ตลอดชีวิตของสุนทรภู่ ท่านใช้ชีวิตอยู่ในภาคกลางตอนล่าง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ อันเป็นทำเลที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากที่สุด
ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังอยู่ในฐานะที่ต้องสัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงโดยตรงมากกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าในฐานะข้าราชสำนัก ตำแหน่งอาลักษณ์และกวีในราชสำนัก หรือครูกลอน และพระภิกษุที่มีผู้นับหน้าถือตาอยู่พอสมควร
เหตุดังนั้นงานของท่านจึงสะท้อนให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีความรู้มาก ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใฝ่รู้ เพราะข้อมูลจำนวนมากในงานนิราศของท่านนั้นเกิดจากการได้อ่านตำรับตำรามามาก พร้อมกันไปกับการไต่ถามข้อมูลจากชาวบ้านด้วย
จนถึงทุกวันนี้ข้อมูลความรู้ที่ปรากฎในงานของสุนทรภู่ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งสำหรับการทำงานพจนานุกรมและสารานุกรม
ความรู้และความใฝ่รู้ของสุนทรภู่นั้นมีผู้กล่าวถึงมามากแล้ว ในที่นี้จะขอนำเอาความรู้ในงานของท่านมาวิเคราะห์ เพื่อดูถึงผลกระทบจากความรู้ใหม่ๆ ที่หลั่งไหลมาจากข้างนอก ว่ามีต่อระบบความรู้ของไทยอย่างไร โดยหยิบเอาสุนทรภู่ในฐานะปัญญาชนคนหนึ่งของไทย ซึ่งไม่ถึงกับเปิดรับความรู้ใหม่อย่างเต็มที่จนถึงหัดเรียนภาษาอังกฤษ เช่น ปัญญาชนกลุ่มวชิรญาณภิกขุ, เจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) หลวงนายสิทธิ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์), หรือนายขำ บุนนาค (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ) ฯลฯ
(ในแง่นี้ ใคร่ชี้ให้เห็นด้วยว่าปัญญาชนไทยในราวรัชกาลที่ ๓ มิได้แบ่งออกเป็นสองขั้วสุดโต่ง คือระหว่างกลุ่มก้าวหน้าที่เปิดรับความคิดตะวันตกเต็มที่ และกลุ่มหัวเก่าที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แท้ที่จริงแล้วทั้งสองกลุ่มเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน คือจะผนวกเอาความรู้ตะวันตกเข้ามาในระบบความรู้ของไทยได้อย่างไร โดยมิให้กระทบต่อฐานความรู้ที่แต่ละฝ่ายคิดว่ามีความสำคัญอย่างชนิดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ฉะนั้นการศึกษาระบบความรู้ของสุนทรภู่ จึงทำให้เราได้เห็นแนวคิดอีกกระแสหนึ่งของปัญญาชนไทยในช่วงนั้นไปด้วย)
ความรู้ใหม่ที่แพร่หลายในช่วงนั้นมาก และปรากฏในงานวรรณกรรมทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ของสุนทรภู่คือโลกภูมิ แนวทางของความเปลี่ยนแปลงความรู้ในแง่นี้ก็คือการรับเอาข้อมูลใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับดินแดนในประเทศใกล้เคียงบรรจุลงในความรู้เกี่ยวกับโลกภูมิเดิม ดังงานศึกษาเรื่อง "ภูมิศาสตร์สุนทรภู่" ของกาญจนาคพันธุ์ได้ชี้ให้เห็น การที่เมืองลังกากลายเป็นเมืองฝรั่งในพระอภัยมณี แทนที่จะเป็นเมืองของยักษ์ หรือเมืองอันเป็นแหล่งที่มาของพระพุทธศาสนา เป็นการกล่าวถึงความจริงเชิงประจักษ์ เพราะลังกาเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ซึ่งมีพระราชินีปกครองในช่วงนั้น จารึกเกี่ยวกับชนชาติต่างๆ ในวัดโพธิ์สะท้อนการขยายตัวของความรู้เชิงประจักษ์เกี่ยวกับโลกภูมิเช่นเดียวกัน
เหตุใดความรู้เกี่ยวกับโลกภูมิที่ค่อนข้างเป็นจริงเช่นนี้จึงขยายตัวในยุคนั้น อธิบายไม่ได้ง่าย การเดินเรือ, การค้าระหว่างประเทศ, หรือแม้แต่แผนที่เดินเรือของตะวันตก ไม่ใช่เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ดูเหมือนต้องมีความเปลี่ยนแปลงอะไรอื่นมากกว่าการเข้ามาของข้อมูล เช่นการสำนึกถึงความจำเป็นจะต้องผนวกเอาข้อมูลใหม่เหล่านี้ไว้ในระบบความรู้ให้ได้เป็นต้น
นอกจากความรู้ด้านโลกภูมิแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พบในงานของสุนทรภู่อยู่เสมอคือความรู้ชาวบ้าน ในงานนิราศของท่านมีตำนานสถานที่ ความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์หรือพืช ซึ่งเป็นความรู้พื้นถิ่นของชาวบ้าน ตลอดจนแม้แต่นิทานชาวบ้านสอดแทรกอยู่มากมาย
ถ้ามองย้อนกลับไปดูวรรณกรรมตัวเขียนรุ่นก่อนหน้านี้ ความรู้ชาวบ้านเหล่านี้แทบไม่มีพื้นที่ในวรรณกรรมมาก่อนเลย เหตุใดปัญญาชนจึงให้ความสนใจต่อความรู้ชาวบ้านเช่นนี้ ก็นับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในระบบความรู้ของไทยในช่วงนั้น
ความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งในยุคสมัยนั้นซึ่งควรกล่าวไว้ด้วย แม้ไม่เกี่ยวกับตัวความรู้โดยตรง นั่นก็คือวรรณกรรมตัวเขียนถูกใช้เพื่อการอ่านมากขึ้น
วรรณกรรมรุ่นก่อนหน้าส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมเพื่อการแสดง (เทศน์มหาชาติก็เป็นการแสดงอย่างหนึ่ง) แต่งานเขียนเช่นนิราศก็ตาม, พระอภัยมณีก็ตาม ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อการแสดง แต่เพื่อการอ่านโดยตรง จึงอาจกล่าวได้ว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระบบความรู้ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น มีการเปลี่ยน "สื่อ" ไปพร้อมกัน คือมีงานเขียนเพื่อการอ่านเพิ่มขึ้น
สุนทรภู่เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้ "สื่อ" ชนิดนี้แพร่หลายออกไป แม้สื่อที่ท่านเลือกใช้คือกลอนแปดเป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ที่มีข้อจำกัด ดังที่จิตร ภูมิศักดิ์ เคยวิจารณ์ว่า ไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือในการสื่ออารมณ์ที่หลากหลายได้มากนัก ท่านยกตัวอย่างความโกรธและความคึกคะนองเหี้ยมหาญเป็นต้น
อย่างไรก็ตามการอ่านในยุคสมัยของสุนทรภู่หมายถึงการอ่านดังๆ โดยเฉพาะอ่านดังๆ ให้ผู้อื่นฟัง ไม่ใช่การอ่านในใจเงียบๆ เพียงคนเดียว เสียงของการเร้าอารมณ์จึงมาจากการอ่านดังๆ ไม่ใช่มาจากเสียงที่เกิดในใจผู้อ่านเมื่อสายตาผ่านตัวอักษร ฉะนั้นสื่อที่สุนทรภู่มีส่วนในการทำให้แพร่หลายนี้ จึงพอเหมาะกับความจำเป็นในยุคสมัย และที่จริงแล้วกลอนถูกใช้เป็นรูปแบบสำหรับเก็บความรู้ด้านต่างๆ เอาไว้มากมายนับแต่นั้นมา เช่น ตำรายา, ตำราโหราศาสตร์, และตำราอื่นๆ
ตัวละครของสุนทรภู่ก็สะท้อนความรู้ข้อมูลใหม่ๆ เหล่านี้ออกมาเหมือนกัน เช่น อุศเรน, นางละเวง, นางเงือก, ผีเสื้อสมุทร ซึ่งไม่อาจหาตัวละครในวรรณกรรมรุ่นก่อนเทียบได้เลย
อย่างไรก็ตามความรู้ข้อมูลใหม่เหล่านี้สุนทรภู่จะผูกโยงไว้กับอุดมคติของระบบความรู้แบบเดิมเสมอ หลังจากผ่านประสบการณ์แปลกใหม่หลายอย่างมาแล้ว ในที่สุดพระอภัยมณีก็ลาโลกออกบำเพ็ญพรตเพื่อบรรลุธรรม ความตื่นตาตื่นใจในสิ่งแปลกใหม่ทั้งหลายที่ปรากฏในนิราศ มักจะลงมาสู่ข้อสรุปที่เตือนผู้อ่านให้ระลึกถึงพระไตรลักษณ์เสมอ ข้อนี้ทำให้สุนทรภู่แตกต่างจากคนไทยปัจจุบัน เพราะการรับความรู้ข้อมูลใหม่ๆ ในปัจจุบัน ไม่ได้ผูกโยงอยู่กับอุดมคติของความรู้แบบเดิมอีกแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่ความรู้ข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งหลั่งไหลเข้ามามีผลกระทบต่อวัฒนธรรมไทยอย่างไพศาลกว่าสมัยสุนทรภู่
มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับอำนาจที่ปรากฏในพระอภัยมณี ฝ่าย "ไทย" ได้อำนาจจากการปลุกเสก, อิทธิปาฏิหาริย์ หรือบารมีส่วนบุคคล ในขณะที่ฝ่ายฝรั่งลังกาได้อำนาจจากการกระทำของมนุษย์เอง เช่นเรือรบลำใหญ่มหึมา แม้เกิดจากจินตนาการที่ไม่มีความเป็นจริงในสมัยนั้นรองรับ แต่ก็เป็นเรือรบที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้มาจากอิทธิปาฏิหาริย์ ท้องเรื่องของพระอภัยมณีที่ไม่เกี่ยวกับความรักของตัวเอกแล้ว ก็คือการต่อสู้กันระหว่างอำนาจสองชนิดนี้ และผลที่สุดของการต่อสู้ก็คือชัยชนะของฝ่าย "ไทย" ที่น่าสนใจก็คือชัยชนะนั้นไม่ได้เกิดจากการต่อสู้ทางกายหรือกำลังอาวุธเท่านั้น แต่เป็นชัยชนะทางใจ หรือความรักระหว่างตัวเอกด้วย
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะสะท้อนการมองโลกจากสายตาของปัญญาชนไทยกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีสุนทรภู่เป็นตัวแทน) กล่าวคือยอมรับอำนาจของตะวันตกในด้านกายภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมั่นในอำนาจทางจิตใจ (หรือทางธรรม) ของไทย
หากมีการปะทะกันของอำนาจ
ในที่สุดแล้วอำนาจทางธรรมย่อมอยู่เหนือกว่า......................