วัฒนธรรมของชาวอีสาน มีการสืบทอดกันมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา ศาสนา สังคม และประเพณีท้องถิ่น จะมีเอกลัษณ์เฉพาะตัว จะมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละท้องถิ่น แต่จุดหมายหรือเจตนารมย์ในการทำมีเป้าหมายอันเดียวกัน
ในด้านภาษาก็เช่นกันก็จะมีภาษาประจำท้องถิ่น สำเนียงแต่ละท้องถิ่นอาจจะไม่เหมือนกัน แต่คนอีสานด้วยกันก็สามารถฟังเข้าใจได้ และสามารถบอกได้ว่ามาจากจังหวัดใดของอีสาน เพื่อเป็นการ "สืบฮอยตา วาดฮอยปู่ " จึงนำมาผญามาเล่า เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ตระหนักในคุณค่าดังกล่าว(ผญา มรดกกอีสาน ๓: อ. สวิง บุญเจิม )
" ผญา " เป็นคำคล้องจองที่นักปราชฌ์โบราณอีสานคิดขึ้น ถ้าใช้เพื่อเกี้ยวพาราสีระหว่างชายและหญิง เรียกว่า " ผญารัก "
คำพูดที่สำหรับเป็นคำสอน เป็นคติเตือนใจ มีธรรมสอดแทรก เพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฎิบัติ เรียกว่า " ผญาภาษิต "
คำพูดที่คล้องจองกัน ฟังแล้วต้องใช้ปัญญาในการขบคิด เพื่อทดสอบปัญญา หรือเชาว์ของกันและกัน เรียกว่า " ผญาปริศนา "
ผญาภาษิต ที่เป็นคติเตือนใจ และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฎิบัติและดำรงตนในสังคม เพื่อความสงบ ความร่มเย็น และ ความก้าวหน้าของชีวิต เช่น
๐ แม่นสิมีความฮู้เต็มพุงเพียงปาก กะตามถ่อน คันแม่นสอนตนเองบ่ได้ ไผสิย่องว่าดี ๐
หมายความว่า แม้จะมีความรู้มากมาย หากไม่สอนตนเอง หรือ ประพฤติตนไม่ดี ดั่งที่ได้เรียนรู้มา จะไม่มีใครยกย่องสรรเสริญ เข้าลักษณะ " ความรู้ คู่คุณธรรม "
๐ แม่นว่าหญิงฮูปฮ้ายครองวัตรหากพางาม คันแม่นซายฮูปทราม วิชาหากพาฮุง ๐
หมายความว่า ผู้หญิงแม้จะไม่สวยงาม แต่หากมีความประพฤตดี มีคุณธรรม ก็จะทำให้เป็นคนสวย เป็นคนดีได้ ผู้ชายก็เช่นกัน หากมีวิชาความรู้ดี มีความสามารถ ก็สามารถจะสร้างชีวิต ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้
๐ คันเฮาทำความดีแล้ว ไผสิหยันกะตามช่าง คันเฮาเฮ็ดแม่นแล้ว สิหยันหย้อกะช่างไผ ๐
หมายความว่าในการทำความดี หากเห็นว่าดีแล้ว จึงลงมือทำ ก็ไม่ต้องไปคำนึงว่าคนอื่นจะพูดอย่างไร ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องชอบธรรม ถูกกฎหมาย ศีลธรรม และประเพณีแล้ว ก็ควรมุ่งมั่นกระทำความดีนั้นต่อไป แม้จะมีปัญหา และอุปสรรค