การทำพินัยกรรมในส่วนสินสมรสเป็นการจำหน่ายสินสมรสอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อสินสมรส เมื่อคู่สมรสผู้จำหน่ายหรือทำพินัยกรรมนั้นถึงแก่ความตาย
มีปัญหาว่า คู่สมรสจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสินสมรสของอีกฝ่ายให้กับคนอื่นได้หรือไม่ ?
ตามกฎหมายได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการทำพินัยกรรมในส่วนสินสมรสไว้ว่า...สามีหรือภริยาแต่ละฝ่าย จะทำพินัยกรรมจำหน่ายสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนไม่ได้ หากขืนทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่น พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับถึงสินสมรสที่เกินส่วนนั้น คงมีผลเฉพาะสินสมรสส่วนที่เป็นของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น...(มาตรา ๑๔๘๑)
ส่วนผู้ที่มีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านว่าสามีหรือภริยาทำพินัยกรรมเกินส่วนของตนเองนั้น จะมีได้เฉพาะภริยาหรือสามีอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น บุคคลอื่นแม้จะเป็นบุตรก็ไม่มีสิทธิที่จะโต้แย้งได้
บางท่านอาจสงสัยว่า... หากภริยาหรือสามีเกิดใจดีขึ้นมา และ ไปให้ความยินยอมในการทำพินัยกรรมดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมายหรือไม่ ?
เห็นว่า แม้สามีหรือภริยาจะไปให้ความยินยอมให้ฝ่ายหนึ่งทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของตนไปให้คนอื่น การให้ความยินยอมดังกล่าวก็ไม่มีผล เพราะกฎหมายบังคับไว้โดยเด็ดขาด(มาตรา ๑๔๘๑)
ผลของการทำพินัยกรรมดังกล่าว สำหรับพินัยกรรมที่ทำไปนั้น จะไม่ทำให้เสียไปทั้งหมดทั้งฉบับ พินัยกรรมคงมีผลใช้บังคับได้เฉพาะสินสมรสส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น
มีปัญหาว่า ถ้ามีกรณีทำพินัยกรรมยกสินสมรสในส่วนของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปให้คนอื่น คู่สมรสอีกฝ่ายจะแก้ปัญหาอย่างไร ?
ปัญหาดังกล่าวหากมีการทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินส่วนของตน คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าพินัยกรรมนั้น ไม่มีผลผูกพันสินสมรสที่เป็นส่วนของตนได้