ความโลภเข้าครอบงำจิตใจผู้ใด จะไม่ทำลายเฉพาะตัวเขาเองเท่านั้น หากควบคุมไม่ได้ จะทำให้ผู้อยู่ใกล้ชิด ครอบครัว และสังคม ได้รับผลกระทบจากความโลภดังกล่าวด้วย ส่งผลเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จะมากหรือน้อยอยู่ที่ความรุนแรงของความโลภ และการขาดความควบคุม จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะควบคุมความต้องการของตนให้อยู่ในขอบเขต มิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
ที่ดินเป็นทุนอย่างหนึ่ง ที่ทุกคนต้องการไว้เป็นสมบัติตัวเอง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าในปั้นปลายของชีวิตไม่สามารถจะนำติดตัวไปได้ แต่ก็ต้องการเพื่อมอบให้ลูก หลานและคนที่รัก เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวบางคนถึงกับต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็มี
กรณีมีปัญหาว่า การที่คนอื่นได้ทำหนังสือตกลงยินยอมยกที่ดินให้แล้ว แต่ต่อมาไม่ยอมยกให้ โดยอ้างว่าการยกให้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงไม่สมบูรณ์จะทำอย่างไร ?
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลมาแล้ว โดยได้ความว่า โจทก์กับจำเลยได้พิพาทกันที่ดิน แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงไปเจรจากันที่ที่ว่าการอำเภอ ได้ทำหนังสือยอมความกันต่อหน้าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองว่า จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยจะโอนให้ในวันที่ 28 ของเดือนเดียวกันและโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ต่อมาปรากฎว่าจำเลยไม่ไปดำเนินการตามที่ตกลงกัน โจทก์นำคดีดังงกล่าวมายื่นฟ้องต่อศาล
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยตกลงยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน จึงหาใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หา ที่จะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย และมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย 2 คน โจทก์ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีจำเลยได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 7864/2547)
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า เมื่อมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินกับใคร..อย่าลืม...จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ (ป.พ.พ.มาตรา 851 )
หากท่านมีปัญหากฎหมายคราใด อย่าลืมโทรไป 1157 ครับ...!!!