การบริหารงาน หมายความถึงวิธีการใช้ "คน งาน เวลา และทรัพยากร "ที่มีอยู่ เพื่อปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าประสงค์และนโยบายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด(เอกสารประกอบ เรื่องศิลปะการบริหารงานของหัวหน้า :พลตรีเอนก แสงสุต)
๑. " คน " ถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด หากบริหารคนได้ งานก็จะสำเร็จด้วยทีมงานที่ดี มีคุณภาพ และคุ้มค่า
แต่เหนือสิ่งใด "ใจ" ของคนสำคัญกว่าคน หากครอง"ใจ"ได้ การครองคนและครองงานก็ง่าย ก็จะทำให้งานบรรลุผลได้สมปรารถนาทุกประการ
ผญาได้แนะนำในการบริหารคนไว้ว่า
" คั่นสิเป็นขุนให้ ถามดูไพร่ คั่นแม่นไพร่บ่ให้ แปลงบ้านกะบ่ฮุงเฮือง "
หมายความว่า เป็นนายหรือผู้บริหารจะทำงานใด ควรจะปรึกษาหารือหรือทำ KM กับผู้ร่วมงานก่อน หากผู้ร่วมงานไม่เห็นด้วย การที่จะทำงานให้บรรลุผลและมีประสิทธิภาพก็ยากยิ่ง
๒. " งาน " การปฎิบัติงานนั้น อาจแยกงานได้เป็นงานหลัก (ภารกิจ) งานทั่วไป งานเอกสาร และงานให้บริการ
การเป็นหัวหน้างานจะต้องรู้จักบทบาท อำนาจหน้าที่ และนโยบายของหน่วยงาน และผู้บังคับบัญชา
เป็นหัวหน้าเล็ก ต้องรู้ลึก แต่ไม่ต้องรู้หมด ส่วนหัวหน้าใหญ่ต้องรู้หมด แต่ไม่ต้องรู้ลึก
หัวหน้างานควรรู้และมีเอกสารอยู่กับตัว เช่นอ้ตรากำลัง อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ปฏิทินการปฎิบัติงาน ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ผญาอีสานได้สอนไว้ว่า
" ตกกะเทินว่า ได้ตำแจวแล้ว สิตำไปให้มันแลก คั่นแม้นสากบ่เหี่ยน สุดด้ามแม่นบ่เซา "
หมายความว่า หากได้ปฏิบัติงานใดแล้ว จะต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ และอดทนทำให้สำเร็จ เปรียบดังตำพริก จะต้องตำจนแตกละเอียด จนกว่าสากจะสึกหรอ
( ๓ ) " เวลา " คือ ตัวกำหนดความเร่งด่วนและความสำเร็จของงานแต่ละชิ้น หัวหน้างานควรทำงานตามความลำดับความเร่งด่วน ใช้เวลาในการควบคุมการปฎิบัติงานของลูกน้อง ควรมีปฎิทินการปฏิบัติงานเป็นรายเดือน รายงวด และรายปี เพื่อสะดวกในการกำกับ ควบคุม ติดตาม และเร่งรัดผลการปฎิบัติงาน ดังผญาอีสาน ที่ว่า
" คั่นสิกินกินแต่มันฮ้อน แกงบ่อนบ่คันปาก คั่นมันเย็นจั่งสิคุ้ย เปลืองอ้อย อ่อยบ่ลง "
หมายความว่า การทำงานต้องทำให้ทันเวลาที่กำหนด หากไม่ทันเวลาก็จะเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เปรียบเหมือนการกินแกงบอน จะต้องกินกำลังร้อน หากเย็นแล้วไปทานจะทำให้ปากอักเสบ เป็นผื่น มีอาการคัน ทำให้เกิดพิษภัยแก่ตนเอง เหมือนกับการทำงาน เกิดความเสียหาย ภัยก็จะถึงตัวผู้ทำ และผู้รับผิดชอบเช่นกัน
( ๔ ) "ทรัพยากร " ได้แก่งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ อาคาร สถานที่ ตลอดจน ICT หัวหน้าจะต้องสำรวตรวจสอบว่ามีความพร้อมในการปฏิบัติงานหรือไม่ ก่อนจะลงมือทำงานใด โครงการ /แผนงานใด ดังผญาอีสานที่ว่า
" คั่นสิย่างไปหน้า ให้เหลียวหลังเบิ่งสะก่อน คันมะรึดทืดเท้า เซาถ่อนเจ้าอย่าไป "
หมายความว่าจะทำสิ่งหนึ่ง งานใด จะต้องพิจารณาไตร่ตรองถึงผลได้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้น ดูเหตุ ดูผล ดูหน้า และหลัง จึงค่อยตัดสินใจ หากจะมีความผิดผลาด เสียหายจะต้องตัดไฟแต่ต้นลม อย่าหน้ามืด
... แม้ผญาจะเป็นคติโบราณ ที่บรรพบุรุษชาวอีสานมีไว้เป็มรดกตกทอดแก่อนุชนรุ่นหลัง แต่ก็มีความทันสมัยกับกาล เวลา ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติจะนำมาประยุกต์ใช้หรือไม่เท่านั้น ...อย่าให้ของเก่าขึ้นสนิม !!!