Advertisement
งานศิลปวัฒนธรรม ใน"สมเด็จพระเทพฯ"
|
มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเฉลิมพระเกียรติ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานศิลปะและวัฒนธรรม" เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปีมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีพ.ศ.2551 กำหนดจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 4-27 มิ.ย.2552 ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร และมีการแสดงปาฐกถาในวันที่ 4 มิ.ย. และวันที่ 22 มิ.ย.
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 4 มิ.ย. เวลา 10.30 น.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา 2522 และทรงเป็นนักศึกษาเก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2536 นอกเหนือจากทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ หลายสาขา ทั้งที่ทรงเรียนมาโดยตรงและที่ทรงสนพระทัยศึกษาใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม
พระองค์ยังทรงสนพระทัยและมีพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ ทรงสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งงานด้านจิตรกรรม ศิลปกรรมแนวสื่อประสม ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา และภาพการ์ตูนที่ทรงสร้างสรรค์ไว้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แจ้งในวงการศิลปะของชาติถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์
|
พระราชกรณียกิจทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยศิลปากร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรมาโดยตลอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการศิลปะและงานประชุมทางด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งทรงงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ในคราวเปิดการแสดงนิทรรศการศิลปะเกือบทุกงานและพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัย เมื่อครั้งที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดทำโครงการวิจัยผลิตสีคุณภาพ ราคาประหยัดและปลอดมลพิษสำหรับงานศิลปะขึ้นระหว่างปีพ.ศ.2544-2545 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้วิจัยเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสีที่ผลิตขึ้นให้ทรงทดลองวาดภาพฝีพระหัตถ์ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสีอันเป็นมงคลนามว่า "สีศิลปากรประดิษฐ์" และ "สีวิจิตรรงค์"
ทรงพระปรีชาสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมทุกสาขา ทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญในศิลปไทย ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทรงเป็นเอตทัคคะในทางดนตรีไทยทุกชนิด ทรงเป็นรัตนกวีแห่งยุคสยาม ทรงงานพระราชนิพนธ์ทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก ทรงสนพระทัยในการทรงงานด้านศิลปะในหลายสาขา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยศิลปากรและวงการศิลปะของชาติ ในฐานะที่ทรงเป็น "เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย" และ "วิศิษฎศิลปิน"
|
การจัดงานในครั้งนี้จะมีรูปแบบการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ แสดงผลงานฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงงานศิลปะทั้งประเภทจิตรกรรม ภาพพิมพ์ และเครื่องปั้นดินเผา ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการศิลปะเกือบทุกงานและพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ยืมผลงานฝีพระหัตถ์ที่ทรงงานไว้ให้แก่หน่วยงานนั้นในโอกาสต่างๆ อัญเชิญเข้าร่วมแสดง พร้อมกับผลงานที่พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม 21 ชิ้น ภาพพิมพ์ 5 ชิ้น และผลงานเครื่องปั้นดินเผา 29 ชิ้น ผลงานส่วนใหญ่ยังมิได้เคยนำมารวบรวมจัดแสดงเผยแพร่ต่อสาธารณชนมาก่อน
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการพระราชกรณียกิจด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ทรงพระปรีชาสามารถในแขนงต่างๆ อาทิ ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาและวรรณกรรมและยังมีการจัดแสดงปาฐกถาและการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ โดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ และมีการจัดทำหนังสือวิชาการประกอบการแสดงปาฐกถา อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครื่องปั้นดินเผา บรรยายเรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผา รศ.พิษณุ ศุภนิมิตร อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ บรรยายเรื่องทอสีเทียบฝันรังสรรค์วิศิษฏศิลป์ บทวิเคราะห์ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ผศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ บรรยายเรื่อง "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี:พระผู้ทรงเป็นต้นแบบบัณฑิตที่พึงประสงค์" ผศ.มยุรี วีระประเสริฐ และรศ.กรรณิการ์ วิมลเกษม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี บรรยายเรื่อง "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร" และ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมธีแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี"
นอกจากนี้ยังจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วยบทความของผู้แสดงปาฐกถาทั้ง 4 ด้าน และภาพผลงานฝีพระหัตถ์ทุกชิ้นทั้งด้านจิตรกรรม ภาพพิมพ์ และเครื่องปั้นดินเผา จัดพิมพ์สี่สี หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าซึ่งรวบรวมข้อมูลและเป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมไปถึงการจัดทำวีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อจัดฉายให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ความเข้าใจโดยผู้ทรงคุณวุฒิตลอดการจัดแสดงนิทรรศการ
www.khaosod.co.th
วันที่ 3 มิ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,175 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,152 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,160 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,150 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,132 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 9,537 ครั้ง |
เปิดอ่าน 40,721 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,788 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,713 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,922 ครั้ง |
|
|