การที่มีบุคคลบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ แล้วปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศ และบ้านพักคนงาน ถือว่า เป็นการทำลาย ทำให้สูญหาย ทำให้เสื่อมสภาพอุทยานแห่งชาติแล้ว
ปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน ซึ่งอยู่ภายใยเขตอุทยานแห่งชาติ และทำการปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศ บ้านพักคนงาน รีสอร์ท แผ้วถางป่า และก่นสร้าง แล้วทำการเกษตรปลูกมันสัมปะหลัง อ้อย และไม้ผลต่าง ๆ ทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย มีผลกระทบต่อสภาพป่าไม้ ทำให้ป่าไม้ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ เมื่อเกิดพายุฝน ก่อให้เกิดดินถล่ม ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป
กรณีมีปัญหาว่า การที่มีบุคคลบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติ แล้วได้ปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศและบ้านพักคนงาน ตามกฎหมายจะริบบ้านพักได้หรือไหม ?
กรณีดังกล่าวเคยมีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา มีข้อเท็จจริงโดยสรุปดังนี้... จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศ 1 หลัง บ้านพักคนงาน 1 หลัง แผ้วถางป่าและก่นสร้างแล้วทำการเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง และไม้ผล อันเป็นการทำลาย ทำให้สูญหาย ทำใหเสื่อมสภาพอุทยานแห่งชาติ และทำให้เป็นอันตรายเสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด ทราย โดยไม่ได้รับอนุญาต
เจ้าพนักงานป่าไม้จึงเข้ายึดบ้านพัก 1 หลัง และบ้านพักคนงาน 1 หลัง อันเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด และใช้เป็นอุปกรณ์ ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเป็นของกลาง
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล ขอให้ลงโทษตามกฎหมายและขอให้ศาลสั่งริบบ้านพักตากอากาศ และบ้านพักคนงานของกลางดังกลาวด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเห็นว่า บ้านพักของกลางทั้งสองหลัง ที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาตินั้น มิใช้เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรงตามพระราชบัญญัติป่าไม้ จึงไม่อาจยึดได้
แต่ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ฯ มาตรา 22 บัญญัติว่า " ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติ ผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลาย หรือรื้อถอนสิ่งนั้น ๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้น ๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณี ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่จะกระทำการดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น "
แสดงว่า ในกรณีมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นในอุทยานแห่งชาติ โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแห่งชาติ ฯ กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ดำเนินการ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้น แม้จะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านพักของกลางทั้งสองหลัง แต่มีคำขอให้ริบ ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้งสองหลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติได้ ( คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2551 )