เผยโฉมกิ้งกือพันธุ์ใหม่ของโลก 12 ชนิด ที่พบในไทย ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติแล้ว แต่คาดว่าน่าจะพบชนิดใหม่ได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด จากตัวอย่างชุดเดียวกัน กิ้งกือสายพันธุ์ใหม่ส่วนใหญ่พบบนเกาะ เตรียมศึกษาเจาะลึกถึงดีเอ็นเอ เปรียบเทียบวัฒนาการกิ้งกือบนเกาะกับแผ่นดินใหญ่ พร้อมวิจัยปุ๋ยมูลกิ้งกือร่วมกับลาดกระบัง นักวิจัยเผย กิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์มหาศาลต่อธรรมชาติ และไม่เป็นอันตรายกับคนอย่างที่คิด
|
กิ้งกือกระบอกหางแหลมชนิดหนึ่ง |
|
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการบีอาร์ที) แถลงข่าวเปิดตัว “กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหม่ของไทย” ณ อุทยานการเรียนรู้ทีเคปาร์ก (TK park) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2552 โดยมีงานการจัดแสดงนิทรรศการ “ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต” ร่วมด้วยไปจนถึงสิ้นเดือนนี้
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างกิ้งกือกระบอกจากทั่วประเทศกว่าหลายร้อยชนิดในปี 2551 สามารถจำแนกเป็นกิ้งกือกระบอกหางแหลม (หรือก้นแหลม) ชนิดใหม่ของโลกได้แล้ว 12 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เก็บตัวอย่างมาจากภาคใต้ของไทย ในเขตจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ภูเก็ต กระบี่ และมีชนิดหนึ่งที่ได้จากจังหวัดอุทัยธานี โดย 8 ชนิดได้ตีพิมพ์ไปแล้วในวารสารนานาชาติด้านสัตววิทยา ซูแท็กซา (ZOOTAXA) เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และอีก 4 ชนิดกำลังจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าวเร็วๆ นี้
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กับกิ้งกือดำเท้าชมพู 1 ใน 12 กิ้งกือกระบอกหางแหลมชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งรายงานการค้นพบครั้งแรกในไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
กิ้งกือกระบอกหางแหลมชนิดใหม่ของโลกทั้ง 12 ชนิด ได้แก่ กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม, กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม, กิ้งกือเทาหลังแดง, กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู, กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม, กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง, กิ้งกือดำเท้าชมพู, กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล, กิ้งกือเหลืองดำ, กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง, กิ้งกือฮอฟแมน และกิ้งกือดีมาง และนอกจากนั้น ยังคาดว่า จะสามารถจำแนกกิ้งกือที่พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกได้อีกกว่า 50 ชนิด
กิ้งกือดำเท้าชมพู
สำหรับวิธีการจำแนกนั้น ดูจากสัณฐานวิทยาของอวัยวะสืบพันธุ์เป็นหลัก หากเป็นกิ้งกือคนละชนิดกันจะไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ และหลังจากนี้ นักวิจัยจะศึกษาดีเอ็นเอของกิ้งกือทุกชนิดที่พบ เพื่อศึกษาจำแนกสายพันธุ์ และการวิวัฒนาการ ว่า มีความใกล้ชิดกันมากน้อยแค่ไหน และเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งมีกิ้งกือชนิดใหม่บางชนิดที่พบพบเกาะราบ เกาะตะรุเตา และเกาะยาวน้อย ต้องศึกษาว่าเหมือนหรือต่างกันหรือไม่อย่างไรกับกิ้งกือที่พบบนแผ่นดินใหญ่ และมีการแยกสายวิวัฒนาการออกไปตั้งแต่เมื่อไหร่
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเกลียดกลัวและเข้าใจว่ากิ้งกือเป็นอันตราย กัดคนได้และมีพิษ แต่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ชี้แจงว่า ที่จริงแล้วกิ้งกือมีฟันแค่สำหรับกัดแทะซากสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถกัดคนจนเป็นอันตรายได้ และกิ้งกือแทบทุกชนิดจะมีกลไกการป้องกันตัวโดยการปล่อยสารเคมีบางอย่างออกจากร่างกายในปริมาณเพียงเล็กน้อยที่ไม่เป็นอันตรายกับคน เช่น สารเบนโซควิโนน และสารไซยาไนด์ แต่อาจเป็นอันตรายสำหรับคนที่มีแผลตามร่างกายอยู่แล้วหรือคนที่แพ้สารดังกล่าว แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่ากิ้งกือทำให้คนเสียชีวิตได้ และเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน
กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม เป็นกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทย
“กิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์มากและในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครศึกษา ที่ผ่านมาเคยมีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาและรายงานกิ้งกือชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทยแล้ว 105 ชนิด โดยเป็นกิ้งกือกระบอกหากแหลม 12 ชนิด แต่คาดว่าหากสำรวจกันอย่างจริงจังแล้วจะพบกิ้งกือชนิดใหม่ในไทยไม่ต่ำกว่า 500 ชนิด” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อศึกษาวิเคราะห์มูลกิ้งกือในการใช้เป็นปุ๋ย เพราะมีแร่ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพทัสเซียม รวมอยู่มาก แต่ต้องการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัด และจะส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีต่อไป รวมทั้งใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้มีบางจังหวัดนำกิ้งกือไปช่วยในการย่อยขยะบ้างแล้ว
กิ้งกือตะเข็บส้ม
สำหรับกิ้งกือชนิดอื่นที่พบในไทย ได้แก่ กิ้งกือยักษ์ กิ้งกือมังกร กิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกือเหล็ก และกิ้งกือขน ซึ่งกิ้งกือแต่ละชนิดล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากกินซากพืช ซากสัตว์ ลูกไม้ และผลไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร ทำหน้าที่เป็นเทศบาลกำจัดขยะ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศ ช่วยให้กล้าไม้ในป่าเจริญเติบโต ผลิดอกออกผลมาเป็นต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานแล้ว
กิ้งกือกระสุนเท้าดำ (ซ้าย) และกิ้งกือตัวแบน (ขวา)
กิ้งกือกระสุนน้ำตาล และกิ้งกือกระสุนส้ม
ทั้งนี้ ศ.ดร.สมศักดิ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหอย และเพิ่งเริ่มศึกษากิ้งกือเมื่อปี 2549 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการบีอาร์ที และก่อนหน้านี้นักวิจัยเคยค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ กิ้งกือหัวขาว และ กิ้งกือมังกรสีชมพู ที่ติด 1 ใน 10 อันดับการค้นพบครั้งสำคัญของโลกเมื่อปี 2551 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของกิ้งกือในประเทศไทย และจุดประกายให้คนสนใจกิ้งกือกันมากขึ้น
กิ้งกือดำเท้าชมพู กิ้งกือชนิดใหม่ของโลก
กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม กิ้งกือชนิดใหม่ของโลก
นิทรรศการภาพกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลก 12 ชนิด จัดแสดงภายใน TK park
ข้อมูล http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000065949