแต่เด็กๆ มาฝากทุกท่านกันดีกว่า
ในอดีตประชาชนชาวเขมรส่วนใหญ่ มีอาชีพทำนา วัวและควายเป็นสัตว์จำเป็นที่ต้องใช้ในการทำนา โดยคนส่วนใหญ่จะใช้ควายในการไถนา ในการเทียมคันไถ ( อังเกือล) คนเขมรจะใช้วัวหรือควายครั้งละ 2 ตัว จะไม่ใช้วัวหรือควายตัวเดียว เพราะถือเป็นการทรมานสัตว์ นอกจากนั้นชาวเขมรยังใช้วัวในการเทียมเกวียน ซึ่งเป็นพาหนะในการเดินทาง บรรทุกคนและบรรทุกของมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันความนิยมในการใช้ควายเทียมเกวียนทำนาเริ่มลดลงอย่างมาก เนื่องจากถูกรถไถนา (ร๊ด ประ จูรฺร ) เข้ามาทำหน้าที่แทน ควายซึ่งอยู่คู่กับชาวนามาช้านานจึงถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงลิบลิ่วอย่างนี้ ควายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวนา ขะแมร์ (เซราะกราว) มีความผูกพันกับควายมาตลอด วันนี้จึงขอนำสุภาษิต ภาษาเขมร ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ วัว และ ควาย มาฝากทุกท่านครับ
กูว์ มูย กรอล ดอล แต คเนีย แอง
วัวคอกเดียวกัน ทะเลาะกันเอง
คำอธิบาย คนเขมรเลี้ยงวัว โดยทำกรอล(คอก , stall ) ให้อยู่รวมกัน ซึ่งมีข้อดีคือประหยัดไม้ที่ใช้ทำคอกและประหยัดแรงงาน โดยไม่ต้องทำหลายคอก แต่ก็มีข้อเสีย คือ เมื่อวัวหลายตัวอยู่ในคอกเดียวกัน ย่อมเกิดกระทบกระทั่งกันบ้าง คน จึงนำพฤติกรรมดังกล่าว มาผูกเป็นสุภาษิต หมายถึง คนที่อยู่ด้วยกัน อยู่รวมกันแต่ไม่รักหรือสามัคคีกัน ทะเลาะกันเอง คล้ายกับสำนวนที่ว่า กินข้าวหม้อเดียวกันแล้วยังกัดกันอีก
กูว์ กีย์ มิน อู๊ด อู๊ด แต กูว์ แอง
วัวเขาไม่อวด อวดแต่วัวตัวเอง
อธิบาย คนเขมรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จะเลี้ยงวัวหรือควาย ไว้ช่วยทำการเกษตร ชีวิตความเป็นอยู่จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัว ควาย แม้แต่การคุยกับเพื่อนบ้านก็มักคุยเรืองเกี่ยวกับวัวควายของตน ภาษิตนี้หมายถึง คนมักจะเห็นว่า สิ่งของของตนดีกว่าของคนอื่นเสมอ
เดิกก์ กูว์ มีย์ บาน ซี กูว์ ชะโมล
จูงวัวตัวเมียไป สบายวัวตัวผู้
อธิบาย การเลี้ยงวัว เมื่อต้องการให้วัวผสมพันธ์ คนเลี้ยงก็จะจูงวัวตัวเมีย (กูว์ มีย์ ) ไปผสมพันธ์กับวัวตัวผู้ ( กูว์ ชะโมล ) เพื่อที่จะได้มีลูกวัวไว้ใช้งานแทนพ่อแม่วัวต่อไป การจูงวัวตัวเมียไปหาวัวตัวผู้ เท่ากับช่วยให้วัวได้มีคู่ เราเป็นคนจูงวัวตัวเมียไป (เราลำบาก) แต่วัวตัวผู้สบายเพราะได้ผสมพันธ์ เป็นการพูดเชิงน้อยใจนิดๆ ภาษิตนี้หมายถึง แม่สื่อทำหน้าที่ติดต่อหาคู่ครองให้บ่าวสาว
มะนึฮฺ คะเลียน จัน นีย์ กระไบย์ เคลียน สะเมา
คนเห็นแก่อาหาร ควายเห็นแก่หญ้า
อธิบาย หญ้าเป็นอาหารที่วัวควายชอบมาก ดังนั้น เมื่อควายพบหญ้าที่ใด จะหยุดทำงานและกินหญ้าทันที เช่นเดียวกับคนเห็นแก่กิน ก็มักคิดและกังวลอยู่แต่เรื่องกิน เปรียบเทียบกับคนโกงบ้านโกงเมือง ที่กินได้ทุกอย่างเพราะความโลภ ภาษิตนี้หมายถึง คนที่โลภต้องการแต่จะกินอย่างเดียว
กระไบย์ จ๊ะฮฺ ตโรว นะ นึง สะเมา กะ เจยยฺ
ควายแก่ เหมาะมากกับหญ้าอ่อน
อธิบาย อาหารของควาย หญ้า( สะเมา , grass)และฟาง (จะเมิง , straw) ถ้าหากเราให้ควายเลือกกิน ควายมันจะชอบกินหญ้ามากกว่าฟาง ซึ่งเป็นซังของต้นข้าว เพราะหญ้าอ่อนกว่า สดกว่า เมื่อควายเห็นหญ้าอ่อนย่อมอดที่จะกินไม่ได้ ภาษิตนี้จึงเปรียบผู้ชายกับควาย เปรียบผู้หญิงที่มีอายุน้อยหรือสาวรุ่นกับหญ้าอ่อน ภาษิตนี้หมายถึงผู้ชายที่มีอายุมาก มักชอบผู้หญิงที่มีอายุน้อย
เคิง กูว์ โตว ไวยฺ ระ เตี๊ยะ
โกรธวัวไปตีเกวียน
อธิบาย วัวและเกวียน (ระเตี๊ยะ , cart ) เป็นสิ่งที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน เพราะวัวมีหน้าที่ลากเกวียน ให้คนนั่ง บ้างครั้งคนโกรธวัว แต่ตีวัวไม่ถึงเพราะวัวอยู่ห่างจากคน คนจึงเอาไม้ตีเกวียนซึ่งอยู่ใกล้คนมากกว่า เพื่อให้วัวรู้ว่าคนไม่พอใจการกระทำของวัว เป็นต้นว่า วัวหยุดกินหญ้าขณะที่กำลังลากเกวียน ภาษิตนี้หมายถึง โกรธสิ่งหนึ่ง แต่ทำกับสิ่งนั้นหรือลงโทษสิ่งนั้นไม่ได้ จึงทำกับสิ่งอื่นหรือลงโทษ สิ่งอื่นแทน
ที่มา อุบล เทศทอง :KHMER PROVERBS:WAY OF LIFE AND WORLDVIEWS OF KHEMER PEOPLE :
SILPAKORN
UNIVERSITY
|