Advertisement
ยังจำ "โครงการวิจัยระบบหนังสือหมุนเวียนในโรงเรียนประถมขนาดเล็ก และการจัดตั้งห้องสมุดหนังสือดี 100 แห่งในเมืองหลวงกรุงเทพฯ" ได้ไหม?
บางคนอาจไม่แน่ใจ เพราะงั้นขอรื้อฟื้นกันสักนิด
โครงการที่ว่าเป็นหนึ่งในความหวังดีของคนทำหนังสือ อย่าง "สำนักพิมพ์ผีเสื้อ" นำโดย "มกุฏ อรฤดี" "มหาวิทยาลัยบูรพา" และ"สำนักพิมพ์ต่างๆ" ต่างๆ ที่หวังอยากเห็นคนไทยได้มีโอกาสอ่านหนังสือดีๆ อย่างเท่าเทียมกัน
ความตั้งใจแรกคือห้องสมุดจะอยู่ในร้านหนังสือเช่า 50 แห่ง และมัสยิดรอบกรุงอีก 50 แห่ง โดยใช้ระบบหนังสือหมุนเวียนที่เคยทดลองได้ผลมาแล้วในโรงเรียนประถมสี่แห่ง ซึ่งมกุฏมองว่าระบบนี้ควรเป็นหัวใจหลักของการจัดระบบหนังสือในประเทศยากจน (อย่างเรา) เพราะนอกจากจะทำให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือเพิ่มจากเดิมถึงสี่เท่าในงบประมาณเท่าเดิมแล้ว ยังเกิดกิจกรรมกระตุ้นการอ่านระหว่างกันด้วย
โดยสาเหตุที่เลือกมัสยิดเป็น "ต้นแบบ" นั้น เป็นเพราะว่ามัสยิดคือศูนย์รวมแห่งพิธีกรรม และมีธรรมชาติที่เข้มแข็งด้วยหลักทางศาสนาอิสลาม
"มัสยิดเป็นต้นแบบของชุมชนทางศาสนาที่เข้มแข็งและชัดเจน เราเห็นภาพตรงนี้ในสองศาสนาคือคริสต์กับอิสลาม ศาสนาคริสต์ก็ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ส่วนศาสนาอิสลามต้องทำละหมาด ซึ่งหลังจากพิธีกรรมก็จะมีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน" มกุฏอธิบาย
ทว่าเมื่อลงมือทำจริงจัง อีกความคิดก็แวบเข้ามาในทีมวิจัยว่าแล้วทำไมไม่ลองไปหาหนทางในจังหวัดที่มีความพร้อมของพื้นที่
และในวันนี้ "สตูล" ก็กลายเป็นย่างก้าวแรกของโครงการ
"ได้ไปสำรวจพื้นที่ที่สตูล สงขลา ปัตตานีมา ณ ขณะนี้ก็พบว่าที่สตูลพร้อม พร้อมทั้งในแง่ของสถานที่และแง่ของความตั้งใจของชุมชน เราไปคุยกับทางกรรมการมัสยิดมาสี่แห่ง ซึ่งกรรมการในแต่ละมัสยิดจะมีประมาณ10-15คน และเป็นผู้นำทางศาสนาและมีความรู้ บางคนเรียนจบจากเมืองนอกเมืองนาด้วยซ้ำ บางคนก็เรียนจบปริญญาตรีจากกรุงเทพฯแล้วเลือกที่จะกลับไปประกอบอาชีพที่บ้านเกิด เพราะฉะนั้นทุกคนเข้าใจและเต็มใจ และหวังอยากเห็นองค์ประกอบทางความรู้ครบถ้วน เขามีโรงเรียนปอเนาะสอนหนังสือเด็กๆ แต่สำหรับผู้ใหญ่แทบไม่มีหนังสือหรือห้องสมุดที่เป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครช่วยวางระบบให้เท่านั้น"
การวางระบบที่ว่าคือความร่วมมือระหว่างกันของทีมงานและชุมชน
"เราไม่ต้องใช้พื้นที่มากมาย บางที่ถึงกับจะสร้างอาคารให้เลยหลังหนึ่ง แต่ผมบอกไปว่าไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ให้มากมาย ขอแค่ระเบียงมัสยิดแล้วเอาตู้หนังสือไปวางก็พอ เพราะสิ่งสำคัญคือหนังสือ"
โดยกระบวนการคัดเลือกหนังสือนั้น เป็นความต้องการจากทางชุมชน เพราะคนอ่านย่อมรู้ดีว่าต้องการอ่านอะไร เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตน
ส่วนใหญ่แล้วหนังสือที่แจ้งมานั้นจะเป็นด้านวิชาชีพ การเกษตร ศาสนา ปรัชญา สารคดี ความรู้สมัยไป รวมถึงงานวรรณกรรม เพียงแต่ว่าในงานวรรณกรรมนั้น จำเป็นต้องคัดกรองอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักศาสนารวมถึงจารีตประเพณีที่ต้องคำนึง ซึ่งหนังสือทั้งหลายนั้นก็มาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่พิมพ์ "หนังสือดี"
ขณะที่บรรณารักษ์จำเป็นรวมถึงผู้บริหารห้องสมุดกลายๆ นั้น ก็คือคนในชุมชนที่ต้องดูแลและรับผิดชอบตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ไฮ-เทคโนโลยีในการยืม-คืนหนังสือใดๆ ให้เปลืองงบประมาณ
ใช้เพียง "หัวใจของคนและเคารพหลักการของศาสนา" เท่านั้น
ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
"ถ้าเราถอนตัวออกมา เขาก็ดูแลตัวเองได้อย่างสบาย อย่าคิดไปว่าเราเก่งกว่าเขา ในหลายๆ เรื่องเขาเก่งกว่าเราด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างหมู่บ้านหนึ่ง เป็นชุมชนเล็กๆ มีชาวบ้านประมาณ1,000คน มีเงินฝากในธนาคารหมู่บ้านตั้งสามสิบล้าน ฟังแล้วรู้สึกละอายใจมาก" มกุฏกล่าวพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ
แต่จะว่าไปแล้ว เมื่อนึกถึงจังหวัดต่างๆ ที่เข้าไป รวมถึงที่กำลังจะเข้าไปอย่าง "ยะลา" แล้ว ก็อดถามไม่ได้ว่าหวั่นๆ ใจบ้างไหม ในข่าวคราวทั้งหลายที่เกิดขึ้น
"อย่ากลัวล่วงหน้าสิ" มกุฏตอบทันที ก่อนอธิบายว่า
"ความร่วมมือระหว่างเราและชุมชนไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ เพราะทุกอย่างมีเพียงเพราะอยากให้คนไทยได้อ่านหนังสือเท่านั้น และไม่ได้มีเพียงที่นี่ด้วย เพราะหลังจากนั้นจะขยับขยายไปจังหวัดอื่นๆ ที่พร้อมต่อไป และอย่าไปอวดอ้างว่าสิ่งที่ทำนั้นดี วิเศษ เราเพียงแต่เสริมในจุดที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองไม่เคยเหลียวแลดู"
แต่ด้วยเงินส่วนตัวที่ผีเสื้อควักมาใช้ คงจะทำได้ไม่กี่แห่ง มกุฏจึงหวังว่าถ้าไปได้สวย ความต้องการอ่านที่เกิดขึ้น อาจทำให้ทางชุมชน คนในพื้นที่ หรือจังหวัดเสนอโครงการไปยังรัฐบาลเอง ไม่ใช่การสั่งการจากส่วนกลาง
ซึ่งก็รวมถึงในกรุงเทพฯด้วย
"กำลังติดต่อทาง กทม.ว่าขอให้เป็นโครงการนำร่องได้ไหม งบประมาณที่ใช้ใน กทม.จะค่อนข้างสูงเพราะมีถึงร้อยแห่ง ปกติแล้วเงินประมาณยี่สิบล้านที่ต้องใช้ อาจสร้างห้องสมุดได้แห่งเดียวแต่นี่จะได้ถึงร้อยแห่ง"
แต่ก่อนอื่นสิงหาคมนี้ ที่สตูลคงพร้อมให้เห็นกัน
ข้อมูลจาก มิติชนรายวัน
Advertisement
เปิดอ่าน 17,119 ครั้ง เปิดอ่าน 44,896 ครั้ง เปิดอ่าน 17,736 ครั้ง เปิดอ่าน 78,268 ครั้ง เปิดอ่าน 13,192 ครั้ง เปิดอ่าน 13,453 ครั้ง เปิดอ่าน 17,772 ครั้ง เปิดอ่าน 13,054 ครั้ง เปิดอ่าน 13,760 ครั้ง เปิดอ่าน 8,693 ครั้ง เปิดอ่าน 14,604 ครั้ง เปิดอ่าน 21,678 ครั้ง เปิดอ่าน 12,220 ครั้ง เปิดอ่าน 11,308 ครั้ง เปิดอ่าน 1,564 ครั้ง เปิดอ่าน 16,088 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 12,382 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,820 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,131 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,735 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,048 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,567 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 27,943 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 16,113 ครั้ง |
เปิดอ่าน 29,497 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,869 ครั้ง |
เปิดอ่าน 60,916 ครั้ง |
เปิดอ่าน 20,294 ครั้ง |
|
|