ชบาดำ
เครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (คสตส.)
..........................................................................................
จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นทวีคูณในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มความรุนแรง และไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายได้อย่างเร็ววัน ซึ่งสามารถเห็นได้จากการประเมินเชิงวิเคราะห์จากจำนวนสถิติหญิงม่ายและเด็กกำพร้าที่ได้รับผล
กระทบจากสถานการณ์ไฟใต้ในรอบ 5 ปี ด้วยข้อมูลของศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข เดือนมกราคม 2547 - สิงหาคม 2551 ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
เด็กกำพร้า 3,014 คน แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 921 คน จังหวัดยะลา 821 คน จังหวัดนราธิวาส 1,141 คน จังหวัดสงขลา 131 คน
ขณะที่หญิงม่ายมีจำนวน 1,605 คน แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 542 คน จังหวัดยะลา 821 คน จังหวัดนราธิวาส 492 คน และจังหวัดสงขลา 69 คน
อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงในระดับที่น่ากลัวและโหดร้ายยิ่งขึ้น ดังนั้นเครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ หรือคสตส. จึงเกิดแนวคิดที่จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยการรวมกลุ่มนักศึกษาหญิงและบัณฑิตหญิงจากหลายสถาบัน ก่อตั้งเป็นเครือข่ายขึ้นมา และมีนโยบายหลัก คือเข้าไปเยียวยาให้กำลังใจกับผู้สูญเสีย นั่นคือ สตรีที่เป็นแม่และเด็กๆ ที่เป็นลูก ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับได้รับผลกระทบจากการสูญเสียพ่ออันเป็นที่รัก หรือพี่ชาย หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลที่ผู้เป็นแม่ของลูกๆ ได้รับ โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากต่อการเยียวยาเพื่อให้กลับสู่สภาพเดิมได้
โครงการเยียวยาผู้สูญเสีย จะเข้าไปสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และให้กำลังใจ อีกทั้งหาแนวทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวเหล่านี้ต่อไป
ทางเครือข่ายฯได้จัดโครงการมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ได้จัดโครงการเยียวยาผู้สูญเสียเพื่อเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน 2551 จากการเยียวยาครั้งนี้ ทางเครือข่ายฯได้ทราบข่าวคราวความเป็นอยู่จากผู้สูญเสีย โดยการเข้าไปสัมภาษณ์ครอบครัวผู้สูญเสีย ครอบคลุมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้ 1. จังหวัดนราธิวาส ในอำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอรือเสาะ 2. จังหวัดปัตตานี ในอำเภอยะหริ่ง และอำเภอยะรัง 3. จังหวัดยะลา ในอำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา 4. จังหวัดสงขลา ในอำเภอสะบ้าย้อย
ครั้งที่ 2 ทางเครือข่ายฯได้ร่วมกันจัดโครงการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน เสริมสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมกับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) และเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) ในกิจกรรมที่มีชื่อว่า “แบ่งปันความสุขสู่ชุมชน เยียวยาผู้สูญเสีย” ระหว่างวันที่ 6 – 16 เมษายน 2552 โดยครั้งนี้ทางเครือข่ายฯได้เชิญนักศึกษาจากหลายๆสถาบัน และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการฯด้วย
ซึ่งการเข้าไปเยียวยาในครั้งที่ 2 นี้ ทางเครือข่ายฯได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง และความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้สูญเสียมากขึ้น ดังเช่น กรณีเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของ นางมัสกะห์ ตาเย๊ะ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส โดยความเศร้าสลดหดหู่ใจนี้ ไม่รู้ว่าจะมีใครหยั่งถึงความรู้สึกหัวอกผู้เป็นแม่และภรรยาที่ต้องสูญเสียลูกและสามีในเวลาเดียวกันบ้างหรือเปล่า แต่สำหรับ คสตส.แล้ว มิเพียงแต่ความเศร้าโศกเท่านั้นที่หยั่งถึง ยังรวมทั้งความแค้นอันมหาศาลของนางต่อกลุ่มคนร้ายที่สังหารโหดลูกกับสามีของตัวเองด้วย
เหตุการณ์น่าสลดนี้เกิดขึ้นเมื่อเย็นวันที่ 11 เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2551 เป็นวันเวลาที่นางได้สูญเสียสามีหรือพ่อของลูกๆซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว และลูกชายคนโตซึ่งเป็นกำลังหลักในครอบครัว เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสตรีที่ทำหน้าที่ภรรยาและแม่ของลูกๆ เพียงคนเดียว ซึ่งต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูลูกๆ อีกถึง 6 คน อันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลบางกลุ่มเพื่อผลประโยชน์หรือความมั่นคงหรือเพื่อเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ ล้วนเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เมื่อผลที่ได้รับนั้นคือความสุขอันน้อยนิดของตน แต่เป็นความทุกข์ตลอดชีวิตของบุคคลอื่น นั่นคือสตรีและเด็กอันบริสุทธิ์และไร้เดียงสาอีกมากมาย โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดเลย
ตามการให้สัมภาษณ์ของนางมัสกะห์ ตาเล๊ะ เหตุเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าบ้านของเขาซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. เมื่อสามีของนางชื่อ นายอีซอ ตาเล๊ะ ซึ่งเป็นโต๊ะอีหม่ามในหมู่บ้านไอร์เสตีย หมู่ที่ 5 ต. บูกิต อ. เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และลูกชาย นายมูฮัมหมัด ตาเล๊ะ ได้กลับจากการซื้อของ ระหว่างที่กำลังลำเลียงสิ่งของเข้าไปในบ้านนั้น มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ขับรถเก๋งสีดำยี่ห้อ VIOS ผ่านเข้ามาพร้อมกราดยิงไปที่ 2 คนพ่อลูก เมื่อสิ้นเสียงปืน ทันใดนั้น คนร้ายก็ขับรถหนีออกไป ทั้ง 2 คนเสียชีวิตทันที
จากเหตุการณ์นี้ตำรวจไม่สามารถจับผู้ร้ายมาลงโทษได้อีกตามเคย แต่ไม่สำคัญเท่าจิตใจของผู้เป็นแม่และลูกๆ ที่เกิดความหวาดกลัว หดหู่ และหมดกำลังใจที่จะดำรงชีวิตต่อไป ไหนจะต้องแบกภาระอันยิ่งใหญ่ที่ผู้เป็นแม่ต้องมารับผิดชอบเมื่อขาดผู้นำครอบครัว อีกทั้งการดูแลลูกๆ ที่เหลือ พร้อมทั้งคำถามที่มาจากความไร้เดียงสาของเด็ก สอบถามถึงพ่อและพี่ชายของตนเอง ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดในจิตใจของผู้เป็นแม่มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันครอบครัวนี้ยังคงค้าขายเลี้ยงครอบครัวเช่นเดิม โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในการช่วยหาซื้อสินค้า แต่มีจำนวนน้อยลงกว่าเก่า ประกอบกับยังมีลูกเล็กที่ต้องคอยเลี้ยงดู จึงไม่สะดวกนัก ส่วนลูกๆ ก็มีผู้เห็นใจและเข้ามาช่วยเหลือทางด้านทุนการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคารพนับถือผู้เป็นพ่อนั่นเอง
แม้จะดูเหมือนว่า ครอบครัวนี้จะยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติเหมือนชาวบ้านทั่วๆ ไป แต่ใครจะรู้ละว่าจิตใจของคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นแม่นั้นยังคงเศร้าและหดหู่ใจแค่ไหน คงไม่มีใครสามารถรักษาบาดแผลที่ฝังรากลึกลงในจิตใจของผู้หญิงคนนี้ได้ อีกทั้งเธอยังคงต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งเหล่านี้ต่อไป ตราบเท่าที่ลมหายใจนี้ยังคงมีอยู่ พร้อมๆ กับความโหยหาถึงความยุติธรรมที่อยู่ในความฝันอันลมๆแล้งๆ