กลอนสอนคุณครู
ขอยกหัตถ์ จัดวาง กลางเกศา
แทนดอกบัว พัวพุ่ม ปทุมมา
กราบครูบา ว่ากลอน มาสอนคน
หากคำกลอน สอนสั่ง มาพลั้งผิด
อย่าได้คิด เคืองแค้น ดินแดนฉล
อภัยเถิด เลิศหนา ประชาชน
คิดกุศล กันก่อน เพื่อผ่อนคลาย
จักสอนครู ผู้รู้ เป็นครูสอน
ผูกเป็นกลอน สอนสั่ง ครูทั้งหลาย
ใช่อวดรู้ เมธี พิรี้พิราย
ใช่ผันผาย เพียงฝาก ลากกวี
ให้ครูน้อย ครูใหญ่ ฝึกใจหมด
จักไม่ลด ละเว้น เป็นสักขี
สอนศีลธรรม นำไว้ เพื่อให้ดี
เด็กไม่หนี เหนื่อยหน่าย คลายความเพียร
เรื่องจะสอน กลอนสั่ง มีทั้งหมด
พุทธพจน์ บทมี บาลีเขียน
เป็นคำพระ มาก่อน แต่ตอนเรียน
จงน้อมเศียร เพียรจำ ตามคำกลอน
ผู้เป็นครู รู้ดี มาที่หนึ่ง
รู้ซาบซึ้ง ถึงจักร ตามหลักสอน
พินิจส่อง ลองแล ให้แน่นอน
ทุกขั้นตอน สอนงาม ไปตามจริง.
ก. ครูพึงเป็นมิตรที่ดีของศิษย์ ๗ ประการ
๑. ปิโย น่ารัก
อาชีพครู ดูดี มีศรีศักดิ์
ให้ศิษย์รัก ยอไหว้ ทั้งชายหญิง
มีจิตใจ ใจซึ้ง น่าพึ่งพิง
มีใจจริง แจ้งใจ ในดวงตา
ศิษย์เคารพ กราบไหว้ ได้สนิท
ไม่มีพิษ มีภัย ใจกังขา
ช่างชูเชิด เลิศอยู่ น่าบูชา
สมครูบา อาจารย์ โบราณมี
๒. ครุ น่าเคารพ
เรียกคุณครู ฟังดู ศิษย์รู้สึก
เพราะศิษย์นึก น้อมภักดิ์ ในศักดิ์ศรี
ครูองอาจ ฉลาด ปราชญ์เมธี
ประพฤติดี ศรีสวัสดิ์ ฝึกหัดคน
ดูน่าชม สมครู เป็นผู้ใหญ่
ทั้งกายใจ ไหนดี ล้วนมีผล
สอนผู้อื่น หมื่นครั้ง ยังสอนตน
โอ้เป็นคน ควรไหว้ ได้บูชา
๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ
ภูมิปัญญา พาครู ที่รู้จริง
ครูชายหญิง จริงศิษย์ ทั่วทิศา
รู้กำหนด จดจำ ในตำรา
รู้เนื้อหา พาสอน เป็นตอนไป
ไม่ติดขัด จัดสอน ขั้นตอนสั่ง
อ้างมาตั้ง ต่อเติม เสริมตอนไหน
ใช้คารม สมปัญญา ภาษาไทย
ศิษย์ไหนไหน นั่งชม สมเป็นครู.
๔. วัตตา รู้จักใช้ถ้อยคำ
ครูที่ดี วจีงาม ตามแถลง
พูดชี้แจง แจ้งมา หนาพวกหนู
พูดคำหวาน ตาลหยด ให้มดดู
พูดเป็นครู รู้หลัก มักเจรจา
พูดสิ่งยาก ให้ง่าย บรรยายหมด
ไม่จับจด คดเคี้ยว หลีกเลี้ยวหนา
พูดชัดถ้อย ชัดคำ ตามตำรา
รู้จักหา คำพูด ดึงดูดใจ.
๕. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ
ครูนักพูด นักสอน ศิษย์ย้อนถาม
อดทนความ ฟังได้ ให้ขานไข
ไม่ถือโทษ โกรธเคือง เรื่องใดใด
ปัญหาใหญ่ ยากน้อย ฟังถ้อยคำ
จุกจิกถาม ความใด เรื่องไม่เหมาะ
ไม่ไพเราะ เพราะหู ให้ดูขำ
รับฟังได้ ใช้ภาษา มาชี้นำ
เพื่อจักทำ ให้ศิษย์ คิดดีดี.
๖. ภัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้
สอนเรื่องยาก ให้ง่าย ทำได้หมด
สอนให้จด จำคล่อง ไม่หมองศรี
เรื่องล้ำลึก นึกง่าย หลายวิธี
นำเรื่องนี่ โน่นนั่น สัมพันธ์กัน
สอนโยงใย ในวิชา ว่าได้หมด
ใช้คำพจน์ พูดคำ มีขำขัน
ศิษย์ฟังง่าย ได้ความ ตามเนื้อบรรณ
รู้จักสรรค์ คำสอน ขั้นตอนความ.
๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำใน อฐานะ(ไม่ใช่จุดยืนของชีวิต)
ชักชี้แนะ นำศิษย์ ให้คิดขยาย
รู้อบาย ฝ่ายฉล ที่คนหยาม
ทางเหลวแหลก ชอกช้ำ อย่าทำตาม
คอยห้ามปราม ถามศิษย์ ทุกทิศทาง
จะคบใคร ที่ไหน ให้ใจคิด
แยกแยะผิด คิดตรอง ไม่หมองหมาง
แนะทางดี ชี้ให้ ไม่วายวาง
ศิษย์ได้ย่าง เหยียบเดิน เพลิดเพลินคน.
ข. ตั้งใจประสิทธิ์ความรู้
๑. อนุบุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ
เตรียมขั้นตอน สอนศิษย์ ไม่ผิดหลัก
สมเป็นนัก แสดง ชี้แจงผล
จากหนึ่งสิบ หยิบยก ไม่วกวน
สอนจากต้น ไต่เต้า ให้เข้าตอน
เริ่มจากง่าย ไปยาก ฝากให้คิด
แนะนำศิษย์ คิดตั้ง มาสั่งสอน
ให้รู้แจ้ง เห็นจริง ทุกขั้นตอน
ไม่ยอกย้อน สอนดู ให้รู้จริง.
๒. ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล
จับจุดสรร สำคัญ มาขยาย
อธิบาย ให้คิด ศิษย์ชายหญิง
ให้รู้เหตุ รู้ผล จนเห็นจริง
ไม่ละทิ้ง สิ่งสรรค์ สัมพันธ์ความ
ให้ศิษย์เห็น เนื้อหา วิชาหลัก
ให้รู้จัก หลักท่อง ไม่ต้องถาม
รู้จดจำ ทำเป็น คิดเห็นตาม
เข้าใจความ ยามเรียน พากเพียรไป.
๓. อนุทยตา ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยปรารถนาดี
ครูสอนศิษย์ ไม่คิด ริษยา
มีเมตตา พามอง จิตผ่องใส
สงสารศิษย์ คิดดี ไม่มีภัย
สร้างโลกใหม่ หมดหมอง ให้ลองเดิน
ปรารถนา พาดี ชี้ชีวิต
คนไหนผิด คิดขวาง ไม่ห่างเหิน
ชักนำทาง ข้างดี ที่เพลิดเพลิน
ให้เจริญ รุ่งเรือง แต่เรื่องดี.
๔. อนามิสันดร ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง
ผู้เป็นครู รู้ไว้ ครูชายหญิง
ไม่ทอดทิ้ง จริงลักษณ์ เป็นศักดิ์ศรี
วิญญาณครู รู้ไว้ จำให้ดี
อาชีพนี้ มีศักดิ์ ถือหลักการ
ไม่ถือสา อามิส มาคิดท้อ
ไม่เที่ยวขอ ขั้นขีด มากีดขาน
เป็นครูดี ที่สม อุดมการณ์
สร้างสถาน การเรียน ศิษย์เพียรไป.
๕. อนุปหัจจ์ วางจิตตรงไม่กระทบตนและผู้อื่น
ใช้วาจา ระวัง ไม่พลั้งสอน
ศิษย์จะค้อน แคะเคือง เรื่องเหลวไหล
วางใจลง ตรงกลาง เป็นทางใจ
ไม่ว่าใคร ไหนเลย น่าเชยชม
ไม่กระทบ กระทั่ง ทุกครั้งสอน
คำหวานอ้อน เอื้อนออ ไพเราะสม
พูดดึงดูด พูดดี มีคำคม
ใช้คารม สอนศิษย์ จิตเมตตา.
ค. ดำเนินลีลาครูทั้งสี่
๑. สันทัสสนา ชี้ให้ชัด
อธิบาย ได้ว่า เหมือนตาเห็น
พูดชี้เป็น เด่นชัด ตามอรรถา
เหมือนชี้คน จนย่าง หลงทางมา
พบทิศา พาเดิน เพลิดเพลินใจ
เหมือนเปิดของ ที่ปิด มาคิดเทียบ
นักปราชญ์เปรียบ เทียบมา ดวงตาใส
เห็นแจ่มแจ้ง แสดงออก บอกแจ้งใจ
หมดสงสัย ใจสบาย คลายกังวล.
๒. สมาทปนา พูดชวนให้ปฏิบัติ
สิ่งใดควร ชวนทำ แนะนำศิษย์
ให้เห็นทิศ ทางเดิน เพลิดเพลินหน
เห็นสำคัญ นั้นดี ที่กมล
ซาบซึ้งจน เห็นจริง ต่อสิ่งงาม
ยอมรับฟัง คำสอน ไม่ย้อนคิด
เห็นถูกผิด คิดทั่ว ไม่กลัวขาม
อยากทำดี ที่สุด วิมุตติความ
จักเดินข้าม อุปสัค เพราะรักดี.
๓. สมุตเตชนา สอนให้แกล้วกล้า
สอนเร้าใจ ในวิชา ให้กล้าคิด
ผันชีวิต คิดได้ ไม่หน่ายหนี
ปลุกจิตใจ ให้ศิษย์ คิดดีดี
สู้โลกนี้ ไม่ถอย คอยชะตา
ให้กระตือ รื้อร้น นั่งค้นคิด
มาแปรจิต มุ่งมาด ปรารถนา
ไม่ท้อถอย คอยไหน โชคใดมา
สู้มุ่งหน้า พาทำ แต่กรรมดี.
๔. สัมปหังสนา พูดปลุกใจให้ร่าเริง
อย่าบึ้งตึง ขึงขัง สั่งสอนศิษย์
ทำให้จิต คิดกลัว มัวหมองศรี
พูดยิ้มแย้ม แจ่มใส ในวจี
หาคำดี ห้อมล้อม ตะล่อมคน
ให้เอิกเกริก เบิกบาน สำราญจิต
สรรค์ชีวิต สรวลเส มองเวหน
เรียนสนุก ทุกวัน สันกมล
บรรลุผล จนเสร็จ สำเร็จเรียน.
ง. สอนด้วยมีหลักตรวจสอบสามประการ
๑. รู้จริง ทำได้จริง
นำวิชา มาสอน ทุกตอนแถลง
ต้องรู้แจ้ง ทุกตอน ก่อนขีดเขียน
มาสอนศิษย์ คิดหวัง ให้ตั้งเพียร
ศิษย์เล่าเรียน เขียนตาม เนื้อความไป
ครูทำได้ ให้ดู เพราะรู้ชัด
ไม่ติดขัด เนื้อหา วิชาไหน
สมเป็นครู รู้จริง ทุกสิ่งไป
วิชาไหน ไม่รู้ ครูไม่มี.
๒. สอนอย่างมีเหตุผล
สอนมีเหตุ ให้คิด จนศิษย์รู้
ศิษย์ตามดู รู้ได้ ไม่หน่ายหนี
ยอมรับฟัง สังเกต ผลเหตุดี
ทุกวิธี ทำแสดง รู้แจ้งจริง
สอนมีเหตุ มีผล ให้ค้นคิด
ไม่สอนศิษย์ ผิดดี อายผีสิง
สรรหาทั่ว ตัวอย่าง มาอ้างอิง
ให้รู้จริง แจ้งใจ ในวิชา.
๓. สอนให้ได้ผลจริง จนสำเร็จความมุ่งหมาย
เข้าใจนำ คำสอน มาวอนสั่ง
ให้ศิษย์ฟัง นั่งเชื่อ ในเนื้อหา
ยกโน้นนี้ มีเปรียบ เทียบวิชา
ยกเนื้อหา พาคิด ให้ศิษย์ฟัง
จนรู้แจ้ง เห็นจริง เป็นสิ่งสัตย์
ปฏิบัติ หัดได้ เมื่อภายหลัง
จนสอบผ่าน การเรียน เพราะเพียรฟัง
ไม่ต้องนั่ง กังขา วิชาใด.
จ. ทำหน้าที่ครูที่ดีต่อศิษย์
๑. แนะนำให้ศิษย์เป็นคนดี
ขยันฝึก นึกทำ ประจำจิต
แนะนำศิษย์ คิดดี ที่ไหนไหน
ฝึกอบรม บ่มพร่ำ ประจำไป
ศิษย์คนไหน ไม่ดี ช่วยชี้นำ
ฝึกกายใจ ไหนวจี นี่ก็ฝึก
ให้น้อมนึก ตรึกตรอง ทำนองขำ
ทำดีได้ ให้ดี วิถีนำ
เจอสุขล้ำ ทำจริง ไม่ทิ้งดี.
๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
นำเหตุผล ค้นคิด ประสิทธิ์สอน
ไม่ลัดตอน สอนไป ในวิถี
นำขยาย ง่ายง่าย หลายวิธี
ถ้อยวจี แจ้งความ ไปตามจริง
ให้รู้จริง เห็นจริง เป็นสิ่งสัตย์
ปรมัตถ์ แม่นหมาย สอนชายหญิง
ให้เข้าใจ ไขความ งามประวิง
รู้ทุกสิ่ง แจ่มแจ้ง เป็นแสงใจ.
๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
อันความรู้ ครูมี วจีสั่ง
ให้ศิษย์นั่ง ฟังจด ทุกบทไข
ไม่ปิดบัง อำพราง ไว้ข้างใน
สอนด้วยใจ รักศิษย์ ชีวิตครู
ทุกวิชา สาระพัน เป็นปัญหา
น้อมนำมา พาสอน ใส่ป้อนหู
ทุกขั้นตอน สอนไว้ ให้ได้ดู
เพื่อเชิดชู เชิดศิษย์ ลิขิตคน.
๔. ส่งเสริมยกย่องความดีของศิษย์ให้ปรากฏ
ศิษย์ทำดี มีศักดิ์ ประจักษ์จิต
ยกชีวิต ศิษย์แสดง ทุกแห่งหน
นำความดี มีอยู่ เป็นครูคน
ชูศิษย์ตน ยลย่อง ไม่หมองใจ
ศิษย์ทำดี มีมา ให้ปรากฏ
ยกย่องหมด บทดี ที่ขานไข
ให้ศิษย์อื่น หมื่นแสน ทั่วแดนไกล
จักนำไป เปรียบเปรย มาเชยชม.
๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ
ป้องกันภัย ในศิษย์ จึงคิดสอน
ทุกทุกตอน สอนความ ที่งามสม
ใช้วิชา พาตัว ที่มั่วจม
ขึ้นจากหล่ม เหวลึก ให้นึกกลัว
แนะนำชี้ ช่วยศิษย์ ทุกทิศา
ที่หมองมา พาช้ำ มือกำหัว
สอนให้ดี มีวิชา เร่งพาตัว
เลิกละชั่ว สิ่งผิด ลูกศิษย์เอย.
...หยาดกวี
๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๒
กราบคารวะพระอาจารย์ด้วยเคารพ-ศรัทธา ที่เมตตาบทกวี และบทเพลง
|