ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนบ้านสำราญ
อำเภออาจสามารถ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2
ผู้วิจัย นายปัญญา นวลรักษา
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านสำราญ อำเภออาจสามารถ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนของโรงเรียนบ้านสำราญ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเขียนเค้าโครงการวิจัย เขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน และสามารถนำการวิจัยไปแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน ตลอดจนนำกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนสู่ การปฏิบัติจริง โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา ประกอบด้วย การประชุมปฏิบัติการ และการนิเทศ แบบมีส่วนร่วม ตามกรอบการวิจัยในชั้นเรียน 5 ขั้นตอน คือ การสำรวจและวิเคราะห์ปัญหา การกำหนดวิธีการในการแก้ปัญหา การพัฒนาวิธีการหรือนวัตกรรม การนำวิธีการหรือนวัตกรรม ไปใช้และการสรุปผลการเขียนรายงาน โดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ได้แก่ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตผลและการสะท้อนผล ดำเนินการเป็น 2 วงรอบ ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2548 ถึง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ผู้ร่วมวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษา 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบบันทึกการประชุม แบบบันทึกการนิเทศ และแบบประเมินงานวิจัย การจัดกระทำและการตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบแบบสามเส้า และนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล เชิงบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า ก่อนการพัฒนาครูส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการวิจัยในชั้นเรียนสาเหตุ เนื่องมาจากครูยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน ครูมีงานสอนและงานอื่นมาก เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น ครูไม่เห็นความสำคัญของการวิจัยและถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก จึงให้ไม่สามารถทำการวิจัยในชั้นเรียนได้ ต่อเมื่อได้ดำเนินการพัฒนาตามขั้นตอนการวิจัยปฏิบัติการ 2 วงรอบ โดยใช้กลยุทธ์ การประชุมปฏิบัติการ และการนิเทศแบบมีส่วนร่วม พบว่า ครูมีความพร้อมและตระหนักถึงความสำคัญในการเข้ารับการประชุมปฏิบัติการทุกคน ผลการทดสอบก่อนการประชุมปฏิบัติการ ครูมีความรู้ความเข้าใจร้อยละ 68.33 หลังการประชุมปฏิบัติการเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 83.89 ชี้ให้เห็นว่าเมื่อได้รับการพัฒนาแล้วครูมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ได้ดำเนินการจัดทำวิจัย ในชั้นเรียนเป็นผลสำเร็จเป็นส่วนหนึ่ง และครูอีกส่วนหนึ่งยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องการกำหนดวิธีการแก้ปัญหา การพัฒนาวิธีหรือนวัตกรรม และการสรุปผล การเขียนรายงานการวิจัย ผู้วิจัยได้นำข้อบกพร่องที่พบไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไข วงรอบที่ 2 พบว่า ผู้ร่วมวิจัยสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียนได้ทั้ง 6 คน และสามารถแก้ไขปัญหา ที่พบในวงรอบที่ 1 ได้ โดยได้รับคำแนะนำและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันและกัน เมื่อประเมินผลการนิเทศโดยใช้แบบประเมินงานวิจัย พบว่า ผู้ร่วมวิจัยสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนตามกระบวนการของการวิจัยในชั้นเรียน 5 ขั้นตอน โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี