ชื่อเรื่อง การใช้และการพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิต
ของวัยรุ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาสุขศึกษา)
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้รายงาน นางรชยา พจนจินดา กอร์ตาซา
ส่วนราชการ โรงเรียนบุญวัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 ปีที่พิมพ์ 2552
บทคัดย่อ
การจัดการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับวัยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง ด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และการปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่การจัดการเรียนการสอนที่ผ่านครูใช้การสอนแบบบรรยาย ครูขาดการใช้สื่อ และนวัตกรรมที่ทันสมัย บทเรียนสำเร็จรูปถือเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ตอบสนองความแตกต่างของแต่ละบุคคล กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาศักยภาพทางการคิดวิเคราะห์และการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อการมีวิถีชีวิตที่มีความสุขในสังคมปัจจุบัน ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้จึงมีความมุ่งหมายเพื่อ 1.) พัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาสุขศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 90/90 2.) หาดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น 3.) เปรียบเทียบความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น และ 4.) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบุญวัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 56 คน ได้มาโดยวิธีสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา จำนวน 12 เล่ม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินคุณภาพอยู่ในระดับมาก แบบทดสอบเป็นแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาสุขศึกษา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 40 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ 0.28 ถึง 0.76 ค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.31 ถึง 0.82 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.84 ฉบับที่ 2 แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ จำนวน 40 ข้อ มีค่าความยากตั้งแต่ 0.29 ถึง 0.70 และค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.35 ถึง 0.81 และ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.87 และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.24 ถึง 0.78 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.90 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานใช้ t –test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาสุขศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 94.62/96.25 ซึ่งสูงกว่างเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
2. ดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาสุขศึกษา) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเท่ากับ 0.8853 ซึ่งแสดงว่านักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา มีความก้าวหน้าทางการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 88.53
3. ผลการเปรียบเทียบความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนที่เรียนรู้โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น นักเรียนมีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา เรื่อง ทักษะการดำรงชีวิตของวัยรุ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา (วิชาสุขศึกษา) โดยรวมและเป็นรายด้านทุกด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด