ค่านิยมจะสอนอย่างไร?
คุณครูที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการพัฒนาเด็ก ๆ หรือครูที่มีหน้าที่ทำงานเพื่อเด็ก หลีกเลี่ยงไม่ได้นอกจากสอนในสาระที่ตนเองรับผิดชอบแล้ว จะต้องสอนทุกอย่างยกเว้นการสอนหนังสือ โดยเฉพาะครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนบ้านนอกที่ห่างไกล พวกเราจะพบกับปัญหามากมาย ในความรู้สึกลึก ๆ นั้นกลับเป็นกังวลว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง ความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการนั้นโรงเรียนบ้านนอกย่อมอ่อนด้อยกว่าโรงเรียนที่อยู่ในเมืองอย่างเทียบกันไม่ได้ ด้านโอกาสอื่น ๆ ก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าพวกเราครูบ้านนอกจะหันมาเล่นด้านการส่งเสริม ช่วยกันสร้างความตระหนักคุณลักษณะทางพฤติกรรม ฝึกความเป็นคนดี มีค่านิยมไทยเป็นเป้าหมายเพื่อให้เขาได้รู้จักเลือกการดำรงชีวิตของตนเองได้อย่างเป็นสุขในสังคมที่เขาอยู่และปรับตัวได้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อลดความอ่อนด้อยทางโอกาส
บังเอิญเด็กนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ลืมสมุดแบบฝึกหัดภาษาไทยไว้ที่โต๊ะของเรา เพราะวันนั้นเขามีหน้าที่มาทำความสะอาดและจัดโต๊ะ จึงหยิบขึ้นมาดูอย่างตั้งใจว่าเป็นของใคร ในนี้มีอะไรบ้างสาระอื่น ๆ เขาเรียนกันอย่างไร ได้พบเรียงความเรื่อง "ความฝันของฉัน" เป็นฉบับร่างอยู่ท้ายเล่มทำให้ต้องอ่านแล้ว อ่านอีก อ่านกลับไปกลับมา...ไม่สบายใจ ขบคิดไปทั้งวันจนถึงวันนี้ เพราะหาทางออกไม่ได้ แม้ว่าหลาย ๆชั่วโมงที่เป็นวิชาของเราจึงต้องให้การอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดมา
สาระของความฝันนั้นบอกว่า เมื่อเติบโตขึ้นเรียนจบการศึกษาในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะไปทำงานรับจ้าง (งานรับจ้างเป็นงานขึ้นชื่อในชุมชน) เพื่อให้ได้เงินมาเป็นค่าแต่งตัวอันดับแรกจะซื้อทอง สร้อย แหวน ต่างหู กำไรทอง เธอได้ยกตัวอย่างคนในหมู่บ้านเมื่อกลับมาในวันสงกรานต์ วันปีใหม่เขานิยมใส่ทองมา เป็นที่ชื่นชมของใคร ๆ พ่อแม่ก็มีความสุขไปด้วย ..สักวันหนึ่งเธอจะต้องเดินไปตามความฝันของเธอให้ได้....จึงทำให้กลับมาทบทวนเรื่องต่อไปนี้
ค่านิยมหมายถึง สิ่งที่สังคมถือว่ามีค่าพึงปราถนาต้องการให้เป็นเป้าหมายของสังคมและปลูกฝังให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตควรหลีกเลี่ยง เช่น ความยากจน สิ่งมีคุณค่า น่าปราถนา หรือนำความสุขมาให้มีทั้งเป็นวัตถุและไม่เป็นวัตถุ ค่านิยมบางอย่างเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้เช่นเดียวกันกับความเชื่อและมีความแตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรมค่านิยมส่วนใหญ่เนื่องมาจากความเชื่อ
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันจะมีลักษณะสากลมากขึ้น เช่น นิยมยกย่องวัตถุ ความมั่นคง ความหรูหราฟุ่มเฟือย ความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดมั่นในประเพณี ชื่นชมวัฒนธรรมตะวันตก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือ อำนาจและเกียรติยศชื่อเสียง การดูแลรักษาสุขภาพด้วยโภชนาการและการออกกำลังกาย ในปัจจุบันค่านิยมของการศึกษาในระดับสูงมีเพิ่มขึ้น
การปลูกฝังค่านิยมไทย
การถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นเก่าไปยังสมาชิกใหม่ของสังคม เกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการเลี้ยงดูเด็กและการขัดเกลาทางสังคม เริ่มต้นจากพ่อ แม่ ญาติ เพื่อน และสื่อต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนทางสังคมที่ทำหน้าที่ปลูกฝังถ่ายทอดปลูกฝังวัฒนธรรม เริ่มจากการเป็นแบบอย่างให้เด็กเลียนแบบจนเป็นความเคยชินซึมซับจนกลายเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของเด็กโดยไม่รู้ตัวสิ่งเหล่านี้จะช่วยกล่อมเกลาเด็กให้เกิดการเรียนรู้และรับถ่ายทอดวัฒนธรรมรวมทั้งค่านิยม
การจัดลำดับช่วงชั้นในสังคมไทย
สังคมไทยเดิมมี 2 ชั้นใหญ่ ๆ คือชนชั้นปกครอง ได้แก่ เจ้านายและขุนนาง กับพวกไพร่คือ ประชาชนธรรมดา ส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่นอกจากนี้ยังมีทาส สำหรับอาชีพอื่น ๆ จะอาศัยต่างชาติ เช่น ชาวจีนและชาวตะวันตก ส่วนมากเป็นช่างฝีมือ พ่อค้า เป็นต้น เมื่อมีการพัฒนาด้านการศึกษา ทำให้เกิดชนชั้นกลางกลุ่มใหญ่ การเกิดชนชั้นกลางมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มีนักวิชาชีพผู้ทำงานด้านบริการต่าง ๆ ช่างเทคนิคส่วนใหญ่ในเขตชนบทจะมีพวกชาวนา ชาวไร่ กับเจ้าของที่ดินดั้งเดิม ลูกหลานของคนเหล่านี้หากได้รับการศึกษาสูงหรือเติบโตขึ้นในชุมชนที่การเกษตรส่วนใหญ่ล่มสลายก็จะเข้ามาทำงานในเมืองhttp://www.thaigoodview.com/library/teachershow/phayao/srinual_p/social/index.htm
การศึกษาการอบรมบ่มเพาะจะเปลี่ยนแปลงค่านิยมได้อย่างไร? แม้ว่าเพื่อน ๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนิยมทอง และเห็นคนในหมู่บ้านตกแต่งทองคำกันดูเปล่งปลั่งและแสดงความภาคภูมินั้น หมายถึงอะไรบ้าง ในการประเมินของเราก็เพียงแต่เด็กคนนั้นหรือหลาย ๆ คนได้รับรู้ แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป จะทำให้เธอและเพื่อนๆ เปลี่ยนแปลงค่านิยมก็คงค่อนข้างยาก
คนในสังคมไทยบางกลุ่มอาจจะมองเห็นว่าเครื่องประดับทองคำแสดงความมีฐานะทางการเงิน ทางสังคม (ระดับของคนกลุ่มนั้น) อาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการพัฒนาค่านิยมมาตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ ก็ว่าได้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยากที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงและเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่า หรือเป็นกลุ่มที่มาจากครอบครัวบรรพบุรุษที่มั่งคั่ง คนกลุ่มนี้จะไม่นิยมเครื่องประดับหรือเชิดชูการตกแต่ง การประดับด้วยเครื่องประดับทองคำ หรือบางคนอาจจะตกแต่งด้วยกวัสดุพื้นบ้าน ไม้ไผ่ เศษกะลามะพร้าว ก็ไม่ทำให้คนกลุ่มหลังนี้ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลับดูสง่างามมากกว่า อีกประการหนึ่งความสง่างามของบุคคลขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพเป็นสำคัญ
โรคิช(Rokeach.1968)ได้ให้ความหมายของค่านิยมไว้ว่าเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะค่อนข้างถาวรและเชื่อเราวิถีปฏิบัติบางอย่างหรือเป้าหมายบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ตัวเองหรือสังคมเห็นสมควรที่จะยึดถือหรือปฏิบัติมากกว่าวิถีปฏิบัติหรือเป้าหมายชีวิตอย่างอื่น
ค่านิยมจึงเป็นความสำคัญที่บุคคลนั้นให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าพร้อมที่จะปฏิบัติตามความเชื่อนั้นค่านิยมของแต่ละคนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับ ประสบการณ์ของเราแตกต่างกันค่านิยมที่เรายึดถือจึงแตกต่างกันไปแม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน ค่านิยมมีการเลียนแบบเราจึงเห็นว่าบางคนมีค่านิยมที่คล้อยตามคนอื่นโดยเฉพาะบุคคลที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อความเชื่อความศรัทธาของเขา นอกจากนี้ ค่านิยมยังมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงไปตามวุฒิภาวะของประสบการณ์ของบางคน เช่นบางคนให้ความสำคัญแก่การศึกษาเล่าเรียนมาก บางคนให้ความสำคัญแก่การศึกษาเล่าเรียนน้อย แต่ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพ ค่านิยมของบุคคลแสดงออกเป็นพฤติกรรมภายนอกเช่น คนที่มีค่านิยมด้านการศึกษาสูงจะส่งบุตรหลานให้เรียนต่อสูงๆ ผู้ที่มีค่านิยมเรื่องเงินทองจะพยายามสะสมเงินทองมากๆ เพื่อจะเป็นคนมั่งมีเป็นต้น
คุณธรรมที่ต้องนำมาสร้างความตระหนัก ในการสร้างค่านิยม และฝึกปฏิบัติให้แก่เยาวชนตั้งแต่เล็ก ๆ เห็นจะไม่พ้นคำว่า "ความพอเพียง" อย่างน้อยต้องรู้ความหมายของความพอเพียงว่า เป็น ความพอดีที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีเหตุผลในการตัดสินใจโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบและการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง มีหลักพิจารณา ดังนี้
กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรุ้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
2. เงื่อนไขความธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
แบบอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน การอบรมสั่งสอนของครูจะได้ผลก็ต่อเมื่อครูหรือผู้อบรมสั่งสอนนั้นปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีนักเรียนที่มีครูจิตใจเมตตา โอบอ้อมอารี นักเรียนก็จะมีเมตตาด้วย ครูพูดจากสุภาพอ่อนโยน นักเรียนก็อ่อนโยนด้วย ครั้งหนึ่งที่ผ่านมาหลายปีแล้วได้พบว่าครูทั้งโรงเรียนลงความเห็นว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ....???? เห็นแก่ตัว.... เพราะครูประจำชั้นเห็นแก่ตัว
ขอบพระคุณที่มาข้อมูลคุณครูคิม