สนทนา...พูดจาประสาครู (บ้านนอก)
การพูดคุยสนทนานับว่าเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ เพิ่มพูนประสบการณ์ ได้รับแนวคิดที่สร้างสรรค์จากคู่สนทนา "สนทนาประสาครู (บ้านนอก)" ได้สาระที่เป็นประโยชน์มากมาย ยกเว้นการสนทนาเรื่องการลาออกจากราชการก่อนกำหนด เพราะเป็นเรื่องจำเป็นส่วนบุคคล หลาย ๆ ครั้งได้รับความรู้ และการแสดงความคิดเห็นหลากหลายรูปแบบ วันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญได้สนทนากันเรื่องหนึ่งแต่ได้รับสิ่งดีที่ควรนำมาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ขอสมมุติคุณครูคู่สนทนาคนนี้ว่า "ครูเข้ม" เป็นสุภาพสตรีที่คุยแล้วประทับใจด้วยประเด็นที่เข้ม และ "ครูสุด"เพราะคุณครูท่านนี้ลุยแบบสุดๆเลย
ครูเข้มสอนที่อยู่ที่โรงเรียนบ้านนอกแห่งหนึ่ง สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 รับผิดชอบ 5 สาระคือภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม และการงานเทคโนโลยี ส่วนครูสุดอยู่โรงเรียนบ้านนอกเช่นกัน คนละอำเภอ สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แต่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเน้นการบูรณาการช่วงชั้น
เมื่อครูบ้านนอกมาพบกันทั้ง 3 คน ครูเข้มและครูสุดเป็นนักศึกษาวิจัย สถาบันทางไกล นำแบบฝึกหัดการวิจัยและร่างการออกแบบงานวิจัยมาปรึกษา เมื่อทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อย ซักถามปัญหากันจนเป็นที่เข้าใจ แต่ละคนก็แข่งขันความเป็นครูบ้านนอก ออกมา ทำให้ได้นิยามของครูบ้านนอก ชัดเจนยิ่งขึ้น
ครูเข้มบอกว่า...การเรียนหลักสูตรการวิจัยของครูสุด เพื่อต้องการให้มีความรู้ ความเข้าใจว่าจะแก้ปัญหาชั้นเรียนได้ให้ถูกต้องตามรูปแบบและกระบวนการ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีความเป็นนวัตกรรมจริง เหมาะสมกับเด็กและนำไปใช้สอนได้จริง เมื่อจบหลักสูตรแล้วยังไม่เข้าใจ ตั้งใจว่าจะลงเรียนอีกครั้งต่อ ๆไป เพื่อให้สามารถทำวิจัยได้ด้วยตนเองและยังไม่คิดเรื่องอื่น ๆ กว่านี้..
ครูสุดเล่าให้ฟังว่า ได้แก้ปัญหานักเรียนมาสารพัดรูปแบบ จากอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้ท่องจำ ให้คัดเป็นคำ ๆ นำนักเรียนมานอนค้างที่บ้านเพื่อฝึกอ่านฝึกเขียนและอ่านได้ เขียนได้จริง ในครั้งนี้ที่สมัครเรียนหลักสูตรการวิจัยกับสถาบันทางไกล ก็เพื่อต้องการให้มีความรู้ทางวิชาการเเก่ยวกับการเริ่มต้นศึกษา วิเคราะห์ การกำหนดปัญหาไปจนถึงมีความสามารถสร้างเครื่องมือที่เชื่อถือได้และจะทดลองใช้กับเด็กในชั้นเรียนของตนเองจริง ๆ และยังไม่คิดเรื่องอื่น ๆ กว่านี้...เช่นกัน
บทสรุปที่ตรงใจกันกับคู่สนทนาทั้ง 3 คนคือ "คนที่ไม่มีอุดมการณ์ไปเป็นครู (สอน)ที่บ้านนอกไม่ได้ คือสอนทุกอย่าง ยกเว้นการสอนหนังสือ" นิยามของครูบ้านนอกคือครูที่สอนอยู่โรงเรียนบ้านนอกที่มีอุดมการณ์ หากไม่ใช่ครูที่สอนอยู่โรงเรียนบ้านนอกเท่านั้น
คุยกับครูมุก
วันที่พบครูมุกวันนั้น เป็นเวลาตอนเช้าประมาณ 8 นาฬิกากว่า ๆ แต่ดูท่าทางครูมุกค่อนข้างอารมณ์เสีย แกมขบขัน เพราะดูเหมือนบ่นไปหัวเราะไป ภายหลังที่ได้ถามไถ่ก็ได้ความว่า...วันนี้ครูมุกได้พบกับคุณครูรุ่นน้องท่านหนึ่ง หลังจากที่ไม่ได้พบกันมานาน แต่คราวนี้บังเอิญที่คุณครูรุ่นน้องท่านนี้ได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนใกล้ ๆ กัน จึงได้พบกันอีกครั้งและกำลังจะแสดงความดีใจ แต่ช้าไป
คุณครูรุ่นน้องได้ทักทายครูมุกก่อน...."พี่มุกไม่เออร์ลี่หรือคะ" ครูมุกที่แสนจะพูดเก่ง ทันผู้ทันคนและมีความมั่นใจคนหนึ่ง ถึงกับอ้าปากค้างและพูดไม่ออก เล่าต่อว่า..คล้าย ๆ กับถูกใครคนหนึ่งตบหน้า 3 ฉาดสลับไปมา
ครูมุกเป็นครู คศ.3 มาตั้งแต่มีอาจารย์ 3 คนแรกของอำเภอที่ครูมุกสอน (ระดับโรงเรียนสังกัด สปช.ไม่รวมกับโรงเรียนกรมสามัญเดิม) มีอุดมการณ์ว่าถึงแม้เกษียณอายุราชการครูมุกก็ยินดีจะขอต่ออายุราชการ ถ้าเป็นไปได้ หรือไม่เช่นนั้นก็จะมาช่วยสอนให้กับโรงเรียนเดิมที่เกษียณ
...."พี่มุกไม่เออร์ลี่หรือคะ" ยังค้างคาใจไม่จบเอาง่าย ๆ ทั้งวัน..และรุ่งขึ้นกลับไปเล่าให้ใครต่อใครที่โรงเรียนของครูมุกว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาได้ระบายให้เพื่อน ๆ ฟังทางโทรศัพท์เกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดทั้งคืน
คุณครูรุ่นน้องท่านนี้อายุยังไม่มาก และเพิ่งบรรจุครูได้ไม่นาน "ใครน่าจะมีความเป็นอุดมการณ์สูงกว่ากันระหว่างครูรุ่นใหม่กับครูรุ่นเก่า (พันธุ์ใหม่) อย่างครูมุก" และผลการวิเคราะห์จากวงสนทนาว่า ครูรุ่นน้องท่านนี้โลกทัศน์ยังไม่กว้างไกล เพราะครูมุกเป็นคุณครูที่แบรนด์เนมมากคนหนึ่ง เป็นที่รู้จักของครูและผู้ปกครองอย่างกว้างขวาง
ถ้าเลือกได้...
การสนทนาของคุณครูบ้านนอก (เฉพาะ คุณครู 4 ท่านนี้) ก็เป็นแบบฉบับบ้านนอกที่มีทัศนะแตกต่างและห่างไกลจากคุณครูที่ไม่ใช่ครูบ้านนอก ทั้งทางด้านวิสัยทัศน์และโลกทัศน์ อันได้แก่ครูหน่อม ครูหน่อย ครูหน่อง ครูหนิม และครูแหนม และเรื่องที่คุยก็ไม่พ้นเรื่องเด็ก เรื่องโรงเรียนและปัญหาการเรียนการสอน เพราะโลกทัศน์มีเท่านี้
เริ่มจากการสนทนาหนึ่งใน 4 ได้ตั้งประเด็นว่า "พวกเราครูบ้านนอกก็จริงอยู่ เดินทางไปโรงเรียนตั้งเกือบร้อย ๆ กิโลเมตร แต่พวกเราเดินทางสะดวกกว่า ครูบางกลุ่มที่ต้องเดินทางลำบาก ไป กลับในวันเดียวก็ไม่ได้ เราควรมีความตั้งใจสอนและอบรม ดูแลนักเรียนของเราให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นะ นึกถึงครูที่ลำบากกว่านี้ด้วย"
ประเด็นของคุณครูคนที่ 2 ได้ติดตามมา "น่าอิจฉาคุณครูที่อยู่โรงเรียนในเมืองนะ เด็กมีความพร้อม ผู้ปกครองก็พร้อม บางโรงเรียนก็คัดเลือกแต่นักเรียนที่เรียนดีเข้าเรียน คงจะสอนกันได้บรรลุผลอย่างสบาย ๆ ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาจนปวดหัวแบบพวกเรา"
คุณครูคนที่ 3 "วันนี้เราสอน 6 ชั่วโมง 12 ชั้น (ทำได้ไงบอกหน่อยสิ ใครใช้ให้ทำ) ครูป่วย ประชุม อบรมสัมมนา จึงต้องเป็นผู้จัดการชั่วคราว ให้นักเรียนอยู่หัวท้ายคนละชั้นสอนควบกันไปตลอด 3 ชั่วโมงในตอนเช้า และอีก 3 ชั่วโมงในตอนบ่าย ดีกว่าปล่อยให้เด็กอยู่เฉย ๆ หรือทำงานตามลำพัง จะต้องมีคนใดคนหนึ่งหรือเด็กกลุ่มหนึ่ง ไม่ต้องตั้งใจทำงานก็ได้ แบบนี้รํฐเสียเปรียบครูหรือเปล่านี่"
คุณครูคนที่ 4 มีประเด็นว่า "ถ้าเลือกได้จะเป็นครูบ้านนอกหรือครูในเมือง"...??
แล้วคุณครูท่านอื่นละคะ..มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างคะ?.....
ขอบพระคุณที่มาข้อมูลคุณครูคิม
|