เรามักจะได้ยินคำว่า สเตียรอยด์ กันบ่อยๆ เช่นข่าวยาลูกกลอนผสมสเตียรอยด์ หรือเมื่อคุณไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลก็มักจะถูกแพทย์พยาบาลซักประวัติเสมอว่า ใช้ยาที่มีสเตียรอยด์หรือเปล่า สเตียรอยด์ คืออะไร และมีคุณสมบัติอย่างไร ?
สเตียรอยด์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างจากต่อมหมวกไต ซึ่งสเตียรอยด์ที่ถูกสร้างขึ้นมีหลักๆ อยู่ 2 ชนิด คือ คอร์ติโซล (cortisol) และอัลโดสเตอโรน (aldosterone)
คอร์ติโซล จะถูกหลั่งออกมามากที่สุดในตอนตื่นนอน และน้อยที่สุดในตอนนอนหลับ เมื่อร่างกายมีภาวะเครียดเกิดขึ้น เช่น มีไข้ มีบาดแผล ได้รับการผ่าตัด หรือมีการออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งคอร์ติโซลเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยควบคุมภาวะเครียดหรือความกดดันเหล่านั้น นอกจากนี้สเตียรอยด์ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายในการบรรเทาอาการอักเสบ ควบคุมสมดุลของเกลือแร่และน้ำ รวมถึงมีบทบาทต่อเมตาบอลิซึ่มของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ส่วนอัลโดสเตอโรนทำหน้าที่ควบคุมสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย คือโปแตสเซียมและโซเดียม หากมีอัลโดสเตอโรนหลั่งออกมามากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายขับโปแตสเซียมออกมาก กล้ามเนือ้อ่อนแรง และทำให้มีความดันโลหิตสูงได้
สำหรับสเตียรอยด์ที่ใช้เป็นยานั้น เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค รวมถึงใช้ทดแทนในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนดังกล่าวได้ สเตียรอยด์มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคมาก บางครั้งจำเป็นต้องใช้เป็นอันดับแรก เช่น การรักษาโรค SLE การแพ้ยา เป็นต้น สเตียรอยด์ยังมีการใช้ในผู้ที่มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เพื่อกดภูมิคุ้มกันและเกิดการยอมรับอวัยวะผู้อื่นได้ดีขึ้น นอกจากนี้สเตียรอยด์ยังมีการใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาอื่นๆ แล้วไม่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น
- รักษาโรคข้ออักเสบที่รุนแรง ควบคุมไม่ได้ด้วยยาทั่วไป แต่ถ้าสงสัยว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ห้ามใช้ สเตียรอยด์โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้น
- รักษาโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง ควบคุมด้วยยาอื่นไม่ได้ผล เช่น ยาต้านฮีสตามีนหรือยาขยายหลอดลม และควรใช้ในระยะเวลาสั้น
- ใช้ในรูปยาทาเฉพาะที่ในการรักษาโรคผิวหนัง เพื่อลดอาการอักเสบและยับยั้งอาการคัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการรักษาที่สาเหตุ ดังนั้นเมื่อหยุดยาโรคอาจกลับมาเป็นอีกถ้าต้นเหตุยังคงอยู่
เนื่องจากสเตียรอยด์มีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกระบบ การใช้สเตียรอยด์จึงอาจนำไปสู่อันตรายมากมาย ที่สำคัญได้แก่
การติดเชื้อ - สเตียรอยด์ขนาดสูงมีผลกดภูมิต้านทานของร่างกาย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราได้ง่าย
เกิดแผลในกระเพาะอาหาร - บางรายงานพบว่าสเตียรอยด์ทำให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น มีผลต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้บางลง และยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ทดแทนเนื้อเยื่อเก่าที่หลุดไป
ยับยั้งการเจริญเติบโตในเด็ก - การใช้สเตียรอยด์ต้องใช้อย่างระมัดระวังในเด็ก และไม่ควรใช้ติดต่อกันทุกวัน เนื่องจากสเตียรอยด์มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย
ทำให้กระดูกผุ - การใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้กระดูกผุได้
ผิวหนังบาง - สเตียรอยด์ในรูปของยาทาภายนอก มีผลทำให้ผิวหนังบาง
เกิดลักษณะ Cushings syndrome - การใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการบวม ขนดก ผิวเข้มขึ้น เป็นต้น
อันตรายจากยาสเตียรอยด์ ส่วนมากมักเกิดจากการใช้ยาผิดขนาด การใช้โดยไม่มีความจำเป็น หรือการใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น รับประทานยาตอนท้องว่าง ใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่นนี้เองที่ต้องพึงระวังในการใช้ยาโดยเฉพาะยาลูกกลอนที่มักมีส่วนผสมของสเตียรอยด์
ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today