องค์ความรู้หมอพื้นบ้านรักษากระดูกที่กำลังจะถูกลืมเลือน ทำให้นักศึกษาปริญญาโท สาขาหลักสูตรและการสอน รุ่นที่ 6/2551 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์ชุมพร ได้รวบรวมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชุมพร ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอท่าแซะและอำเภอปะทิว และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวการเก็บข้อมูล และข้อค้นพบองค์ความรู้ด้านหมอกระดูกพื้นบ้านที่มีความหมายยิ่งนัก…
สืบค้นองค์ความรู้เชิงลึก
การศึกษาข้อมูลเชิงลึกหมอกระดูกพื้นบ้านเป็นกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาได้รวบรวมข้อมูลการรักษาจากตัวหมอที่ทำการรักษาและจากผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาแล้ว พอสรุปได้ดังนี้
หมอพื้นบ้านรักษากระดูก จำนวน 4 คน ใน 3 อำเภอของจังหวัดชุมพร พบว่าเป็น เพศชาย ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากบิดา ซึ่งบิดาก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย สืบทอดกันมาเป็นทอด ๆ จากการศึกษาสามารถรวบรวมวิธีการของหมอพื้นบ้านรักษากระดูก
ตามประเภทของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วย ขาหัก แขนหลุด ไหล่หลุด และกระดูกส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่หักหรือหลุด จากอุบัติเหตุ ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยที่มารักษาจะเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลมาแล้วแต่ยังไม่หาย จึงมาให้หมอกระดูกพื้นบ้านรักษาต่อ แต่หากคนไข้มีแผลก็ต้องให้รักษาแผลจากโรงพยาบาลให้หายเสียก่อนแล้วจึงค่อยรักษากระดูก
วิธีการรักษา หมอกระดูกพื้นบ้านจะใช้วิธีการจับ คลำ สัมผัสเบา ๆ ก็จะรู้ว่ากระดูกหักส่วนไหนของร่างกายบ้าง เช่น แขนหัก ขาหัก ข้อมือ นิ้ว สะโพกหลุด และไหปลาร้า เป็นต้น กรณีกระดูกหักจะใช้เฝือกไม้ในการพันมัดไว้และใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา น้ำมันโครม และน้ำมันหมี ที่ทำขึ้นมาเองทาและนวด กรณีกระดูกไหปลาร้าหัก หมอจะจัดกระดูกพันรักแร้เต้าไปที่ไหล่และพันไว้ไม่ให้กระดูกเกยกัน เพราะถ้ากระดูกเกยกันจะทำให้เจ็บและรักษาไม่หาย พันเฝือกไว้ประมาณ 3 วัน จะแกะออกมาดูว่ากระดูกติดหรือยัง เพราะกระดูกสามารถเคลื่อนได้ หากกระดูกเคลื่อนต้องจัดกระดูกใหม่ แต่ถ้ากระดูกแตกมาก ต้องไปให้หมอแผนปัจจุบันในโรงพยาบาลรักษา
ระยะเวลาในการรักษา มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ระยะเวลาในการรักษาไม่เท่ากัน เช่น
1. อายุ ผู้ป่วยที่มีอายุมาก การรักษาจะหายช้ากว่าคนที่มีอายุน้อย หรือเด็ก
2. การใช้งาน กระดูกส่วนใดที่ต้องใช้งานเป็นประจำ เช่น กระดูกแขน ขา เพราะต้องมีการเคลื่อนไหว จะใช้เวลา 20 – 30 วัน
3. ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาต้องอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่ขยับเขยื้อนมากนัก รักษาประมาณ 15 วัน
4. กระดูกสะโพกหลุด รักษาประมาณ 10 วัน ส่วนมากสาเหตุการหลุดก็มาจาก การลื่นล้ม ที่มีการกระแทกอย่างรุนแรง
อาหารต้องห้ามหรืออาหารแสลง ได้แก่ อาหารประเภทหมักดอง เช่น ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง เป็นต้น ไข่ กล้วยสุก อาหารต้องห้ามเหล่านี้หากรับประทานเข้าไปจำทำให้มีอาการบวม ปวด และเจ็บบริเวณที่ทำการรักษา
ผลของการรักษา จากการสอบถามผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษา ผลปรากฏว่าหายทุกคน แต่จะช้าหรือเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
การยกครูในการรักษา จำนวนเงินที่ใช้ในการยกครูเล็กน้อย หมอแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เช่น 25 บาท หรือ 6 สลึง บางคนไม่เรียกร้องตามแต่จะให้ เงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ที่นอกเหนือจากการทำบุญแล้ว และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับครูบาอาจารย์
เชื่อมโยงสู่สิ่งดีๆ ในชุมชน
จากองค์ความรู้เชิงลึกของหมอกระดูกพื้นบ้านทั้ง 4 คน จะเห็นว่าหมอกระดูกพื้นบ้านจะมีความสำคัญกับชุมชนอย่างมากมายนอกจากความสามารถในการรักษาโรคแล้วหมอกระดูกพื้นบ้านยังเป็นศูนย์รวมสิ่งดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอีกมากมายหลายอย่าง ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในวิถีของการดูแลรักษาโรค นอกจากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้วยังสามารถเชื่อมโยง ไ ปสู่การสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้รู้จักรักษาสิ่งดีๆ ไว้นานเท่านานในหลายๆ ด้านต่อไปนี้
1. ด้านความเอื้ออาทร การรักษาโรคโดยหมอพื้นบ้านจะต้องยึดหลักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่เกิดทุกข์และช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์โดยไม่คิดค่าตอบแทนการรักษาผู้ป่วย จะต้องทำด้วยความเต็มใจ ไม่รังเกียจหรือแบ่งชั้นผู้ป่วยเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนรู้จักการเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
2.ด้านศาสนาหมอกระดูกพื้นบ้านเมื่อรักษาผู้ป่วยจนหายเป็นปกติแล้วจะเน้นให้ผู้ป่วย ไปทำบุญที่วัด เพื่อรำลึกถึงครูบาหมออาจารย์
3. ด้านวัฒนธรรม การทำพิธีไหว้ครูหมออาจารย์หมอพื้นบ้านจะต้องยึดถือปฏิบัติเป็น
ทุกปี ส่วนใหญ่หมอทุกคนจะทำพิธีไหว้ครูบาอาจารย์ในช่วงเดือน 6 ข้างขึ้น โดยจะทำพิธีร่วมกับผู้ป่วยที่เคยใช้บริการแล้วหายจากอาการป่วย ไม่ได้มาหมอจะขอขมาแทนให้
4.ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมอพื้นบ้านเมื่อรักษาผู้ป่วยก็จะถ่ายทอดความรู้บางส่วนในการรักษาให้ผู้ป่วยและจะแนะนำไม่ให้ผู้ป่วยไปทำลายยาสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนโดยจะพูดให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าของสมุนไพร
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าหมอกระดูกพื้นบ้านที่ควรค่าแก่การดำรงไว้ แต่ก็พบว่ายังมีปัญหาในหลายด้าน ได้แก่ ผู้ป่วยมีมากหมอให้บริการไม่ทัน หมอมีอายุมากไม่ค่อยมีแรงในการให้บริการ หมอมีเวลาให้คนไข้น้อยในแต่ละวันเพราะต้องทำอาชีพอื่นด้วย ค่าบริการที่ได้จากคนไข้ไม่สามารถเลี้ยงตัวหมอได้ ขาดหมอใหม่ๆ ที่ขึ้นมาแทนที่หมอเก่า ซึ่งคนในชุมชนต้องร่วมแรงร่วมใจกันสืบทอดให้คงอยู่คู่ชุมชนอย่างสอดคล้องกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเป็นสุขภาวะที่ดีตลอดไป
ทีมงานนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
สาขาหลักสูตรและการสอน ศูนย์ชุมพร รุ่นที่ 6/2551
นางบุษบา แสนล้ำ
นางสคราญ วิเศษสมบัติ
นางธัญญลักษณ์ ทองหยาด
นางศิริพร ตันยุชน
นางสาวชนิฎศา เพชรแก้ว
นางสาวประนอม เตียงทอง
นางมณีพรรณ เจริญจิต