Advertisement
อาการตกใจกลัวสุดขีด จะเกิดขึ้นเมื่อทราบว่า ตัวเอง ถ่ายเป็นเลือด ทำให้คิดไปต่าง ๆ นานา ว่าเป็นโรคร้ายชนิดใดกันแน่ เพราะการถ่ายเป็นเลือดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ริดสีดวงทวารหนัก ฝีบริเวณทวารหนักและที่หนักสุด ๆ เห็นจะเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ทำให้ใครหลายคนกังวลใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ!!
วันนี้เรามาไขข้อข้องใจเพื่อคลายความกังวลกัน โดย นพ.สุรพันธ์ เอื้อวัฒนามงคล ศัลยแพทย์ระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า อาการถ่ายเป็นเลือดนั้นเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวารหนักที่เกิดจากหลอดเลือดดำของผนังเหยื่อบุทวารหนักโป่งพอง เมื่อเกิดขึ้นจะพบเป็นก้อนโป่งพองโผล่ออกมาขณะอุจจาระหรืออาจทำให้เลือดออกขณะก่อนหรือหลังถ่ายอุจจาระ
สาเหตุของการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนักที่พบบ่อยมาก ที่สุดคือ อุปนิสัยการขับถ่าย และการกินอาหาร ได้แก่ ไม่ทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผักผลไม้ จึงมีอาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก หลาย ๆ วันถ่ายครั้งหนึ่ง หรือความเร่งรีบต้องกลั้นไว้ส่ง ผลให้อุจจาระแข็งต้องเบ่งอยู่นานขณะขับถ่าย ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องมาก เส้นเลือดดำถ่ายเทไม่สะดวกและโป่งพองขึ้น อาการของผู้เป็นริดสีดวงทวารหนักมักเป็นได้ทั้งภายในและภายนอกแต่ส่วนมากมักเป็นแบบภายใน เริ่มแรกมีอาการถ่ายเป็นเลือดสีแดงสด ๆ
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ พันธุกรรม, การตั้งครรภ์ เพราะมดลูกใหญ่ขึ้นกดทับหลอดเลือดดำทำให้ถ่ายเทลำบาก รวมถึงคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ เพราะปกติแล้วบริเวณทวารหนักจะมีเลือดมาเลี้ยงมากและเลือดภายในกลุ่มหลอดเลือดดำเหล่านี้จะไหลถ่ายเทไปสู่หลอดเลือดดำภายในช่องท้อง แต่ถ้าเรามีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคตับเลือดจะถ่ายเทไม่สะดวกและตีกลับมายังหลอดเลือดที่ทวารหนัก ทำให้โป่งพองเป็นริดสีดวงในที่สุด
แพทย์แบ่งอาการเป็น 4 ระยะ คือ 1.มีอาการเลือดออก หัวริดสีดวงอยู่ข้างใน 2.ถ่ายอุจจาระแล้วมีก้อนริดสีดวงฯ โผล่ออกมาเวลาเบ่งแต่หดกลับเข้าไปได้เอง 3.ถ่ายอุจจาระแล้ว มีก้อนริดสีดวงฯ โผล่ออกมา และไม่หดกลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้นิ้วมือดันกลับจึงเข้าและ 4.ริดสีดวงฯ โผล่ออกมาภายนอกไม่สามารถดันกลับไปได้ ซึ่งการรักษานั้นในระดับ 1-2 คือให้ยามีผลทำให้เส้นเลือดหดตัวหรือใช้ยางรัดให้หัวริดสีดวงฝ่อหลุดไปเองรวมทั้งแนะนำให้เปลี่ยนอุปนิสัยการกินและการขับถ่าย ส่วนระดับที่ 3-4 ถือว่าเป็นมากแล้วต้องทำการผ่าตัดแต่อาจไม่หายขาดหากเรายังมีพฤติกรรมเดิม ๆ จะทำให้กลับมาเป็นได้อีก
90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกทางทวารหนักหรือถ่ายเป็นเลือดมักคิดว่าเป็นริดสีดวงฯ แต่อีกโรคหนึ่งที่ร้ายแรงกว่าและแอบแฝงอยู่ในอาการถ่ายเป็นเลือดด้วยเช่นกันคือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดว่าการ ถ่ายเป็นเลือดนั้นต้องเป็นโรคริดสีดวงฯ และอาจรุนแรงถึงขั้นกลายเป็นมะเร็งได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่างหากจะมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงมากกว่าคนปกติ ดังนั้นอาการถ่ายเป็นเลือดจึงเป็นอันตรายร้ายแรงมากกว่าที่เราคิดไว้
นพ.สุรพันธ์ อธิบายข้อแตกต่างระหว่างมะเร็งลำไส้ใหญ่กับโรคริดสีดวงทวารหนักว่า ริดสีดวงฯ เกิดจากหลอดเลือดดำในลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากความผิดปกติของติ่งเนื้อตรงเยื่อบุผิวหนังของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากภาวะเซลล์ในร่างกายเสื่อมและได้รับสารพิษตกค้างในอาหารและติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นตั้งแต่ 1-2 ซม.ถ่ายอุจจาระ มีเลือดปนออกมา เลือดออกทางทวารหนัก อุจจาระมีขนาดก้อนเล็กลงหรือมีปริมาณน้อยและปวดถ่ายบ่อยเหมือนถ่ายไม่สุดเพราะมีก้อนเนื้อมะเร็งกีดขวางอยู่ รวมทั้งมีอาการท้องผูกปวดท้องร่วมด้วย แต่เราสามารถสังเกตที่สีของเลือดที่ถ่ายออกมาได้ว่าถ้าถ่ายเป็นมูกเลือดสีคล้ำ ๆ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
การที่มีก้อนเนื้อไปกีดขวางทางเดินอุจจาระทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้นานและถูกดูดซึมน้ำไปใช้จนแข็งทำให้ขับถ่ายลำบากต้องออกแรงเบ่ง เส้นเลือดดำจึงโป่งพองก่อให้เกิดภาวะเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักได้ ฉะนั้นหากเรามีอาการถ่ายเป็นเลือดอย่านิ่งนอนใจควรรีบไปพบแพทย์เพื่อ ทำการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคใด ร้ายแรงหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ คนที่มีอายุมาก กว่า 50 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยและทานอาหารที่มีไขมันในปริมาณสูง ซึ่งอาจเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้
ถ้าไม่อยากเสี่ยงเป็นริดสีดวงฯ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ คุณหมอสุรพันธ์ จึงแนะนำว่า ควรฝึกอุปนิสัยการถ่ายให้เป็น เวลาไม่นั่งนานหรือเบ่งอยู่นาน ๆ พยายามอย่าให้ท้องผูก รับประทานอาหารประเภทผักผลไม้และดื่ม น้ำเปล่าให้มาก ๆ และออกกำลังกายสม่ำเสมอจะพบว่าช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ที่สำคัญเมื่อ มีอาการขับถ่ายเป็นเลือดควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคว่าเป็นริดสีดวงทวารหนักแน่นอนไม่ใช่โรคร้ายแรงและถ้าเป็นริดสีดวงอย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะแผลที่เกิดขึ้นจะมีอาการติดเชื้อและถ้ามีเลือดออกมามากอาจเป็นโรคซีดเลือดจางได้ ยิ่งตรวจพบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แต่เนิ่น ๆ จะได้รักษาให้หายขาด ไม่ต้องถึงขั้นเสียชีวิต
จาก 1 ใน 3 ของผู้ที่ถ่ายเป็นเลือดมักเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากตรวจพบและทำการรักษาตั้งแต่ต้นจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ รู้แบบนี้แล้วใครที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือพฤติกรรมอย่างที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเสียก่อนจะสายเกินไป.
สรรหามาบอก
- ศูนย์เยาวชนลุมพินี สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ โรงพยาบาลกรุงเทพ ขอเชิญทุกท่านร่วมกิจกรรม “รวมพลคนกรุงสุขภาพดี” ปีที่ 3 รับฟังบรรยายเรื่อง “ระวัง...นั่งนาน ๆ ถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงถามหา” โดย นายแพทย์สุรพันธ์ เอื้อวัฒนามงคล ศัลยแพทย์ระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ ติดตามเคล็ดลับการดูแลสุขภาพจากสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ พร้อมรับบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น (เฉพาะ 100 ท่านแรกที่ลงทะเบียนหน้างาน) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2552 เวลา 06.00-09.00 น. ณ ด้านหน้าอาคารพลเมืองอาวุโส สวนลุมพินี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1719
- โรงพยาบาลสมิติเวช ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงาน “Family Health Fair ปี 2 ฉลอง 30 ปีของสมิติเวช” ในวันที่ 12-14 มิถุนายน 2552 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โซนลิฟต์แก้ว ภายในงานพบกิจกรรม Health talk เคล็ดลับสุขภาพดี, คุณแม่มือใหม่ต้องการปรึกษาเรื่องการดูแลลูกรัก, รู้ทันโรค ป้องกันก่อนเป็นกับหลากหลายโปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับทุกคนในครอบครัว พร้อมตรวจสุขภาพผิวหน้า ฟรี! สนใจโทร. 0-2711-8181
- คลินิกกายภาพบำบัดดีสปายน์ ไคโรแพรคติก ขอเชิญผู้สนใจรับฟังบรรยาย “วิธีการรักษาโครงสร้างร่างกายและกระดูกสันหลัง” พร้อมให้ความรู้และการสาธิต ในวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2552 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไปที่คลินิก อาคาร ฟิฟตี้-ฟิฟท์ พลาซ่า ซอยทองหล่อ 2 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 0-2381-4336.
บริโภคน้ำตาลอย่างไรห่างไกลโรค
น้ำตาล เป็นสารให้ความหวานที่เราคุ้นลิ้นกันเป็นอย่างดี ใช้เพื่อการปรุงแต่งรสชาติอาหารให้หอมหวานกลมกล่อมถูกปาก แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ความหวานที่เราติดอกติดใจกันนั้นแม้จะมีประโยชน์แต่ก็มีโทษต่อร่างกายมหาศาล
น้ำตาลทรายขาวที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำมาจากอ้อย มีประโยชน์ต่อ ร่างกายในการให้พลังงาน ซึ่งพลังงานนี้เราได้รับจากคาร์โบไฮเดรตในการรับประทานข้าว แป้งหรือไขมันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต่อร่างกาย แต่รับประทานกันเพราะความพึงพอใจ กินแล้วมีความสุข สดชื่น ถือเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของน้ำตาล ซึ่งหากทานมากเกินไปอาจเกิดโทษต่อร่างกายได้
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละวัน ควรใช้น้ำตาลในการปรุงแต่งรสชาติอาหารไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด ตามข้อปฏิบัติการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีจึงแนะนำว่า ถ้าหากเป็นผู้ใหญ่ควรรับประทานไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ส่วนเด็กเล็กไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา โดยเราสามารถคำนวณปริมาณน้ำตาลได้ในการบริโภคของเราได้เองด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
ปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชามี 4 กรัม ให้เราอ่านฉลากโภชนาการ เช่น ถ้าฉลากระบุน้ำตาล 12 กรัม เท่ากับมีน้ำตาล 3 ช้อนชา แต่อาหารบางชนิดไม่มีข้อมูลโภชนาการ บอกเป็นค่าร้อยละ เช่น น้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ถ้าระบุว่ามีน้ำตาล 10 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า 100 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 10 กรัม เมื่อดื่มเครื่องดื่ม 1 แก้ว (200 มล.) มีน้ำตาล 20 กรัม หรือเท่ากับ 5 ช้อนชา แค่นี้ก็สามารถคำนวณน้ำตาลในแต่ละวันที่เราจะรับประทานได้แล้ว ปัจจุบันพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 23 ช้อนชาต่อวัน (จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2550 คนไทยบริโภค น้ำตาลเฉลี่ย ประมาณ 33.2 กิโลกรัม
ต่อคนต่อปี) ถือเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำถึงเกือบ 4 เท่า
ถ้าเรากินน้ำตาลมากเกินความจำเป็นก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาคือฟันผุ โรคอ้วน และเมื่อทานมากขึ้นจะเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้เมื่อน้ำตาลเปลี่ยนเป็นไขมันไปสะสมที่เส้นเลือดเกิดอุดตัน เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจและสมองขาดเลือด ทำให้หัวใจวาย เป็นอัมพาต และอาจเกิดความดันโลหิตสูงด้วย ซึ่งโรคที่กล่าวมานี้ไม่ใช่แค่บริโภคน้ำตาลมากเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานและไขมันสูงด้วย เช่น อาหารที่หวานจัด มันจัด เค็มจัด และไม่ออกกำลังกาย
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงน้ำตาลหรือลดจำนวนน้ำตาลลง อาจารย์แนะนำว่า ควรดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม ไม่เติมน้ำตาลในอาหาร จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลได้มากทีเดียว สำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการรับประทานหวานได้หรือเป็นโรคเบาหวาน อาจใช้น้ำตาลเทียมแทนเนื่องจากมีพลังงานน้อยแต่ให้ความหวานใกล้เคียงน้ำตาล ควรรับประทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น เช่น ฝรั่ง มะละกอ ส้ม หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานมาก ๆ เช่น ทุเรียน ขนุน เหนือสิ่งอื่นใดเราควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอและหลากหลาย หมั่นดูแลน้ำหนักตัวและออกกำลังกายเป็นประจำ แค่นี้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน.
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Advertisement
เปิดอ่าน 15,847 ครั้ง เปิดอ่าน 13,263 ครั้ง เปิดอ่าน 19,057 ครั้ง เปิดอ่าน 28,880 ครั้ง เปิดอ่าน 25,912 ครั้ง เปิดอ่าน 19,208 ครั้ง เปิดอ่าน 21,815 ครั้ง เปิดอ่าน 63,971 ครั้ง เปิดอ่าน 16,512 ครั้ง เปิดอ่าน 51,921 ครั้ง เปิดอ่าน 29,372 ครั้ง เปิดอ่าน 82,833 ครั้ง เปิดอ่าน 29,073 ครั้ง เปิดอ่าน 12,499 ครั้ง เปิดอ่าน 99,083 ครั้ง เปิดอ่าน 27,733 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 25,363 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 15,822 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 101,541 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 21,815 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 28,369 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,673 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 29,372 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 33,664 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,684 ครั้ง |
เปิดอ่าน 56,584 ครั้ง |
เปิดอ่าน 25,378 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,017 ครั้ง |
|
|