ครูบ้านป่า...สลา คุณวุฒิ
คุณคงเคยได้ยินเพลง...จดหมายผิดซอง, กระทงหลงทาง, ยาใจคนจน, ล้างจานในงานแต่ง, ปริญญาใจ และมากมายหลายเพลงที่ดังติดหู ร้องได้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งผู้สร้างสรรค์งานเพลงอันไพเราะ ฟังแล้วโดนใจจนต้องบอกว่า “ใช่” จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากครูเพลงคนอุบลฯ... สลา คุณวุฒิ
เข้าวงการแต่งเพลงได้อย่างไร?
ครูสลา : “เป็นความบังเอิญ 60% อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่อยู่ ป.5-ป.6 ฝึกเขียนหนังสือมาเรื่อย ตอนเด็กๆจะเป็นเด็กเรียน แต่ด้วยความที่เป็นคนง่ายๆ ก็เลยมีทั้งเพื่อนเรียนและเพื่อนขี้เล่น เพื่อนพวกนี้จะมีข้อดีอยู่อย่าง คือมีความคิดสร้างสรรค์ เราก็เลยได้สิ่งเหล่านี้มาจากเพื่อนโดยไม่ได้ตั้งใจ ผมสังเกตว่าเวลาเพื่อนอ่านงานเขียนจะรู้สึกเฉยๆ แต่เวลาเขียนกลอนเพื่อนจะชอบ ก็เลยหันมาเริ่มต้นแต่งเพลง แต่งแบบไม่รู้เรื่อง เล่นดนตรีก็ไม่เป็นแต่เข้าใจ...เข้าใจแบบเดาๆ อาศัยเป็นนักอ่าน นักฟังเพลง เวลาเพื่อนจะไปจีบสาวเขาก็ให้เราเขียนเพลงให้ เขียนไปเขียนมาก็เลยตั้งวงดนตรี “อ้อคำ” แต่พอกำลังจะไปได้ดีก็เรียนจบก่อน ช่วงนั้นแม่ป่วยเป็นเบาหวาน ก็เลยรีบไปสอบบรรจุเป็นครูอยู่ อ.ลืออำนาจฯ พอดี อ.รุ่งเพชร แหลมสิงห์มาร้องเพลงที่ทุ่งศรีเมือง เพื่อนก็แนะนำให้ลองเอาเพลงที่แต่งไปเสนอดู ผมก็รวบรวมเพลงได้ 20 เพลง ท่านก็เลือกไปอัดเพลงเดียวคือเพลง "สาวชาวหอ”
ได้ยินเพลงที่ตัวเองแต่งออกอากาศรู้สึกอย่างไร?
ครูสลา : “มันเป็นความรู้สึกที่เรียกว่า “ได้ใจ” ก็เลยมาแต่งเพลงแบบเอาเป็นเอาตาย ช่วงนั้นมีเวลาว่างเยอะสอนหนังสือเสร็จตอนเย็นก็เล่นฟุตบอล ค่ำมาว่างก็เขียนหนังสือ อีกอย่างเราก็ไม่ค่อยได้ไปไหน ก็เลยแต่งเพลงได้เยอะเลย แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องเอาดีทางนี้ รู้แต่ว่าทำแล้วมันสนุก ช่วงนั้นเพื่อนก็ชวนตั้งวงดนตรี ”เทียนก้อม” เริ่มซื้อหนังสือเพลงมาเปิดดู แล้วก็ส่งเพลงที่แต่งไปตามค่ายเพลง ส่งไปทุกเดือนไม่เคยหยุด ถ้าจะนับก็ประมาณ 10 ปีเห็นจะได้ ก็ไม่มีใครติดต่อมา เพื่อนๆก็ชวนตั้งวงดนตรีอีกชื่อวง “กังหัน”
อะไรที่ทำให้ครูสลาส่งไม่เคยหยุดที่จะส่งงานเพลง?
ครูสลา : “ไม่เคยคิดจะหยุดแต่ง ไม่เคยคิดจะหยุดส่งและก็ไม่คาดหวัง แต่ทำแล้วมันสนุก เพราะเราก็มีอาชีพเป็นครูอยู่แล้ว คิดแต่ว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นนักเขียนให้ได้ มุ่งมั่นในการเป็นนักเขียนมากกว่า ผมชอบเขียนนิยายท้องไร่ท้องนา ภาษาสวยๆ แบบครูนิมิต ผมส่งจนกระทั่งได้เป็นครูใหญ่ แต่พอแม่ป่วยหนักเป็นมะเร็ง หมอรักษาไม่ไหวให้แม่กลับมาอยู่บ้าน ผมก็เลยอยากได้เงินสักก้อนมารักษาแม่ ก็เลยแต่งเพลงอย่างหนักและเริ่มคาดหวัง
“ตอนที่ดูใจแม่ตั้งใจว่าจะแต่งให้ได้ 12 เพลงแล้วจะเอาเข้ากรุงเทพฯ แต่แต่งได้แค่ 8 เพลงแม่ก็เสียซะก่อน ก็เลยได้เพลงไปส่งค่ายเพลงชัวร์ ออดิโอ้ 8 เพลง กะส่งทิ้งทวน แล้วจะหันมาเอาดีทางสายบริหารการ ศึกษา ปรากฏว่า 8 เพลงที่ส่งไป มนต์สิทธิ์ คำสร้อย เลือกเอา 2 เพลงไปร้องในอัลบั้ม แล้วทางค่ายก็บอกให้แต่งไปให้อีก ก็เริ่มมีกำลังใจ ผมก็เลยส่งเพลง “จดหมายผิดซอง” ซึ่งเป็นเพลงที่เคยแต่งไว้สมัยที่เป็นครู มนต์สิทธิ์ก็ชอบและเอาไปอัด ระหว่างที่รอเพลงนี้ออกอากาศ กลอนลำเพลง”ล้างจานในงานแต่ง”ของศิริพร อำไพพงษ์ ที่ผมแต่งให้ดังระลอกแรก ในเวลาไล่เลี่ยกัน เพลงจดหมายผิดซองก็ออกอากาศแล้วก็ดังระลอกสอง ก็เลยเป็นที่รู้จัก หลังจากนั้นก็ได้แต่ง “กระทงหลงทาง” ให้ไชยา มิตรไชย
ต่อมาแกรมมี่ก็มาทาบทามเพื่อไปร่วมงานกับไมค์ ผมก็ไปร่วมลุ้มลุกคลุกคลานกับเขาอยู่ประมาณ 3 ชุด จนชุดที่ 5 “ยาใจคนจน” ซึ่งชุดนี้มีความรู้สึกว่าเริ่มเข้าใจการทำงานมากขึ้น เมื่อก่อนมันอ๋อมาเรื่อย แต่ก็ยังไม่ใช่ แต่พอเราเข้าใจ ความแม่นยำมันก็เกิดขึ้น เราก็รู้แล้วว่าจะจัดการกับมันอย่างไร ในที่สุดก็เลยออกมาเป็น ”ปริญญาใจ”, “รองเท้าหน้าห้อง” แล้วก็อีกหลายเพลงตามมา ถึงวันนี้ก็ประมาณ 700 เพลงมั้ง
"พองานมากขึ้น เวลาเริ่มไม่ลงตัว เพราะต้องรับหน้าที่ Producer ต้องไปคุมเอง หลังๆนี่ต้องดูทุกอย่าง พูดง่ายๆ คือปั้นศิลปินขึ้นมาให้ดัง ปี 43 ก็เลยตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู“
ในการแต่งเพลงครูสลาได้แรงบันดาลใจมาจากไหน?
ครูสลา : “มันมาจากหลายทาง อย่างแรกมาจากสิ่งรอบตัว 2. คือ คำ คิดคำดีๆเจอคำดีๆ ก็เอามาแต่ง อย่างที่ 3 คือสร้างเรื่องขึ้นมาเหมือนนิยาย สมมติเห็นรองเท้า 2 คู่อยู่หน้าห้อง ก็สร้างเรื่องขึ้นมาเหมือนกับว่ามันเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง ตรงนี้ผมอาจจะได้เปรียบเพราะชอบเขียนเรื่องสั้นมาก่อน 4.ได้จากตัวนักร้อง ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์ขั้นสูง ถือว่ายากสุด ซึ่งผมเริ่มทำได้แล้วหลังจากทดลองกับต่าย พูดง่ายๆ คือแต่งเพลงให้เหมาะกับบุคลิกนักร้อง เราจะรู้ได้ไงว่าเขาเป็นคนยังไง สำหรับผมก็จะใช้วิธีแอบดูว่าเขาเป็นคนแบบไหน พูดอย่างไร มันก็เลยเป็นเหตุผลว่าต่ายไม่มีเพลงเร็วเพลงเต้น เพราะคนดูเขาก็ไม่เชื่อ พูดง่ายๆ ภาษาบ้านเราคือ “เฮ็ดแนวมันคือ แนวมันไม่คืออย่างเฮ็ด” ถ้าบ้านเราว่าไม่คือ ก็แสดงว่าไม่ดังหรอก คำว่าคือคำเดียวที่เขาใช้ตัดสินนักร้อง”
เวลาที่เพลงครูดัง มีคนร้องได้รู้สึกอย่างไร?
ครูสลา : “ดีใจ นี่คือรางวัลที่แท้จริงเหนือกว่ารางวัลอื่นๆ เป็นค่าตอบแทนสูงสุด บางคนอาจจะมองว่าได้มาง่าย เพลงนี้ก็ดัง เพลงนั้นก็ดัง แต่ถ้าได้มันก็ถือว่ามหัศจรรย์ คน 60 กว่าล้าน มีเพลงเป็น 1,000 เพลง แต่มีเพลงเราอยู่เพลงหนึ่งที่มีคนชอบ ผมไปได้ข้อสรุปนี้ตอนไปนั่งที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ไม่มีใครรู้จักผมเลย นั่งๆ อยู่ก็ได้ยินเขาเปิดเพลงที่เราแต่ง ก็นั่งยิ้มอยู่คนเดียว บ้านเราเรียกว่า “เป็นตางึด” คนตั้งเยอะ ไม่มีใครรู้จักเรา แต่เขาฟังเพลงเรา นี่คือค่าตอบแทนสูงสุดของคนสร้างงานศิลปะผู้หนึ่ง”
ทำไมถึงแต่งเพลงให้ผู้หญิงร้องได้โดนใจมาก เพราะครูสลาเป็นผู้ชาย?
ครูสลา : “ไม่แตกต่าง เพราะว่าเราอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ได้แยกเพศ เพียงแต่มันอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่าง แต่เราก็เข้าใจ ก็ไม่รู้สิ บางทีก็งงตัวเองเหมือนกัน (หัวเราะ) อาจจะเป็นเพราะเคยเป็นครูมานาน และช่างสังเกต สมมติผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าเขาจะพูดคำหนึ่งออกมาแสดงว่าต้องเกินทนจริงๆ เราก็แอบจำความรู้สึกเหล่านี้ อาจจะเป็นเพราะใกล้ชิดกับแม่มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยเข้าใจความรู้สึกผู้หญิง ส่วนหนึ่งคือเราอ่านนิยาย-เรื่องสั้นเยอะ ก็เลยเข้าใจตัวละคร ชอบอ่านหนังสือศาลาคนเศร้า(หัวเราะ) ชอบตรงที่ความซื่อ ความดิบ ถ้าจะพูดในแง่ของการเคารพความรู้สึก หนังสือเล่มนี้มันสะอาด ชาวบ้านคนหนึ่งอกหัก เขาคิดอย่างไรเขาก็พูดออกมาอย่างนั้น มันทำให้เห็นคำหลายๆ คำที่สะท้อนบุคลิกของผู้ชายกับผู้หญิงได้อย่างชัดเจน“
กว่าจะออกมาเป็นเพลงๆหนึ่งใช้เวลานานแค่ไหน? ครูสลา : “สมัยก่อนใช้เวลาไม่นาน เพราะยังไม่มีกรอบมากมาย แต่ทุกวันนี้เขียนได้ช้าลง อาจจะเป็นเพราะความล้าของร่างกายและสมอง อาจจะเป็นเพราะเรารู้มากเกินไป เป็นลักษณะเขียนแบบนี้ไปติดตรงนั้น เขียนแบบนั้นไปติดตรงนี้ เดี๋ยวคนนั้นคนนี้จะว่าหรือเปล่า ยิ่งรู้มากยิ่งหาที่หลบหลีกยาก จะไม่แคร์ก็ต้องแคร์ อันที่จริงเวลาในการแต่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่กว่าจะเตรียมความพร้อม กว่าจะปั้นมันออกมาให้เป็นเพลงได้ เฉลี่ยแล้วก็ใช้เวลาประมาณวันละเพลง นี่ขนาดเป็นคนอยู่ติดบ้าน แต่ถ้ามีเวลาก็จะออกไปแผงหนังสือ-แผงเทปนี่คือแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ ถ้าได้เข้าแล้วอยู่ได้ทั้งวัน”
เห็นตามสื่อต่างๆ ครูสลามักจะใส่เสื้อผ้าฝ้ายแนวอีสาน
ครูสลา : “มันมาจากความชอบ เพราะเราเป็นลูกชาวบ้าน เสื้อผ้าที่ใส่ก็มาจากผ้าฝ้ายที่แม่ทอ พอโตขึ้นก็ใส่เสื้อม่อฮ่อม ใส่แบบนี้มาจนมีความรู้สึกว่านี่คือตัวเรา “แบบนี้มันคือเจ้าของ” พอเห็นร้านขายผ้าฝ้ายอยากแวะทุกที เพราะมันคือเจ้าของ (หัวเราะ) จนใครๆ บอกว่าเป็นเครื่องแบบครูสลา พอเราชินมันก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันง่ายดี แล้วผมก็จะบอกลูกศิษย์ศิลปินบ้านเราให้ช่วยรณรงค์เรื่องนี้ว่า จะแต่งตัวอย่างไรก็ได้แต่ต้องให้เขารู้ว่าเราเป็นคนอุบลฯ อะไรเล็กๆน้อยๆ ถ้าทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ทำ อาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนชาตินิยม จะชอบอะไรที่เป็นอุบลฯ ชอบภาษาบ้านเรา อย่างชื่อวงที่แต่งก็ต้องมีคำอีสาน หรืออาจจะเป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจาก อ.จรัญ มโนเพชร "ผมชอบคนที่กล้าบอกตัวตนในความเป็นคนบ้านตัวเอง”
จริงๆ แล้วครูสลาเป็นคนแบบไหน?
ครูสลา : “ค่อนข้างเครียดพอสมควร คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นคนอารมณ์ดี ผมว่าศิลปินทุกคนจะเป็นแบบนี้ แต่จะเครียดโดยงาน ช่วงหลังนี่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนขี้หงุดหงิด อาจจะเพราะความกดดัน ต้องทำงานตามกำหนดตลอด อีกอย่างพอได้มายืนตรงนี้ มันจะมีความกดดันในเรื่องของแรงเสียดสีจากภายนอกที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่มันเกิดขึ้น…”
“มันก็เริ่มชินบ้าง แต่พอโดนบ่อยๆ เข้า มันก็รู้สึกว่าอีหยังกะด้อกะเดี้ย ...(อะไรกันนักกันหนา) บางคนก็เขียนเรื่องของเราโดยที่ไม่เคยมาถามเลยสักคำ แต่ก็มองว่าไม่ได้โดนเราคนเดียว วิธีจัดการกับความเครียดคือใช้ธรรมะ ต้องตั้งสติ ถ้าจะเปรียบมันก็เหมือนเราเดินไม่หยุด เป็นธรรมดาที่ต้องเจอทางขาด ถ้าไม่อยากเจอปัญหาก็ต้องหยุดเดิน นั่นก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ทำอะไร ในเมื่อเราเดินไม่หยุดยังไงก็ต้องเจออุปสรรค มันอาจจะไม่สามารถสร้างความพอใจให้กับคนรอบข้างได้ทั้งหมด อาจจะแค่ 70% ก็ถือว่าบุญแล้ว อีก 30% ก็เผื่อไว้ให้คนเกลียดบ้าง”
ถึงวันนี้ครูสลาประสบความสำเร็จหรือยัง?
ครูสลา : “มันไม่มีความสำเร็จที่ 100% มันเป็นความสำเร็จชั่วขณะหนึ่งจากความลงตัวของหลายๆ อย่างรวมกัน เรียกว่าเราได้โอกาสมากขึ้น แต่จะไม่เรียกว่าความสำเร็จ ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่มันจะไม่มีความสำเร็จอย่างแท้จริง มันจะไปเรื่อยๆ มันจะมีขึ้นมีลง แต่จะเรียกว่าได้รับโอกาสจากสังคม ตัวนี้มากกว่าที่เรียกว่ามันเป็นสิ่งที่เกินฝันของเรา จากคนที่หวังว่าจะเป็นครูบ้านนอกคนหนึ่ง เวลาว่างเขียนหนังสือ มีความสุขตามอัตภาพ ก็ไม่รู้ว่าก้าวมาอย่างไรจนคนรู้จักมากมายขนาดนี้”
เคยคิดออกแบบอนาคตตัวเองหรือเปล่าว่าอยากให้เป็นอย่างไร?
ครูสลา : “ผมอยากใช้ชีวิตที่สงบ กะว่าบั้นปลายชีวิตจะทำไร่นาสวนผสม อยากอยู่กับธรรมชาติ จะถ่ายภาพและก็เขียนหนังสือ มีพิพิธภัณฑ์ครูสลา มีทุ่งนา มีห้องทำงาน แต่ตอนนี้มันยังเป็นไปได้ยาก เพราะชีวิตไม่ได้มีแค่เรา หลายคนอาจจะมองว่าผมรวย แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ถ้าเราเห็นแก่ตัวเราอาจจะรวยไปแล้ว(หัวเราะ) บางครั้งว่าจะเลิกทำแต่มันก็เลิกไม่ได้โดยปริยาย แต่ก็ไม่ได้คาดหวัง ก็จะทำในสิ่งที่เรารักตามจังหวะที่ทำได้”
ครูสลาอยากจะบอกอะไรกับคนอุบลฯบ้างคะ?
ครูสลา : “อยากให้ช่วยกันดีใจที่บ้านเรามีนิตยสารเป็นของตัวเอง ผมดีใจนะที่ได้เห็นและได้อ่านหนังสือของคนอุบลฯทำอย่างเวคอัพ อยากให้ช่วยกันดูแล และฝากขอบคุณพี่น้องที่ช่วยอุ้มชูผมและครอบครัว ซึ่งเราได้รับเกียรติอย่างคาดไม่ถึง และอยากให้ช่วยกันดูแลลูกหลานคนอุบลฯ ไม่ว่าจะเป็นสาขาไหน เพราะการหาคนดีเจอสักคนมันเป็นเรื่องยาก แต่การดูแลคนดีมันยังเป็นปัญหาของสังคมไทยเรา ถ้าเราช่วยกันปรับตรงนี้จะดีมาก เขาอาจจะมีข้อเสียบ้างแต่รวมๆ แล้วเขาดีก็ช่วยกันสนับสนุนเถอะ อย่างน้อยเขาก็เป็นคนอุบลฯ
ผมคิดว่าทุกคนรักบ้านเกิด อยากทำสิ่งดีๆ ให้บ้านเมืองตัวเอง บทพิสูจน์ก็อยากให้ดูวันนี้ที่เรามีคอนเสิร์ตดอกบัวเกมส์ ศิลปินบ้านเราทุกคนมาช่วยกันโดยไม่มีค่าตัว นี่เป็นผลพวงจากการที่เราช่วยกันดูแล” (ประโยคพวกนี้เอาเป็นคำโปรยนะ)
คำสอนครูสลา
คนเราจะเป็นแบบนี้ ถ้าต่ำกว่า จะโดนเหยียบ
ถ้าเท่ากัน จะถูกอิจฉา
ถ้าเหนือกว่า เขาอยากเป็นเพื่อน
คนที่จะเป็นนักแต่งเพลงได้ ต้องเป็นคนที่รักเพลง
รักอ่านและก็รักเขียน ถ้าไม่รักทำไม่ได้
.ถ้าพูดถึง บทเพลงคุณครูสลา คุณวุฒิ แล้วก็อดที่จะเอ่ยถึงอีกท่านหนึ่งไม่ได้ เพราะท่านอยู่ในหัวใจชาวค.ช. ( โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ ) เสมอมา คุณครูบัญชา เกียรติจรุงพันธ์ ผู้ประพันธ์เพลงมารช์โรงเรียน........
เราอดปลื้มและภาคภูมิใจไม่ได้..ที่ภาคอีสานเรามีเพชรเม็ดงามส่องประกาย ฉายแสงแห่งความสุข ความสร้างสรรค์ ในด้านเสียงเพลงลูกทุ่งซึ่งล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาสาระที่กินใจ และโดนใจจริงๆ..สมแล้วที่คุณครูบัญฃา เกียรติจรุงพันธ์ (อดีตครูสอนที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ ปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ) ได้กล่าวขวัญชื่นชมถึงเพื่อนรักเสมอมา...คุณครูบัญชาเอง ก็ได้ให้เกียรติแต่งเพลงมารช์ประจำสถาบัน โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ ไว้เฃ่นกันขอชื่นชมและขอบพระคุณคุณครูที่ได้ใช้พรสวรรค์ ความรู้ ความสามารถในการแต่งเพลง ให้เราใช้จนถึงทุกวันนี้..ยังระลึกนึกถึงเสมอค่ะ
ขอบพระคุณที่มาข้อมูล
ฟังเพลง ยาใจคนจน http://charyen.com/jukebox/play.php?id=3049
ฟังเพลง ปริญญาใจ