การฟังเพลงถือเป็นศิลปะในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์เครียด ทำให้จิตแจ่มใส เบิกบาน และ มีความสุขเพลิดเพลินในสุนทรีย์ของเนื้อเพลง ทุกคนจะต้องมีแนวเพลงที่ตนชอบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากเป็นเพลงที่เราชื่นชอบ ไม่ว่าจะไปงานไหน ถ้ามีคนเชิญให้ร้องก็ต้องร้องเพลงที่เราชอบ แม้ไปที่ร้านอาหารที่มีตู้เพลงก็ต้องเรียกเพลงที่ชื่นชม เช่นกัน
ก็มีปัญหาว่า ตามร้านอาหารที่นำเพลงดัง ๆ มาให้บริการแก่แขกที่มาใช้บริการ จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ ?
กรณีดังกล่าวได้มีคดีขึ้นสู่ศาล ได้ความว่า ร้านอาหารของจำเลย ได้นำเพลง “เทพธิดาผ้าซิ่น” และเพลง “โบว์รักสีดำ” อันเป็นงานสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่บันทึกข้อมูลงานดนตรีกรรม จำนวน 2 แผ่น เข้าประกอบไว้ในตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ เพื่อให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากค่ายเพลง ดังกล่าว
ต่อมาเจ้าของค่ายเพลงแห่งหนึ่ง ได้นำเจ้าพนักงานเข้าจับกุม และกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ งานดนตรีกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
ศาลฎีกา เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ไว้ว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียง และภาพ การก่อสร้าง การจำหน่ายหรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานทีได้จัดทำขึ้น
การที่จำเลยนำแผ่นวีซีดี ซึ่งเป็นงานสิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุที่บันทึกข้อมูลงานดนตรีกรรมเพลง “เทพธิดาผ้าซิ่น” และเพลง “โบว์รักสีดำ” ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 2 แผ่น เข้าประกอบไว้ในตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ ซึ่งมีเครื่องอ่าน ข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลออกเป็นสัญญาณภาพและเสียงผ่านออกทางจอภาพและลำโพง ปรากฏเนื้อร้องและทำนองออกเผยแพร่ต่อสาธาณชนในร้านอาหารของจำเลย เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้อง
การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผุ้เสียหาย การเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนฟัง เป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดแล้ว การกระทำจึงมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ลงโทษปรับจำเลย 50.000 บาท จำเลยให้การรับสารภพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 25,000 บาท ให้คืนตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ 1 ตู้ สมุดรายการเพลง 1 เล่มแก่เจ้าของ ให้วีซีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 2 แผ่น ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ (เทียบฎีกาที่ 302/2550)
เรื่องนี้ จึงเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ หากพลาดพลั้งไป อาจต้องเสียเงิน เสียเวลาทำมาหากิน และเสียรู้อีกด้วย