Advertisement
เปิดตำนาน baber pole ไฟหมุนร้านเสริมสวย
"...เครื่องมือคม...อารมณ์เย็น...เป็นสมบัติ.....
....กันเล็มตัด.....ปราณีตดี.....มีสุขสันต์.....
...ความสะอาด...อากาศเย็น...เป็นสำคัญ....
...มิตรใฝ่ฝัน...ทันสมัย....ถูกใจ..เอย......."
[กัน-ละ-บก] (สก. กลฺปก; มค. กปฺปก) น. ช่างตัดผม, ช่างโกนผม.
haircut นายกัลบก อาชีพนี้สงวนให้คนไทยเท่านั้น
นายกัลบก อาชีพที่สงวนให้คนไทยเท่านั้น ผลงานสุดประเสริฐของทั่นผู้ทรงเกียรติที่ไม่เรียกทั่นจะมีควันออกหู
pentax spotmatic sp , lens; smc takumar 55/1.8, films; lucky200 ตลาดคลองสวน
ใครที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง "แฟนฉัน" คงคุ้นตากับฉากร้านตัดผมสุดคลาสสิค ที่มีเก้าอี้หมุน ห้องแถวเก่าๆ ริมถนน เสียงกรรไกรและปัตตาเลียนดังสลับกันระหว่างร้านตัดผมสองร้าน เรียกได้ว่าคนที่โตมาในยุคการเต้นรำแบบบอลล์รูม จนมาถึงยุคเพลงของวงสาว สาว สาว เป็นต้นมา คงเคยเห็นภาพร้านตัดผมแบบนี้ทั่วไปแทบทุกมุมถนน
ในขณะที่หากถามวัยรุ่นในปัจจุบันนี้ว่า ไปตัดผมกันที่ไหน ส่วนใหญ่ก็คงไม่แคล้วต้องเป็นร้านตัดผมทันสมัย หากเป็นวัยรุ่นในเมืองกรุงก็ต้องเป็นย่านสยามแสควร์ ที่ออกแบบทรงผมได้เก๋ไก๋ในสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลี ส่วนสนนราคาค่าตัดก็ไม่ต่ำกว่า 300 บาทขึ้นไป
ร้านตัดผมในยุคเก่าจึงมีให้เราเห็นน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นความคลาสสิคไปเสียแล้วในยุคสมัยนี้
สัญลักษณ์นี้มีที่มา
หลายคนคงเคยเห็นสัญลักษณ์หน้าร้านทำผม-ตัดผม หรือร้านซาลอน ที่จะมีเจ้าแท่งหมุนๆ ลายริบบิ้นสีแดง ขาว หรือบางครั้งน้ำเงิน อยู่หน้าร้าน จนกลายเป็นเอกลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าของร้านตัดผมในปัจจุบัน สัญลักษณ์นี้มีที่มาจากต่างประเทศซึ่งเรียกว่า "Barber Pole"
"Barber Pole" ถือกำเนิดขึ้นในอดีตในยุคที่ช่างตัดผมนั้นเป็นทั้งหมอฟันและศัลยแพทย์ ซึ่งการผ่าตัดและถ่ายเลือดเป็นภาระหน้าที่อย่างหนึ่งของช่างตัดผม ช่างตัดผมที่เป็นทั้งศัลยแพทย์นี้ถูกก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 1096 ที่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังจากที่อาร์คบิชอปแห่ง Rouen สั่งห้ามการไว้หนวดเครา ต่อมาภายหลังเมื่อการแพทย์มีความชัดเจนในสาขาของตนยิ่งขึ้น จึงมีความพยายามที่จะแบ่งแยกศัลยแพทย์ที่ได้รับการศึกษามาโดยตรงออกจากศัลยแพทย์ที่เป็นช่างตัดผมเหล่านี้
เกลียวริบบิ้นสีขาวแดงสองเส้นที่พันรอบแท่งเสา "Barber Pole" นี้แทนความหมายถึง แถบผ้าพันแผลยาวสองเส้น เส้นหนึ่งถูกพันรอบแขนก่อนการถ่ายเลือด อีกเส้นหนึ่งถูกใช้พันภายหลังจากนั้น แรกเริ่มเดิมที "Barber Pole" จะถูกนำไปแขวนไว้ที่หน้าประตูเพื่อผึ่งให้แห้งและเป็นสัญลักษณ์ว่าร้านแห่งนี้กำลังมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการผ่าตัดถ่ายเลือด แต่ต่อมาเพื่อความสะดวกแทนที่จะแขวนแท่งเสาที่พันผ้าพันแผลแบบเดิม จึงเปลี่ยนมาเป็นทาสีเลียนแบบแทน และนำมาวางตั้งอย่างถาวรภายนอกร้าน ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็น "Barber Pole" แบบสมัยใหม่ แต่ในสหรัฐอเมริกาได้ทาสี "Barber Pole" เป็นสีแดง ขาวและน้ำเงิน ตามสีของธงชาติสหรัฐอเมริกา
มีการตีความหมายสีของ "Barber Pole" หลากหลายแตกต่างกันไป บ้างว่าสีแดงแทนเลือดและสีขาวแทนผ้าพันแผล บ้างว่าสีแดงและน้ำเงินแทนเส้นโลหิตแดงใหญ่และเลือดของวีนัส ส่วนสีขาวสำหรับผ้าพันแผล อีกทฤษฎีคาดว่า รูปแบบเกลียวนั้นก็แทนผ้าพันแผลที่ถูกพันรอบแขนที่เลือดไหลนั่นเอง ในปัจุบันร้านตัดผมทั่วไปได้นำสีทั้งสามมาผสมเป็นแท่งริ้วเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอาชีพนี้
ร้านตัดผมในเมืองไทย
ในประเทศไทยก็รับรูปแบบของร้านตัดผมจากต่างประเทศมาเช่นกัน แต่ก็ประยุกต์ให้เข้ากับบรรยากาศแบบไทยๆ และมีให้เลือกใช้บริการหลายระดับตามกำลังทรัพย์ มีตั้งแต่ร้านตัดผมริมถนนใต้ร่มไม้อย่าง "ต้นโพธิ์บาร์เบอร์" ที่จ.อุบลราชธานี หรือร้านตัดผมในตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีอย่างเช่นที่ตลาดคลองสวน แต่ในเมืองใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แทบจะหาบรรยากาศแบบนี้ดูได้ยากแล้ว หลายคนจึงมีโอกาสได้เห็นบรรยากาศร้านตัดผมยุคเก่าเฉพาะในพิพิธภัณฑ์อย่างเมืองโบราณหรือบ้านพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
หลวงวิจิตรวาทการเคยเล่าถึงบรรยากาศร้านตัดผมในพระนครเมื่อ 100 ปีก่อนว่า สมัยท่านเป็นเด็กจำได้ว่า แถบสะพานหันมีร้านตัดผมที่ตั้งอยู่ในห้องแถวร้านหนึ่ง ช่างตัดผมมีลูกสาวสวย ชอบนั่งอยู่ริมกระจกบานใหญ่ข้างหน้าต่างเสมอ ผู้ที่เข้าไปตัดผมซึ่งมักเป็นหนุ่มๆ ถ้าไม่มองกระจกเผลอไปมองลูกสาวแก แกมักเอาตะไกรเคาะหัวให้รู้สึกว่า "อย่ามองลูกสาวฉัน มองกระจกซี" ความจริงแกก็เอาลูกสาวมานั่งล่อให้คนเข้าตัดผมมากๆ นั่นเอง ซึ่งคนที่เข้าไปนั่งตัดมักจะเป็นนักเรียนนายร้อยหนุ่มๆ (จากหนังสือ "กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้" โดย กาญจนาคพันธุ์)
สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม อาชีพช่างตัดผมก็ยังเป็นหนึ่งในอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยอีกด้วย จึงนับได้ว่าร้านตัดผมในเมืองไทยนี้อยู่คู่กับเส้นผมของคนไทยมาช้านาน
"พงศ์เทพ" ร้านตัดผมไฮโซ-ดารายุคเก่า
เอ่ยชื่อห้องแต่งผม "พงศ์เทพ" บนถนนราชดำเนิน หนุ่มสาวทันสมัยในยุคกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500 ไม่มีใครไม่รู้จัก ด้วยร้านตัดผมแห่งนี้เป็นแหล่งชุมนุมคนดังหลากหลายวงการ ทั้งในแวดวงสังคมชั้นสูง นักการเมือง ไปจนถึงผู้สร้าง ผู้กำกับ และดาราภาพยนตร์
สมพร โฉมงาม ช่างตัดผมประจำร้านพงศ์เทพ วัย 69 ปี ซึ่งยึดอาชีพช่างตัดผมมานานนับ 40 ปี บอกเล่าว่าดาราดังๆ ที่มาตัดผมในยุคนั้น ได้แก่ ลือชัย นฤนารถ, ชนะ ศรีอุบล, ทักษิณ แจ่มผล, มานพ อัศวเทพ, ชุมพร เทพพิทักษ์ และมีดาราอีกหลายคนที่ได้แจ้งเกิดในวงการโดยมีจุดเริ่มต้นจากร้านนี้ เนื่องจากมีผู้สร้างภาพยนตร์มาชุมนุมกันที่ร้านนี้มากมาย หากจะเปรียบกับสมัยนี้ก็คงเป็นเหมือนสยามแสควร์ที่บรรดาวัยรุ่นไปชุมนุมกัน หวังให้มีแมวมองมาชักชวนเข้าสู่วงการบันเทิง
ช่างสมพรบอกว่า ยุคนั้นทรงผมยอดนิยมที่สุดก็คือ "ทรงลือชัย นฤนารถ" พระเอกที่มาดัดผมเลียนแบบสไตล์เจมส์ ดีน ซูเปอร์สตาร์ของฮอลลีวู้ด ส่งผลให้แฟนหนังของลือชัยมาดัดผมทรงนี้ตามจนเข้าแถวยาวออกไปจนถึงถนนหน้าร้าน ช่างสมพรยังเล่าเกร็ดขำๆ ว่าช่วงที่ผมทรงนี้ฮิตระเบิดไปทั่วพระนครนั้น ถึงกับมีกรณีชกต่อยกันระหว่างช่างตัดผมกับลูกค้า เพราะไม่พอใจที่ช่างดัดผมออกมาให้ไม่เหมือนลือชัย
ช่วงแรกนั้น สนนราคาค่าตัดก็อยู่เพียงแค่ 5 บาท ก่อนจะขึ้นเป็น 7 บาทในเวลาต่อมา ถ้าตัดสระก็ 8 บาท ส่วนเด็กคิดค่าตัด 2 บาท ในตอนนั้นร้านพงศ์เทพมีอยู่ 2 ร้าน คือร้านเก่าที่ถนนตะนาว และร้านที่ถนนราชดำเนินซึ่งติดเครื่องปรับอากาศ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ถาวรเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
แม้ในวันนี้ ร้านพงศ์เทพจะเปลี่ยนเจ้าของมาหลายมือแล้ว แต่ชื่อเสียงเดิมของนายพงศ์เทพ บุญสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งก็ยังคงอยู่ ทำให้ลูกค้ายังให้ความไว้วางใจมาใช้บริการไม่ขาดสาย
บัญญัติ สังขารักษ์ ช่างตัดผมที่มีประสบการณ์หลายสิบปีกล่าวว่า ในยุคต่อมาลูกค้าที่เป็นนักแสดงเริ่มไม่มีแล้ว แต่เป็นกลุ่มนักธุรกิจและคนในสังคมชั้นสูงทั้งหลายมารวมตัวกัน ในรุ่นหลังลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นนักการเมือง ส่วนนักแสดงก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก เช่น พระเอกลิเก ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ในยุคที่รุ่งเรืองสุดขีดก็เคยมาเป็นลูกค้าที่นี่
ลูกค้านักการเมืองที่มาใช้บริการร้านพงศ์เทพยุคนั้นก็มีหลายท่าน อาทิ สมัคร สุนทรเวช, สุธี สิงห์เสน่ห์, บัญญัติ บรรทัดฐาน, สุรินทร์ พิศสุวรรณ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, สัมพันธ์ ทองสมัคร, ไสว พัฒโน, สวัสดิ์ คำประกอบ, วิษณุ เครืองาม เป็นต้น โดยเฉพาะในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะมีนักการเมืองมาใช้บริการที่ร้านกันมาก
สมหมาย กองสุทธิผล เป็นช่างตัดผมมีฝีมืออีกคนที่มีนักการเมืองหลายคนไว้วางใจให้เป็นช่างประจำ กล่าวว่าปัจจุบันนี้ลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนมากมักจะเป็นลูกค้าประจำ นักการเมืองบางท่านก็ยังแวะเวียนมาใช้บริการบ้าง "ร้านพงศ์เทพมีนักการเมืองรู้จักกันมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ให้การยอมรับ เพราะร้านเรามีมาตรฐาน ไฮโซยุคก่อนเอ่ยชื่อร้านพงศ์เทพใครก็ต้องรู้จัก"
ด้วยความที่มีนักการเมืองมาใช้บริการมากนี่เอง ช่างตัดผมที่ร้านพงศ์เทพจึงรู้เบื้องหลังเบื้องลึกในแวดวงการเมืองไม่น้อยกว่าในรัฐสภาหรือทำเนียบ เนื่องจากต้องคอยรับฟังปัญหาที่ลูกค้าระบายให้ฟังอยู่เสมอ
ด้านลูกค้าขาจรต่างชาตินั้นก็มีมาบ้าง ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่ง ช่างบัญญัติเสริมว่า ที่ชาวต่างชาติเลือกมาใช้บริการไม่ใช่เพียงค่าตัดที่ถูกกว่า แต่หลายคนต่างยอมรับว่าช่างตัดผมไทยฝีมือประณีตดีกว่า โดยทางร้านจะคิดค่าบริการเท่ากันกับคนไทยคือ ราคาตัด 100 บาท ตัดสระ 200 บาท แต่สำหรับชาวต่างชาติจะคิดค่าโกนหนวดแยกต่างหาก ไม่คิดรวมอยู่ในค่าตัดผมเหมือนคนไทย เพราะเหตุที่ว่า ฝรั่งนั้นหนวดมักจะแข็งทำให้โกนยากกว่า
การโกนหนวดนั้นนับเป็นเอกลักษณ์ของร้านตัดผมยุคเก่า แต่ช่างสมหมายและบัญญัติบอกว่า ช่างตัดผมรุ่นใหม่ๆ นั้นใช้ใบมีดโกนกันไม่เป็นเสียแล้ว
"ถ้ารุ่นนี้ตายก็ไม่มีแล้ว ขึ้นห้างกันหมดแล้ว ต่อไปใครอยากไปตัดผมก็ต้องไปที่ห้าง" คือคำปรารภอย่างเศร้าสร้อยของช่างตัดผมที่มีฝีมือรุ่นเก่า
"สมโภชน์" ร้านตัดผมชื่อดัง
ร้านตัดผมชื่อดังเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งก็คือ ร้าน "สมโภชน์" ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกระทรวงมหาดไทย นับเป็นร้านตัดผมที่ก่อตั้งมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในพระนคร แสดงให้เห็นว่าลูกค้าต่างให้การยอมรับในฝีมือการตัดผมของร้านแห่งนี้
สุทิน พูนบัณฑิต สตรีสีผมดอกเลาผู้เป็นเจ้าของร้านสมโภชน์ กล่าวว่า ร้านแห่งนี้เปิดมานานถึง 45 ปีแล้ว โดยการก่อตั้งของคุณสมโภชน์ พูนบัณฑิต สามีผู้ล่วงลับของเธอ ซึ่งเป็นอดีตทหารเรือและได้ฝึกหัดตัดผมกับทหารที่ถูกเกณฑ์มา หลังจากสั่งสมฝีมือและประสบการณ์จนเข้าขั้นที่ร้านตัดผม "ประเสริฐ" บนถนนราชดำเนิน (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) ซึ่งมีลูกค้าระดับนายกรัฐมนตรีหลายสมัยตั้งแต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพลถนอม กิตติขจร ช่างสมโภชน์จึงได้แยกตัวมาลงทุนเปิดร้านตัดผมแห่งนี้เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการนั้นคือ ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง, ทหาร, ตำรวจ ไปจนถึงนักการเมืองผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านต่างติดใจในฝีมือการตัดผมของร้านสมโภชน์ บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร, พลเอกสุจินดา คราประยูร, บรรหาร ศิลปอาชา ก็เคยมาเป็นลูกค้าประจำของร้านอยู่ช่วงหนึ่ง
"ร้านนี้ตั้งแต่เปิดก็ติดเครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว และเราเป็นร้านแรกที่กั้นห้องตัดผมสำหรับลูกค้า เพราะเราเห็นว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่มาตัดผม เราก็ไม่อยากให้ท่านเห็นกัน มานั่งเรียงเป็นแถว คือมองแล้วไม่เรียบร้อย ประเจิดประเจ้อ"
นอกจากนี้ ร้านสมโภชน์ยังเคยได้รับเกียรติจากเจ้านายระดับเชื้อพระวงศ์หลายท่านทรงมาใช้บริการที่นี่ อาทิ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร) พระชนกในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, ม.ล.ทวีสันต์ ลัดดาวัลย์ ราชเลขาธิการ แต่ลูกค้าคนสุดท้ายที่ช่างสมโภชน์มีโอกาสให้บริการก็คือ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ ก่อนที่ท่านจะไม่สามารถหยิบจับกรรไกรได้อีกต่อไปด้วยโรคภัยที่รุมเร้า จนกระทั่งเสียชีวิตในวัย 72 ปี หลังจากประกอบอาชีพช่างตัดผมมาตลอดหลายสิบปี โดยมีคุณสุทินผู้เป็นภรรยารับช่วงดูแลกิจการต่อ
"ร้านเราก็ต้องอดทนเพราะตอนนี้เศรษฐกิจมันแย่ ที่ทำไปเพื่อทรงอยู่ไว้ เราเห็นเจ้าของร้านเป็นช่างตัดผมก็อยากให้ร้านมันคู่กับถนนนี้ตลอดไป" คุณสุทินกล่าว
ประเจียด บุญมาก ช่างตัดผมประจำร้านสมโภชน์กล่าวว่า ลูกค้าที่นี่ส่วนมาเป็นลูกค้าประจำ ต้องจองคิวล่วงหน้า แต่ละคนก็จะมีช่างประจำ จึงเป็นเหมือน "น้ำซึมบ่อทราย" ยังไงก็ยังมีรายได้เข้ามาและอยู่รอดได้ ส่วนลูกค้าเด็กๆ ก็มีบ้าง ประเภทว่าจะเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบแต่ไม่รู้จะไปตัดผมที่ไหน พ่อเคยตัดที่นี่ก็เลยพาลูกชายมาตัดด้วย จนกลายเป็นลูกค้ากันทั้งครอบครัว
"คุณพ่อมาคุณลูกก็ต้องมาด้วย ตัดให้ทั้งคุณพ่อคุณลูก บางทีปู่ย่าตายายยังตัดอยู่ที่นี่ ลูกค้าบางคนบอกว่า โห...ผมมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งเป็นหนุ่ม" คุณสุทินเสริมด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี
ช่างประเจียดบ่นเสียดายว่า ทำเลร้านมีอุปสรรคเรื่องที่จอดรถ เพราะรถจะติดเกือบตลอดทั้งวัน กว่าถนนจะโล่งก็หลัง 5 โมงเย็น แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่อาจลดความมุ่งมั่นของลูกค้าที่ต้องการมาตัดผมที่นี่ ด้วยติดใจในฝีมือของร้าน "สมโภชน์" ร้านตัดผมมีฝีมือเก่าแก่ของกรุงเทพฯ
"จำรัสบาร์เบอร์" มุมสงบบนถนนพระอาทิตย์
บนถนนพระอาทิตย์ที่นับวันจะเต็มไปด้วยผับบาร์ ยังคงมีมุมสงบเป็นที่คอยพักใจ หลีกหนีความวุ่นวายของคนกลุ่มหนึ่ง หากใครที่ผ่านไปมาแถวถนนพระอาทิตย์บ่อยๆ คงคุ้นตากับภาพชายกลุ่มหนึ่งนั่งเล่นหมากรุกบ้าง หมากฮอสบ้างอยู่หน้าร้านที่มีชื่อว่า "จำรัสบาร์เบอร์"
สวัสดิ์ รู้สมัย ผู้มีชื่ออยู่ในวงการช่างตัดผมละแวกบางลำพูมาร่วม 40 ปี คือผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของร้านตัดผมแห่งนี้ หลังย้ายจากที่เดิมบริเวณสะพานวันชาติมาเมื่อ 25 ปีก่อน เขาร่ำเรียนวิชาช่างตัดผมจากอาจารย์เชี่ยวชาญเกศา โรงเรียนสอนตัดผมวัดสระเกศ ร่วมรุ่นกับมนูญศักดิ์ บุญมาเลิศ
เขาเล่าให้ฟังว่าในสมัยนั้นหลังป้อมพระสุเมรุยังคงเป็นป่า มีรถเมล์สาย 53 วิ่งผ่านเพียงสายเดียว ส่วนร้านรวงบนถนนพระอาทิตย์ก็มีไม่กี่ร้าน มีแค่ร้านตัดผ้า ร้านโรตีมะตะบะ และร้านอาหารครัวนพรัตน์เท่านั้น แต่ด้วยความชอบใจในทำเลบริเวณนี้ ที่ยังไม่ค่อยมีร้านตัดผม จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดร้าน "จำรัสบาร์เบอร์" ซึ่งในปัจจุบันมีอีกสาขาหนึ่งที่บริเวณวัดมกุฎกษัตริย์
ช่างสวัสดิ์ บอกว่าทุกวันนี้ก็ยังคงมีลูกค้าประจำมาตัดผมที่ร้านสม่ำเสมอ สมัยก่อนอดีตนายกชวน หลีกภัย ก็เป็นลูกค้าประจำที่นี่ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเพียงรัฐมนตรี ในยุคหลังทางร้านจึงเริ่มติดแอร์ก็พออยู่มาได้เรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ด้วยราคาค่าตัดผม 70 บาท
ส่วนลูกค้าวันรุ่นนั้นก็พอมีเข้ามาบ้าง มาให้ตัดทรง "โด่ๆ เด่ๆ" อย่างที่ช่างสวัสดิ์เรียก แต่เขาบอกว่าลูกค้าหลักจริงๆ นั้นคือชาวต่างชาติ ที่ติดใจในบริการจนถึงขั้นเมื่อกลับไปต่างประเทศแล้ว เมื่อมาเมืองไทยก็ยังแวะมาตัดผมที่ร้านนี้จนมีช่างประจำ โดยไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารแต่อย่างใด เนื่องจากทางร้านจะมีแบบทรงผมให้เลือกเป็นเบอร์ตามความพอใจ จะมีบ้างก็พวกชาวอิสราเอลและเม็กซิโกที่ช่างสวัสดิ์บอกว่า "เกเร" ชอบมีปัญหา
"แต่ถ้าเป็นพวกฝรั่งเศส แคนาดา อเมริกา อังกฤษ เขาจะไม่ค่อยมีปัญหา ชาวต่างชาติส่วนมากตัดรองทรงก็มี สกินเฮดก็มี บางคนก็โกนเลย หรือบางคนนึกสนุกอยากนำแฟชั่นก็ตัดทรงมหาดไทย คนห่ามๆ หน่อยก็ชอบ"
ปัจจุบันนี้ ช่างสวัสดิ์บอกว่าลูกค้าเก่าๆ นั้น ติดทั้งช่างและร้าน แม้บางครั้งจะไม่ได้มาตัดผมก็ตาม แต่ก็มาชุมนุมกันเพื่อพูดคุยกันเองบ้าง คุยกับช่างบ้าง
"ถ้าเรามีมนุษยสัมพันธ์ดีกับเขา เขาก็อยากมาสนุกสนานเฮฮา เป็นขาประจำกันไป คนโน้นคนนี้มีอะไรก็เอามาแบ่งกันกิน ก็เป็นแบบกันเอง บางทีก็มานั่งเล่นหมากรุก สัพยอกการเมืองกันบ้าง ขัดคอกันบ้าง แต่ก็เป็นแบบเพื่อนฝูงกัน ไม่เคร่งเครียด" ซึ่งนั่นนับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ร้านตัดผมเล็กๆ บนถนนพระอาทิตย์แห่งนี้ แตกต่างจากร้านหรูบนห้าง
เมื่อถามว่ามองอนาคตร้านตัดผมยุคเก่าอย่างไร ช่างสวัสดิ์ตอบว่า
"ถ้ารักษากันไว้ให้ดีก็อยู่ได้สบายนะ เราก็อยู่กันไปวันๆ นี้ก็มีรายได้ต่อวันคนละ 300-500 บาท บางวันต้นเดือนหน่อยก็ 600-700 บาท บางทีก็แล้วแต่ร้าน แต่อยู่ได้ไม่เดือดร้อนเท่าไร ถ้ารู้จักอนุรักษ์ฝีมือทรงผมไว้ให้ดีๆ หน่อยทำให้เขาติดใจ เขาก็มากันเรื่อยๆ อยู่ไกลแค่ไหนเขาก็มา อยู่ถึงบางนา อยู่ถึงชลบุรีก็ยังมาตัดผมที่นี่ อยู่ถึงฝรั่งเศส เขาไปแล้วเขากลับมาใหม่ เขาก็ยังจำร้านเราได้" ช่างสวัสดิ์...ช่างตัดผมบนถนนพระอาทิตย์กล่าวด้วยเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข
เหล่านี้ คือมนต์เสน่ห์ของร้านตัดผมคลาสสิค...ที่ไม่มีวันจางหายไปตามกาลเวลา
เรื่อง รัชตวดี จิตดิ
|
วันที่ 13 มิ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,132 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,187 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,203 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,172 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,152 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 12,745 ครั้ง |
เปิดอ่าน 2,489 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,915 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,639 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,003 ครั้ง |
|
|