ทุกคนปรารถนาอยากให้ตนเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเพื่อนสนิทมิตรสหาย ญาติ หรือคนใกล้ชิด อีกทั้งยังอยากให้คนอื่นมาเคารพนบนอบ และสรรเสริญเยินยอตนเองด้วยกันทั้งหมดทั้งสิน
แต่จะมีสักกี่คนที่ได้สมความมุ่งมาตรปรารถนา ทั้งนี้เพราะเกิดจากการขาดหลักธรรม หรืออาจจะเพราะไม่รู้ว่ามีหลักธรรมดังกล่าว จึงมิได้นำมาประพฤติปฏิบัติ ผู้เขียนเองก็ไม่เคยทราบมาก่อน เมือมาค้นพระไตรปิฎกดู ก็ปรากฎว่ามีหลักธรรมที่ทำให้เป็นที่รักอยู่ หากนำมาเผยแพร่ และมีผู้นำไปปฎิบัติอย่างน้อยก็จะมีคนมารักเพิ่มขึ้น ถึงแม้นจะไม่มีอย่างน้อยเราก็รักตัวเองขึ้นมาบ้าง
นอกจากนี้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างสัปดาห์แห่งความรักยังไม่จางหายไป ท่านที่ผิดหวังอาจจะได้ย้อนคิด มีเวลามาไตร่ตรองดูตามหลักธรรมว่า ที่เขาทิ้งเราไปเพราะเหตุใด เราขาดหลักธรรมในข้อไหน หรือเราผิดอะไร... เขาจึงทำกับเราได้
พระบรมศาสดาได้เคยตรัสเกี่ยวกับธรรมะที่ทำให้เป็นที่รักไว้ใน ทุติยอัปปิยสูตรไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อน คือ
๑. ไม่เป็นผู้มุ่งลาภ
๒. ไม่เป็นผู้มุ่งสักการะ
๓. ไม่เป็นผู้มุ่งความมีชื่อเสียง
๔. เป็นผู้รู้จักกาล
๕. เป็นผู้จักประมาณ
๖. เป็นคนสะอาด
๗. ไม่เป็นคนชอบพูดมาก
๘. ไม่เป็นผู้ด่าบริภาษเพื่อน"
ในทำนองเดี่ยวกัน หากเราต้องการให้คนอื่นไม่รัก ไม่พอใจเราก็ให้กระทำตรงข้ามกับหลักธรรมดังกล่าวนี้เช่นกัน
... แม้พระองค์จะประทานให้กับพระสาวก แต่พุทธศาสนิกชนก็นำมาปรับและประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้เช่นกัน เพราะหลักธรรมมีความใหม่ ทันสมัย และใช้ได้อยู่เสมอ