หมากรุก เป็นเกมกระดานชนิดหนึ่ง มีลักษณะจำลองจากการสงคราม ใช้เล่นระหว่างผู้เล่น 2 คน แต่ละฝ่ายต้องพยายามรุกจนขุนของอีกฝ่ายให้ได้ โดยกติกาและตัวหมากอื่นๆ จะแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของหมากรุก
ประวัติหมากรุก
การเล่นหมากรุกปรากฏในประเทศอินเดียมาหลายพันปี ชาวอินเดียอ้างว่าหมากรุกเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระรามไปล้อมเมืองลงกา นางมณโฑเห็นทศกัณฐ์เป็นกังวลกับการสงคราม จึงได้นำกระบวนสงครามตั้งทำเป็นหมากรุกขึ้นให้ทศกัณฐ์เล่นแก้รำคาญ ชาวอินเดียเรียกหมากรุกว่า "จัตุรงค์" เพราะเหตุที่นำกระบวรพล ๔ เหล่าทำเป็นตัวหมากรุก คือ พลช้าง 1 พลม้า 1 พลเรือ 1 พลราบ (เบี้ย) 1 มีพระราชา (ขุน) เป็นจอมทัพ ตั้งเล่นบนแผ่นกระดานจัดขึ้นเป็นตาราง 64 ช่อง วิธีเล่นหมากรุกเดิมที่เรียกว่าจัตุรงค์นั้น ไม่เหมือนอย่างที่เล่นกันในปัจจุบัน มีอธิบายอยู่ในหนังสือมหาภารตะว่า เป็นตัวหมากรุก 4 ชุด แต้มสีต่างกัน สีแดงชุดหนึ่ง สีเขียวชุดหนึ่ง สีเหลืองชุดหนึ่ง สีดำชุดหนึ่ง ในชุดหนึ่งนั้น ตัวหมากรุกมีขุน 1 ตัว ช้าง (โคน) 1 ตัว ม้า 1 ตัว เรือ 1 ตัว เบี้ย 4 ตัว รวมเป็นหมากรุก 8 ตัว สมมติว่าเป็นกองทัพของประเทศหนึ่ง ชุดทางขวามือสมมติว่าอยู่ประเทศทางตะวันออก พวกทางซ้ายมือว่าอยู่ประเทศตะวันตก ชุดข้างบนอยู่ประเทศทางทิศเหนือ ชุดข้างล่างอยู่ประเทศทิศใต้ คนเล่น 4 คนต่างถือหมากรุกคนละชุด แต่การเล่นนั้น พวกที่อยู่ทแยงมุมกัน เป็นสัมพันธมิตรช่วยกันรบกับอีกฝ่ายหนึ่ง ลักษณะเดินตัวหมากรุกอย่างจัตุรงค์นั้น ขุน ม้า เบี้ย เดินอย่างกับหมากรุกที่เราเล่นกัน แต่ช้างเดินอย่างเราเดินเรือกันทุกวันนี้ ส่วนเรือนั้นเดินทแยง (อย่างเม็ด) แต่ให้ข้ามตาใกล้เสีย 1 ตา แต่การที่จะเดินต้องใช้ทอดลูกบาต ลูกบาตนั้นทำเป็นสี่เหลี่ยมแท่งยาวๆ มี 4 ด้าน 2 แต้มด้านหนึ่ง 3 แต้มด้านหนึ่ง 4 แต้มด้านหนึ่ง 5 แต้มด้านหนึ่ง คนเล่นจะทอดลูกบาตเวียนกันไป ถ้าทอดได้แต้ม 5 บังคับเดินขุนหรือเบี้ย ถ้าทอดได้แต้ม 4 ต้องเดินช้าง ถ้าทอดได้แต้ม 3 ต้องเดินม้า ถ้าทอดได้แต้ม 2 ต้องเดินเรือ ต่อมา ราว พ.ศ.200 มีมหาอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ สัสสะ ได้นำการเล่นจตุรงค์มาคิดดัดแปลงให้เล่นได้ 2 คน และเลิกวิธีทอดลูกบาต ให้เดินแต้มโดยใช้ปัญญาความคิดเอาชนะกัน เช่นเดียวกับอุบายการสงคราม
กระบวนหมากรุก ที่ว่า มหาอำมาตย์สัสสะ คิดถวายใหม่นั้น คือรวมตัวหมากรุกซึ่งเดิมเป็น 4 พวกนั้นให้เป็นแต่ 2 พวก ตั้งเรียงฝ่ายละฟากกระดาน (เช่นเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกันทุกวันนี้) เมื่อจัดเป็นกระบวนเป็น 2 ฝ่าย จะมีพระราชาฝ่ายละ 2 องค์ไม่ได้ จึงลดขุนเสีย 1 ตัว คิดเป็นตัวมนตรี (เม็ด) ขึ้นมาแทน หมากรุกอย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้ไขนี้ ต่อมาแพร่หลายไปถึงนานาประเทศ ชาวประเทศอื่นจึงได้คิดดัดแปลงแก้ไขตามนิยมกันในประเทศนั้นอีกชั้นหนึ่ง หมากรุกที่เล่นในนานาประเทศทุกวันนี้จึงผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่เค้ามูลยังเป็นแบบเดียวกัน เพราะต้นแบบแผนได้มาจากอินเดียเช่นเดียวกัน
หมากรุกรุ่นแรกของโลก
มีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ว่าหมากรุกรุ่นแรกของโลกเป็นเกม 4 กองทัพระหว่าง 4 ผู้เล่น ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีตัวหมาก 4 ชุด แม้จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้ชื่อของหมากรุกรุ่นแรก คือ Chatrang (เป็นสันสกฤตตรงกับคำว่า "จตุรงค์") โดยคำว่า จตุร แปลว่า สี่ และ รงค์ แปลว่าสี หรือ ฝ่าย
จาตุรงค์ หรือ Chatrang เป็นหมากรุกรุ่นแรกของโลก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 สี 4 ฝ่าย เล่นโดยใช้ลูกเต๋า เป็นตัวกำหนดหมากที่จะเดิน
ชื่อ Chatrang เท่าที่พบก็มีวรรณกรรมสมัยราชวงศ์ Sasanid(242-651) แห่งเปอร์เซีย เขียนขึ้นด้วยภาษาปาลาวีชื่อ Chatrang namakwor(A Manual of Chess) มาถึงเปอร์เซียยุคใหม่ก็ใช้ชื่อซึ่งแทบจะไม่แตกต่างคือ Shatranj คำนี้มีการวิเคราะห์ถกเถียงกันด้วยความเห็นที่แตกต่าง บ้างก็ว่าน่าจะมาจากความเชื่อในยุคอินเดียโบราณในเรื่องธาตุทั้ง 4 คือ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ แต่บ้างก็ว่าอาจจะมาจากฤดูทั้ง 4 และก็ยังมีการกล่าวถึงทฤษฎีอารมณ์ทั้ง 4 คือ รัก, โลภ, โกรธ, หลง แต่ก็ล้วนใช้เลข 4 เป็นกุญแจหลักทั้งสิ้น
คำว่า Chess (หมากรุก) มาจากคำว่า Shah(King)ในภาษาเปอร์เซีย และ Checkmate(รุกจน) ก็มาจากคำว่า Shah mat (King died)
ตัวหมากทั้งหมดที่ยังมีใช้อยู่ในหมากรุกหลากหลายชนิดของโลกจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
เป็นที่น่าสังเกตุว่าไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวหมาก หรือวิธีการเดินหมากแทบจะไม่แตกต่างจากยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะหมากรุกไทย (ส่วน Elephant เดินเหมือน เฉีย หรือช้างของหมากรุกจีน)
- King (ขุน)
- Queen (เม็ด)
- Bishop (ช้าง)
- Knight (ม้า)
- Rook (เรือ)
- Pawn (เบี้ย)
หมากรุกไทย
หมากรุกไทย เป็นเกมกระดานที่พัฒนามาจากหมากรุกของอินเดียที่ชื่อเกมว่า จตุรงค์ ลักษณะการเล่นเกมใกล้เคียงกับหมากรุกฝรั่ง นอกจากนี้ในประเทศกัมพูชามีเกมหมากรุก ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหมากรุกไทยนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย
ตารางหมากรุกไทยตอนเริ่มเล่น
หมากรุกไทย มีประวัติเริ่มในอินเดีย โดยมาจากตำนานของรามเกียรติ์ ตามตำนานกล่าวว่า ฝ่ายทศกัณฐ์นั้น เมื่อมีศึกเข้าประชิด นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ เห็นทศกัณฐ์เครียดกับการศึกจึงคิดหาเกมให้สวามีได้ผ่อนคลาย โดยคิดเป็นเกมหมากรุกขึ้น โดยแต่เดิมใช้คนเล่น 4 คน เรียกว่า จตุรงค์ แต่ในภายหลังได้รับการปรับปรุงจนสามารถใช้ผู้เล่นเพียง 2 คนได้
ตัวหมากรุก
ขุน เป็นตัวหมากรุกที่สำคัญที่สุด มีการเดินและกินไปในทิศทางรอบตัวได้ แต่ไม่สามารถเดินเข้าไปในตากินของฝ่ายตรงข้ามได้ เม็ด มีการเดินและกินไปในแนวทแยงทั้ง 4 ด้าน โคน มีการเดินและกินไปในแนวทแยงทั้ง 4 ด้านและเดินไปทางข้างหน้า ม้า มีการเดินและกินเป็นรูปตัว L ในทิศทางรอบตัว สามารถข้ามหมากตัวอื่นได้ เรือ มีการเดินและกินไปในแนวตั้ง-แนวนอน ระยะยาว ไม่สามารถเดินข้ามตัวอื่นๆได้ เบี้ย มีการเดินไปทางข้างหน้าและกินในแนวทแยงด้านหน้า เมื่อเบี้ยไปถึงแนววางเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นเบี้ยหงาย และมีการเดินและกินเช่นเดียวกับเม็ดทุกประการ
กติกาการเล่น
- ผู้เล่นแต่ละคนผลัดกันเดินหมากของฝ่ายตนเองครั้งละ 1 ตัว
- ถ้าเดินหมากของฝ่ายตัวเองไปในตำแหน่งที่หมากของฝ่ายตรงข้ามตั้งอยู่ หมากของฝ่ายตรงข้ามจะถูกกินและนำออกนอกกระดาน ยกเว้นขุนจะถูกกินไม่ได้
- ถ้าเดินหมากไปในตำแหน่งที่ตาต่อไปสามารถกินขุนของฝ่ายตรงข้ามได้ จะเรียกว่ารุก โดยตาต่อไป
- ฝ่ายตรงข้ามต้องป้องกันหรือเดินหนีไม่ให้ขุนอยุ่ในตำแหน่งที่จะถูกกิน
- ถ้าขุนถุกรุกอยู่และไม่สามารถเดินหนีหรือป้องกันการรุกได้ จะถือว่ารุกจนและเป็นฝ่ายแพ้
- ถ้าขุนไม่ถูกรุก แต่ในตาต่อไปไม่สามารถเดินหมากตัวใดๆได้เลย จะเรียกว่าอับ และจะเสมอกัน
การนับศักดิ์
การนับศักดิ์กระดาน
การนับโดยวิธีนี้ไม่ว่าจะมีตัวหมากอยู่บนกระดานกี่ตัวก็ตามให้เริ่มนับตั้งแต่ 1 เป็นต้นไปโดยฝ่ายเป็นรองเป็นผู้นับฝ่ายเดียว เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่มีเบี้ยคว่ำโดยฝ่ายเป็นรองหลือหมากตั้งแต่สองตัวขึ้นไปให้เริ่มนับศักดิ์กระดานตั้งแต่ 1 ถึง 64 โดยฝ่ายเป็นต่อจะต้องรุกให้จนใน 64 ตามิเช่นนั้นให้เสมอกัน ถ้าระหว่างนับศักดิ์กระดานฝ่ายเป็นรองถูกกินหมากตัวอื่นจนเหลือขุนเพียงตัวเดียวให้เปลี่ยนมานับศักดิ์หมาก เมื่อเริ่มนับศักดิ์กระดานแล้วฝ่ายเป็นต่อกลับกลายเป็นรองก็มีสิทธ์นับศักดิ์กระดานเพื่อหาเสมอได้
การนับศักดิ์หมาก
การนับโดยวิธีนี้ให้นับตัวหมากของทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนกระดานได้จำนวนเท่าใดก็ให้เริ่มนับศักดิ์หมากต่อไป เช่นมีตัวหมากอยู่บนกระดาน 7 ตัวก็ให้เริ่มนับ 8 โดยฝ่ายเป็นรองเป็นผู้นับฝ่ายเดียว เมื่อฝ่ายเป็นต่อมีหมากดังนี้
- เรือลำเดียวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 16 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- เรือสองลำต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 8 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- ม้าตัวเดียวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 64 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- ม้าสองตัวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 32 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- โคนตัวเดียวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 44 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- โคนสองตัวต้องรุกให้ฝ่ายเป็นรองจนภายใน 22 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- สำหรับเม็ดและเบี้ยหงายนับ 64 ตาเดิน ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าเสมอกัน
- เมื่อได้เริ่มนับศักดิ์หมากแล้วถ้าฝ่ายเป็นรองกินหมากตัวใดตัวหนึ่งของฝ่ายเป็นต่อก็มิให้เปลี่ยนแปลงการนับเป็นอย่างอื่น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- วิกิพีเดีย
- เว็บไซต์ ChessSiam